top of page

หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q4 2021

เป็นประจำแทบทุกสัปดาห์ ผมจะแนะนำหนังสือที่อ่านแล้วชอบไว้ในแฟนเพจ boy's thought อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบของ facebook ทำให้การสืบค้นโพสต์เก่า ๆ ทำได้ยาก ผมจึงนำมารวบรวมไว้ในเว็บไซต์ เผื่อว่าใครจะลองไปหามาอ่านบ้าง โดยครั้งนี้จะเป็นหนังสือที่ผมอ่านในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2021 ครับ มาเริ่มกันเลย (ส่วนหนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q1 2021 อ่านย้อนหลัง กด ที่นี่ หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q2 2021 อ่านย้อนหลัง กด ที่นี่ หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q3 2021 อ่านย้อนหลัง กด ที่นี่)



1.เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต (Meditations)

เล่มนี้เพิ่งได้อ่านครับ หลังได้ยินเสียงร่ำลือว่าดีมาก เป็นหนังสือโปรดของใครหลายคน เป็นหนังสือหายากอยู่ช่วงนึง แต่ปัจจุบันหาซื้อไม่ยากแล้วครับ


ความโด่งดังของหนังสือเล่มนี้มีหลายเหตุผล ว่ากันตั้งแต่ หนึ่ง ชื่อหนังสือ Meditations ที่ชวนให้เข้าใจว่าเป็นการทำสมาธิ (ซึ่งไม่ใช่ นี่เป็นบันทึกความคิดครับ) สอง เป็นบันทึกการครุ่นคิดถึงชีวิตของจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมัน นามว่า "มาร์คุส ออเรลิอุส" โดยเขียนไว้ในช่วงล้มป่วย เมื่อต้องเฝ้าทัพในป่าเขาลำเนาไพร และ สาม เป็นบันทึกที่เขียนให้ตัวเองอ่าน ไม่ได้หวังจะเขียนไว้สอนใคร และถึงตอนนี้บันทึกนี้ก็มีอายุนับพันปีแล้ว ...ทั้งหมดทั้งปวง จึงทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นตำนาน บุคคลมีชื่อเสียงจากทั่วโลกต่างยกย่อง หยิบมาอ่านและอ้างถึง


อย่างไรก็ตาม คงเป็นด้วยความคาดหวังที่สูงเกินไปของผม เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ จนจบ ผมพบว่าใจความในบันทึกนั้นไม่ได้มีอะไรใหม่ (แน่นอน ก็หนังสืออายุเป็นพันปีแล้ว) แต่ก็เป็นบรรพบุรุษทางความคิดของหนังสือปรัชญาชีวิตหลาย ๆ เล่มที่เราคงเคยได้พบผ่านอ่านเห็นมาแล้ว อีกทั้งยังมีหัวข้อที่ซ้ำไปมา ว่าด้วยเรื่องการละตัวตน ไม่หลงระเริงในลาภยศสรรเสริญ สรรพสิ่งรวมเป็นหนึ่ง อยู่กับปัจจุบัน ใหญ่แค่ไหนวันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป


ถ้าเปรียบเป็นยุคปัจจุบัน บันทึกเล่มนี้ก็คือสเตตัสเกือบ 500 สเตตัสที่ตั้งค่า only me เพราะอยากระบายความคิด (ซึ่งแน่นอนว่าคนเราจะคิดวนเวียนไปมาไม่กี่เรื่อง) เพียงแต่ในเวลาต่อมา มีคนนำมาเผยแพร่หลังจากเจ้าของสเตตัสจากไป


เขียนมาทั้งหมดแบบนี้ ใช่ว่าหนังสือจะไม่ดีนะครับ ผมคิดว่านี่คือหนังสือที่ไม่ได้ออกแบบให้อ่านรวดเดียวจบ แต่ควรหยิบมาอ่านเรื่อย ๆ อ่านซ้ำได้อีก และควร "อ่านออกเสียงช้า ๆ" เพื่อพิจารณาความคิดเหล่านี้ ซึ่งเราจะรู้ซึ้งขึ้น เมื่อประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น


มีหลายประโยคที่ผมอ่านแล้วชอบ ขอยกมาบางประโยค (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)


  • ทุกสิ่งที่งามนั้น งามโดยตัวมันเอง คำชื่นชมหาได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน ดังนี้จึงไม่มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงตามคำชม

  • ชีวิตคนเราก็ขนาดกระจ้อยร่อยนัก แค่ซีกมุมหนึ่งของโลกที่อาศัย แม้แต่ชื่อเสียงระบือนานก็น้อยนิดเดียวขี้ปากบอกต่อกันไปในหมู่มรรตรัยผู้อ่อนด้อยที่ล้วนเร่งรุดสู่ความตาย พวกนี้หาได้มีใครรู้จักตัวเขาเอง

  • ส่วนใหญ่คำพูดและการกระทำของเราไม่จำเป็น กำจัดเสีย เวลาก็จะมีมากขึ้น ความขุ่นข้องก็จะลดลง เช่นนี้ทุกครา จงเตือนตนว่านี่เกินจำเป็นหรือไม่

  • ให้ใจสามารถแปรอุปสรรคให้สอดคล้องกับการกระทำสู่เป้าหมาย สิ่งกีดขวางกลายเป็นสิ่งหนุนเสริม สิ่งกางกั้นวิถีกลายเป็นวิถีไปเอง

  • “เจ้าจะขึ้นไปเรียกความนิยมบนเวทีหรือ ไม่รู้หรือว่าอะไรเป็นอะไร” “ข้ารู้ แต่ผู้คนเขานิยมเยี่ยงนี้” “เช่นนี้เจ้าก็เป็นคนเขลาไปด้วยกับเขาอีกคน”

  • แม้ว่าเจ้าจะใจสลายลง ผู้คนเขาก็จะทำไปอย่างที่เคย

  • สิ่งที่คนเขาทำนั้นไม่ได้รบกวนจิตใจเราดอก การกระทำของเขาก็อยู่ในกำกับของเขาเอง มีแต่อคติของเรานั้นที่รบกวน


สุดท้าย ที่ต้องชื่นชม คือสำนวนการแปลของคุณปกรณ์ เลิศเสถียรชัย ทำออกมาดีมาก ภาษาไม่เก่าเกินจนอ่านเข้าใจยาก แต่ก็งดงามมากจนซาบซึ้งถึงปรัชญาความคิด


Meditations เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด ราคาปก 280 บาท


2.กับดักคนฉลาด (Intelligence Trap)

นับเป็นหนังสือที่แปลกเล่มนึง ผมอ่านรอบแรก รู้สึกเฉย ๆ แต่โชคดีมีเหตุให้จำเป็นต้องอ่านซ้ำอีกรอบ ปรากฏว่ารอบนี้ชอบมาก ได้ความรู้ดีมาก ๆ ใครชอบหนังสือฮาวทูสไตล์ฝรั่ง ๆ ประมาณ Malcolm Gladwell แต่ลีลาไม่เยอะเท่า เข้าประเด็นไวกว่า น่าจะชอบเล่มนี้


หลักใหญ่ใจความของเล่มนี้ เขาพูดถึงประเด็นที่ว่า "ทำไมคนฉลาดจึงทำพลาดได้แบบโง่ ๆ?" แบบที่เราคิดไม่ถึง แบบที่เรานึกไม่ออกว่ามันเป็นไปได้ไง คนฉลาดแบบนั้นทำไมเขาตัดสินใจแบบนี้นะ เหลือเชื่อจริง ๆ พวกเขาขาดทักษะเรื่องอะไรกัน และจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้ตัดสินใจพลาดแบบนั้น เพราะคนฉลาดที่ตัดสินใจพลาดนั้นอาจเป็นคนในทีมของเรา ลูกน้องของเรา เจ้านายของเรา หรือแม้แต่ตัวเราเอง


ผมชอบที่ผู้เขียนวางโครงสร้างของเนื้อหาไว้ได้ดี เนื้อหาแบ่งเป็น 4 พาร์ทครับ เริ่มจาก 1.ยิ่งฉลาด ยิ่งมีโอกาสโง่เขลา 2.เครื่องมือที่ช่วยให้ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล 3.เรียนรู้อย่างไรให้เข้าใจลึกซึ้งและจดจำได้นาน 4.การรับมือกับปัญหาเมื่อคนฉลาดมารวมตัวกัน แต่ตัดสินใจได้งี่เง่ามาก


ผู้เขียนค่อย ๆ เล่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการวัดความฉลาดของมนุษย์ (วัดไอคิว) ซึ่งเป็นแค่การวัดความฉลาดทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว มีอีกแนวคิดนึงที่วัดเรื่องความฉลาดได้ครอบคลุมกว่า เพราะวัดความฉลาดถึง 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการวิเคราะห์ (analytical) ด้านการสร้างสรรค์ (creative) และด้านการปฏิบัติ (practical) นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนที่ดูฉลาด เป็นอัจฉริยะในการเรียน กลับไม่ประสบความสำเร็จในหลายอย่าง หรือแม้กระทั่งตัดสินใจผิดพลาดอย่างเหลือเชื่อ


เล่าแบบสั้น ๆ ผู้เขียนบอกเราว่า สาเหตุที่คนฉลาดพลาดนั้นมี 3 อย่างคือ 1.เก่งแต่วิชาการ แต่ขาดความฉลาดด้านอื่น 2.มีอคติในการตัดสินใจตามสัญชาตญาณ และ 3.ไม่อยากเสียหน้า จึงใช้ความฉลาดหาเหตุผลมาปกป้องตัวเอง


ดังนั้นเราจึงควรมี 2 คุณสมบัติสำคัญเพื่อช่วยลดอคติในการตัดสินใจ ได้แก่ intelligence humble ซึ่งหมายถึงการรู้จักถ่อมตัว รู้ว่าเรานั้นมีความรู้จำกัด และมักตัดสินใจแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ และอีกหนึ่งคุณสมบัติก็คือ open-minded thinking หรือการคิดแบบเปิดใจ ซึ่งหมายถึงเรื่องเดียวกันนั้นมีคำตอบอื่น ๆ อีกมากมาย และไม่ใช่มุมมองเราเท่านั้นที่ถูกต้อง


ส่วนเครื่องมือที่ช่วยให้ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล ผู้เขียนเสนอไว้ 2 อันคือ วิธีคิดของ เบนจามิน แฟรงคลิน มีชื่อว่า Moral Algebra (การชั่งน้ำหนักทางศีลธรรม) และ Solomon’s Paradox หรือ ความย้อนแย้งของกษัตริย์โซโลมอนแห่งอิสราเอล ที่ได้รับพรจากพระเจ้าให้มีปัญญาตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ของคนอื่นได้ทุกเรื่อง แต่กลับตัดสินใจเรื่องของตัวเองไม่ดีเลยสักอย่าง เราจึงต้องทำเสมือนว่าเราถอดตัวเองออกมามองตัวเองอีกที แล้วลองคิดว่าถ้าจะต้องให้คำแนะนำกับคนคนนี้ เราจะแนะนำเขาว่าอย่างไร วิธีนี้เรียกว่า Self Distancing ครับ


จริง ๆ ยังมีรายละเอียดดี ๆ อีกเยอะ ถ้าผมพิมพ์หมด ก็คงจะยาวกว่านี้มาก อยากให้ลองไปหาอ่านกันดูครับ ผมเองไม่ค่อยได้เข้าร้านหนังสือมานานแล้ว โดยเฉพาะร้าน B2S จึงเพิ่งรู้ว่าทาง B2S เปิดสำนักพิมพ์ใหม่ชื่อ Cactus Publishing เห็นออกหนังสือใหม่มานับสิบปก น่าสนใจหลายเล่มเลย เล่มนี้เป็นเล่มที่ผมลองซื้อมาครับ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง


อย่างไรก็ตาม ต้องบอกไว้ก่อนว่า ที่ผมบอกว่าอ่านรอบแรกแล้วเฉย ๆ นั้นอาจเป็นเพราะเมื่อเนื้อหาถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วค่อนข้างเข้าใจยาก ไม่ใช่แปลไม่ดีนะครับ แต่พอแปลไทยแล้วเข้าใจยากกว่าทับศัพท์อังกฤษ พอรอบสองผมได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย จึงเข้าใจเนื้อหามากขึ้น


กับดักคนฉลาด Intelligence Trap เขียนโดย David Robson แปลโดย ไอริสา ชั้นสิริ ราคาปก 359 บาท


3.เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน (The Book You Wish Your Parents Had Read)

ชื่อหนังสือเต็ม ๆ คือ The Book You Wish Your Parents Had Read (and Your Children Will Be Glad That You Did) ผมชอบดีไซน์ปกฉบับแปลไทยที่ทำสีขาวในคำว่า You Wish จนแทบมองไม่เห็น และแน่นอน ชอบเนื้อหาในหนังสือด้วยครับ คนเป็นพ่อแม่ควรอ่าน คนกำลังจะเป็นพ่อแม่ยิ่งควรอ่าน หรือแม้แต่คนไม่มีลูก ถ้าคุณมีพ่อแม่ ก็ควรอ่าน เพราะจะทำให้เข้าใจตัวเราเองมากขึ้นว่าเราถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร


แม้ว่าเรื่องการเลี้ยงลูกจะไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์ครบถ้วนเจอมาทุกรูปแบบ แต่การเป็นนักบำบัดของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Philippa Perry ก็ทำให้เธอได้เจอพ่อแม่หลายคน ได้เห็นปัญหาทั้งที่เกิดระหว่างพ่อแม่กับลูก หรือพ่อกับแม่ด้วยกันเอง และกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้


เธอบอกว่านี่ไม่ใช่คู่มือสอนเลี้ยงลูก แต่จะเล่าว่าวิธีที่พ่อแม่เลี้ยงเรามา ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกของเราอย่างไร มีอะไรที่เราอาจทำพลาดเหมือนรุ่นพ่อแม่ และเราจะหยุดความผิดพลาดนี้ให้มันจบที่รุ่นเราได้อย่างไร


เนื้อหาในเล่ม ครอบคลุมตั้งแต่วิธีที่พ่อแม่เลี้ยงเราส่งผลถึงตัวเราในวันนี้อย่างไร ตัวเราเองสร้างสภาพแวดล้อมอย่างไรให้กับลูกได้บ้าง การจัดการอารมณ์ความรู้สึกของลูก การอ่านพฤติกรรมว่าลูกทำแบบนี้กำลังสื่อว่าอะไร และยังรวมถึงเคล็ดลับเบื้องต้นตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ การคลอด การดูแลทารก ไปจนถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้


มีหลายประโยคที่ผมอ่านแล้วชอบ ขอยกมาบางประโยค (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)


  • ก่อนที่เด็กจะได้สัมผัสวัฒนธรรมการมีความสุขจากวัตถุ พวกเขาเคยรู้จักสิ่งที่สร้างความสุขได้ดีกว่านั้น นั่นคือ ความสัมพันธ์

  • การเป็นพ่อแม่สอนเราได้ดีว่ามนุษย์มีความรู้สึก ก่อนที่จะมีความสามารถในการคิด วิธีตอบสนองและตอบโต้ความรู้สึกของลูกเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมีคนสำคัญในชีวิตเป็นประจักษ์พยานคอยรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของเรา ถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของมนุษย์

  • เวลารู้สึกแย่ เราไม่ได้อยากให้ใครมาทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่อยากให้มีคนเข้าใจ มากกว่าจะมาจัดการเรา เราอยากให้มีคนเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไร จะได้ไม่ต้องรู้สึกเช่นนั้นอยู่คนเดียว

  • รูปแบบของตัวตนและพฤติกรรมที่เราได้รับเป็นมรดกตกทอด มักพบได้ในวิธีที่เราคุยกับตัวเอง จงระวังคำพูดในหัวเหล่านี้ เพราะนอกจากจะมีพลังชี้นำชีวิตคุณแล้ว ยังส่งผลต่อชีวิตลูกคุณด้วย โดยส่งผลให้ลูกคุณตัดสินตัวเองและผู้อื่น

  • การตีตราว่าเป็นพ่อแม่ที่ดีหรือพ่อแม่ที่ไม่ดีนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะมันสุดโต่งเกินไป ไม่มีใครเป็นนักบุญหรือคนบาปไปทั้งหมด เราไม่ควรตัดสินลูกเช่นกัน เหมือนที่เราไม่ควรตัดสินตัวเอง

  • คุณเลือกได้ว่าจะชมหรือตำหนิติเตียน คุณเลือกได้ที่จะใจดีมีเมตตา การมีเมตตา ไม่ได้แปลว่าคุณไม่แสดงอารมณ์เวลาโกรธ แต่หมายถึงการอธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไรและทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น โดยไม่กล่าวโทษหรือต่อว่าอีกฝ่าย

  • ฉันไม่แนะนำให้คุณเล่นโทรศัพท์มือถือหรือใช้ทำงานต่อหน้าลูกนานๆ

  • เพราะนอกจากคุณจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกแล้ว ยังสร้างพื้นที่ว่างเปล่าขึ้นในตัวลูกด้วย พื้นที่ว่างลักษณะนี้อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนเสพติดบางอย่างเมื่อโตขึ้น ถ้าคุณเอาแต่จ้องหน้าจอตลอด ลูกจะอยากจ้องหน้าจอบ้างเหมือนกัน

  • การมีลูก หมายความว่าคุณต้องเป็นพ่อแม่เมื่อลูกยังเล็ก เป็นผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กับลูก และท้ายที่สุด คุณอาจกลายเป็นเด็ก เมื่อลูกกลายเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเรายอมให้บทบาทเหล่านี้ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องจะง่ายขึ้นสำหรับทุกฝ่าย


โดยสรุป นี่คือหนังสือในเชิงจิตวิทยา ครอบคลุมทั้งการเลี้ยงลูก (เน้นไปที่เด็กเล็ก เด็กโตและวัยรุ่นมีไม่มาก) ความสัมพันธ์ของเราและคนรัก รวมถึงการเข้าใจตนเองและพ่อแม่ของเรา อาจไม่ใช่หนังสือที่ดีที่สุด อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่เราไม่เห็นด้วย แต่โดยรวมถือเป็นหนังสือที่ดี คุ้มค่ากับการอ่านครับ


เสียดายแย่ ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน สำนักพิมพ์ Bookscape ราคาปก 325 บาท


4.วินาทีไร้น้ำหนัก

สนุกมาก ผมอ่านไป 3 รอบ ยิ่งเก็บรายละเอียดที่ผู้เขียนซ้อนซ่อนไว้ได้เท่าไร ก็ยิ่งสนุกขึ้นเท่านั้น "วินาทีไร้น้ำหนัก" เขียนโดย "วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ" นักเขียน/นักแปล ประสบการณ์กว่า 20 ปี นี่คือนิยายเล่มแรกในชีวิตของเขาที่ตั้งคำถามกับชีวิตว่า "ถ้าคนเราโดดเดี่ยวดุจดังเกาะร้างกลางทะเลได้จริงๆ แล้วทำไมในวินาทีนี้เขาถึงรู้สึกสะทกอยู่ภายใน"



เล่าแบบสั้น ๆ ไม่สปอยล์ (หรือจะสปอยล์ก็ไม่มีผล เพราะความสนุกอยู่ที่รายละเอียด) ฉากเรื่องเกิดขึ้นในกรุงเทพ คืนวันศุกร์ รถตู้โดยสารเที่ยวสุดท้าย จากอนุสาวรีย์ชัยฯ ขึ้นดอนเมืองโทลเวย์ มุ่งหน้ารังสิต เพียงเปิดฉากมาหน้าแรก เราคนอ่านก็ได้รับรู้ว่ารถตู้คันนี้กำลังอยู่ในวินาทีประสบอุบัติเหตุรุนแรง ชนกับรถเก๋งคันหน้า...พวกเขากำลังอยู่ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต


เสี้ยววินาทีที่กำลังเกิดอุบัติเหตุนั้นเอง ผู้เขียนได้แหวกถ่างมันออก แบบที่เขียนไว้ในหนังสือว่า "สสารรอบตัวกำลังหดเล็กลง แต่เวลาภายในใจของเขากับยืดขยายออกไปแบบไม่จำกัด แต่ละเสี้ยววินาทีกำลังผ่านไปอย่างเชื่องช้า"


จากนั้นก็ใช้เวลาที่ถูกยืดขยาย เขียนเล่าถึงชีวิตผู้คนบนรถตู้ ว่าก่อนที่จะมาร่วมชะตากรรมเดียวกันในคืนนี้ ที่ผ่านมาแต่ละคนมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรบ้าง สมหวัง ผิดหวัง เปลี่ยนแปลง หรือวนเวียนซ้ำซากมาอย่างไร


ตัวละครในรถตู้ มีตั้งแต่ อดีตคนเฝ้าร้านคาราโอเกะ ปัจจุบันคนขับรถตู้ / อดีตเซลล์แมนขายสีทาบ้าน ปัจจุบันขายหมึกเครื่องพิมพ์ / อดีตพนักงานบริษัท ปัจจุบันนักเขียนหนังสือนิยายขายไม่ออก / นักศึกษาสาวที่บังเอิญเป็นผู้อ่านนิยายเล่มนั้นที่ขายไม่ออก และรวมไปถึงคู่กรณี คนขับเก๋งคันหน้า เจ้าของบริษัทสถาปนิกเล็ก ๆ ...เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้จะโยงใยไปถึงคนนอกรถตู้อีกหลายชีวิต หญิงคนขายน้ำที่วินรถตู้สาวรีย์ / หมาจรจัดที่อาศัยอยู่แถวนั้นเป็นประจำ / แคชเชียร์ซูเปอร์มาร์เก็ต หญิงสาวผู้มาซื้อของใช้ให้ผู้ชายของเธอ...ที่เป็นผู้ชายของคนอื่นด้วย


โครงเรื่องประมาณนี้ครับ แต่ความเจ๋งของนิยายเล่มนี้ก็คือมันซ้อนทับด้วยเรื่องราวหลายชั้น แต่ตั้งอยู่บนหัวใจเดียวกันนั่นคือ "การกลับบ้าน" ซึ่งความหมายของการกลับบ้านนั้นก็หลากหลายไปตามแต่ละตัวละคร


มีประโยคมากมายที่ผมชอบในหนังสือเล่มนี้ ขอยกมาบางตัวอย่าง...


บ้างอธิบายสภาพผู้คนในเมืองใหญ่ [เราต่างเกิดมาเพื่อเป็นฉากหลังอันพร่าเลือนสำหรับคนอื่น เราเป็นฉากหลังในชีวิตของกันและกัน ชีวิตนี้ทำไมมันช่างไม่มีความสลักสำคัญอะไรแบบนี้นะ / เมืองนี้มันก็เป็นเสียแบบนี้ มันเป็นเมืองที่ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน ...ไม่แม้กระทั่งจะถามไถ่ชื่อเสียงเรียงนามทำความรู้จักกัน และทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่แม้กระทั่งจะเงยหน้าขึ้นมาสบตากัน]


บ้างก็บรรยายสภาพในใจตัวละคร [ชีวิตนี้มีความหมายอะไรมากกว่านี้อีกไหม นอกจากแค่ขับรถไปกลับระหว่างรังสิตกับอนุสาวรีย์ชัยฯ/บอกฉันสิเจ้า ซูเปอร์มาร์เก็ต บอกฉันหน่อยว่าค่ำคืนนี้ฉันอยากจะซื้ออะไรอีก ชีวิตนี้ฉันต้องการอะไร และฉันคือใครกันแน่ นอกจากการเป็นคุณลูกค้าที่ไร้นาม ฉันรู้สึกว่าตัวเองว่างเปล่า]


บ้างก็เป็นมุมคิดที่น่าสนใจ [นรกคือคนอื่น คือการที่เราต้องมีชีวิตโดยขึ้นกับคนอื่นตลอดเวลา สายตาที่จับจ้องมองมา ความเห็นทั้งด้านดีและด้านร้ายที่เล็ดลอดเข้าหู ทำให้เราไม่สามารถเป็นอย่างที่เราอยากเป็น/น่าประหลาดดีที่การจะทำหรือไม่ทำอะไร การตัดสินใจแต่ละอย่าง การเลือกแต่ละทาง การกระทำทุกอย่างในแต่ละเสี้ยววินาที จะส่งผลต่อเนื่องที่แตกต่างออกไปอย่างมหาศาล มันอาจจะเปลี่ยนทั้งชีวิตของเราต่อจากนี้ไปตลอดกาล]


หรือบ้างก็ไปไกลถึงศาสนาและปรัชญา [ความสมบูรณ์สิ้นสุดลง เมื่อเกิดจุดอ้างอิงใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกนับพันหมื่นแสนล้าน / ชีวิตก็ถูกรายล้อมไปด้วยสรรพสิ่งที่เป็นอื่น ซึ่งล้วนแตกต่าง ชอบใจ ไม่พึงใจ แถมยิ่งกว่านั้น ชีวิตนี้ยังหาความสุขกายสบายใจอะไรไม่ได้เลย และชีวิตนี้ยึดกุมอะไรไว้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน เพราะทุกอย่างแปรเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย พลัดพราก / จากหนึ่งเดียวที่ได้ระเบิดออกเป็นสรรพสิ่ง ก็เพื่อให้เราได้กลับมามองเห็นกันและกันแบบนี้นี่เอง เราละทิ้งความสมบูรณ์พร้อมเพื่อจะได้ร่วมแบ่งปันความขาดพร่องร่วมกับผู้อื่น]


ก่อนที่จะยาวไปกว่านี้ ผมขอสรุปสั้น ๆ ตรงนี้ว่า "วินาทีไร้น้ำหนัก" เป็นนิยายที่น่าสนใจมาก รอบแรกผมอ่านแล้วเฉย ๆ เหมือนนิยายทั่วไป พอรอบที่สองเริ่มมองเห็นบางสิ่งที่ซ้อนซ่อนอยู่ (เช่น สภาวะไร้น้ำหนักที่เกิดขึ้นในฉากรถตู้ บนอวกาศ หรือแค่เพียงหน้าตู้แช่ร้านสะดวกซื้อ เช่นธีมของการกลับบ้าน) พอรอบสามก็เลยสนุกกับรายละเอียดอื่น ๆ ครับ เล่มนี้อ่านง่าย (ยิ่งคนกรุงเทพยิ่งอ่านง่าย เพราะฉากในเรื่องคุ้นเคยดี) ภาษาไม่สวิงสวาย อ่านเอาสนุก หรือจะอ่านเพื่อขบคิดก็ได้ ...แต่ไม่แนะนำให้อ่านบนรถตู้นะครับ มันจะสยองไปหน่อย


วินาทีไร้น้ำหนัก เขียนโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ สำนักพิมพ์มติชน ราคาปก 400 บาท


5.ชีวิตที่ใช่ ไม่ต้องใช้ทางลัด (Hacking Life)

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือประเด็นตามที่โปรยบนปกฉบับภาษาไทยไว้ว่า "ยิ่งโปรดักทีฟ ยิ่งเร่งรีบให้ทันคนอื่น แต่กลับพบว่าชีวิตว่างเปล่า ทำไมแนวคิดแฮ็กชีวิตจากซิลิคอนแวลลีย์ จึงทำให้เราไม่มีความสุข" หรือถ้าเอาให้ชัดเข้าไปอีก คำโปรยภาษาอังกฤษบนปกที่โปรยไว้ว่า "Systematized Living and Its Discontents" ก็อธิบายแก่นของหนังสือได้ดี (แปลประมาณว่า การใช้ชีวิตที่ถูกทำให้เป็นระบบ แต่เรากลับรู้สึกไม่เติมเต็ม เหมือนยังขาดอะไรอยู่ตลอด)


พูดแบบภาษาบ้าน ๆ เข้าใจง่าย ๆ นี่คือหนังสือที่ตั้งคำถามต่อกระแสฮาวทูพัฒนาตัวเองทั้งหลายที่ฮิตมาก ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ผมเองก็เป็นหนึ่งในกระแสนั้น แต่ปัจจุบันสนใจเรื่องนี้น้อยลงมาก ๆ แล้ว) ผู้เขียนบอกว่าเรื่องราวของการ Hack (หาทางลัด พัฒนาให้ดีขึ้นในแทบทุกเรื่องในชีวิตทั้งการทำงาน สุขภาพ ความสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าทุกอย่างเป็นระบบ) คือเวอร์ชั่นล่าสุดของวงการพัฒนาตัวเอง โดยเขาตั้งคำถามว่าทางลัดที่ว่านั้นดีจริงหรือเปล่า? ทำได้จริงหรือเปล่า? ทำได้ยาวนานหรือเปล่า? และชีวิตเราต้องการทางลัดขนาดนั้นหรือเปล่า?


ใครที่เคยอ่านหนังสือแนว ๆ พัฒนาตัวเอง แนวเพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวเอง น่าจะสนุกไปกับการอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ เพราะเขาพูดถึง (และบางเล่มก็ตั้งคำถาม) กับหนังสือดัง ๆ หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น...


The 4-Hour Workweek / Getting Things Done / Freakonomics / Smarter Faster Better / The Power of Habit / The 7 Habits of Highly Effective People / The 80/20 principle / Grit / Willpower / Essentialism รวมไปถึงเวที TED Talks วิธีการ Pomodoro กระแสคลั่งไคล้ Minimal ที่มีสตีฟ จ็อบส์ และสินค้าของเขาเป็นที่เทิดทูนของสาวก หนังสือคูล ๆ อย่าง Walden วิธีจัดบ้านของมาริเอะ คนโดะ และวิธีคิดแบบสโตอิก ที่นำโดยหนังสือ Meditation (และรับช่วงต่อโดย Ryan Holiday ที่ตอนนี้หนังสือ Ego is the Enemy กำลังดังในบ้านเรา)


ผมอ่านแล้วรู้สึกตระหนักขึ้นมาทันทีว่าสังคมเรากำลังถูกสร้างด้วยแนวคิดทำนองนี้ คนที่ถูกยกย่องให้เป็นผู้นำความคิด มีผู้ติดตามมากมาย ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากวิธีคิดของหนังสือและสื่อเหล่านี้


เพราะฉะนั้นต้องบอกว่า หากใครไม่คุ้นชื่อหนังสือหรือบุคคลเหล่านี้ คงต้องบอกว่าคุณน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่อิน เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนกำลังกล่าวถึง แต่ถ้าใครรู้จักหนังสือพวกนี้ เคยอ่าน อย่างน้อยก็จะเป็นอีกมุมมองที่ทำให้เราฉุกคิดและกล้าตั้งคำถามต่อวิธีคิดในหนังสือเหล่านี้ แทนที่จะอ่านแล้วชอบ ชอบแล้วเชื่อในทันที


ทั้งหมดทั้งปวงไม่ได้หมายถึงผู้เขียนต่อต้านทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแฮ็คชีวิตไปทั้งหมดนะครับ เขาบอกว่ามีข้อดีและใช้งานได้จริงอยู่หลายข้อ เพียงแต่อยากแตะเบรคไว้บ้างก็เท่านั้นเอง


อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าน่าเสียดายไปนิดที่หนังสือถูกเขียนขึ้นด้วยการกล่าวถึงรายละเอียดที่ยุ่บยั่บ ยากต่อการอ่านแบบไหลลื่น (พูดง่าย ๆ ว่าอ่านไม่สนุกเท่าหนังสือ Self Help หรือ Productive ทั้งหลาย) ผมเองทั้ง ๆ ที่พอคุ้นชินกับหนังสือที่กล่าวมาทุกเล่ม ก็ยังรู้สึกว่า Hacking Life เป็นหนังสือที่อ่านไม่ง่าย ต้องใช้สมาธิสูง (และดูเหมือนผู้เขียนจะพุ่งเป้าไปที่ Tim Ferris และเหล่าผลิตภัณฑ์ของเขามากเป็นพิเศษ)


Hacking Life หรือชื่อไทย "ชีวิตที่ใช่ ไม่ต้องใช้ทางลัด" สนพ.Be(ing) เขียนโดย Joseph M.Reagle Jr. แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ราคาปกเล่มละ 329 บาท


6.จดหมายถึงแซม (Letters to Sam)

เหนือความคาดหมาย ดีกว่าที่คิดไว้มาก ชื่อหนังสือ "Letters to Sam จดหมายถึงแซม" เห็นปกทีแรกผมนึกว่าเป็นนิยายวรรณกรรมเยาวชนอะไรทำนองนั้น แต่ปรากฏว่ามันคือจดหมาย 32 ฉบับที่คุณตา (ผู้เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุ ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต) เขียนถึงหลานชาย (ผู้มีอาการออทิสติกตั้งแต่วัย 14 เดือน) บอกเล่าถึงประสบการณ์และบทเรียนชีวิตในวัย 50 กว่าปี ทั้งเรื่องสุข ทุกข์ การเยียวยาบาดแผลในใจ ความเมตตาที่เราควรมีทั้งกับตัวเองและผู้อื่น (รายได้ผู้เขียนมอบให้การกุศลทั้งหมด)


ความน่าสนใจก็คือ คุณตาท่านนี้เป็นนักจิตบำบัดปริญญาเอกที่เขียนหนังสือได้ดีมาก ถึงแม้เขาจะเล่าเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัวของเขา แต่เนื้อความในจดหมายกลับแฝงด้วยประโยคแห่งปัญญาที่มีส่วนผสมระหว่างตะวันตกและตะวันออก (แนวคิดของศาสนาคริสต์ การทำสมาธิ การปล่อยวาง อยู่กับปัจจุบัน การรวมเป็นหนึ่งเดียว)


มีหลายประโยคที่ผมอ่านแล้วชอบ ขอยกมาบางประโยค (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)


  • แต่ละวันจิตใจจะรับข้อความหลายพันล้านข้อความซึ่งผันแปรตามการกระตุ้นของประสาทสัมผัส แต่จิตใจตัดสินไม่เก่งว่าความคิดไหนมีคุณค่า และความคิดไหนเป็นของเสีย กิจกรรมทางใจนี้สามารถทำลายวันทั้งวัน แทรกตัวมาในความฝัน และทำลายโอกาสที่จะมีความสุขได้อย่างเร็วร้าย เพราะเราไม่มีเครื่องกรองที่ดีพอ

  • ทุกอารมณ์เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เรารอให้มันผ่านไปได้เหมือนรอรถประจำทาง เราจะรออย่างผิดหวัง โกรธเคือง หรือรู้สึกเป็นเหยื่อก็ได้ แต่มันไม่ช่วยให้รถประจำทางมาเร็วขึ้น หรือเราจะรออย่างอดทนและผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้รถประจำทางมาเร็วขึ้นเหมือนกัน รถประจำทางทุกคันก็เป็นเช่นนี้ มันมาต่อเมื่อมันมา เราแค่ต้องศรัทธาว่ามันจะมา

  • มนุษย์ไขว่คว้าหาสิ่งที่ทำให้รู้สึกมั่นคงกว่าเสมอ เราผละจากอกแม่ไปหาจุกนมหลอก จากของเล่นชิ้นเล็กๆ ไปหาของเล่นชิ้นใหญ่ จากรถยนต์ไปหาบ้านและบ้านพักตากอากาศ ความรู้สึกมั่นคงไม่อาจได้มาด้วยการครอบครอง มันเป็นแค่ภาพลวงตา เราอาจรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีอย่างอื่นให้เราคิดอยู่ร่ำไป ความสุขจะอยู่ป้ายหน้าเสมอ

  • การขยายภาชนะให้ใหญ่ขึ้นสามารถเปลี่ยนโลกจากภายในสู่ภายนอก คนที่ก้าวออกจากตัวเองและเริ่มลงมือช่วยเหลือผู้อื่นมักมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างขึ้น ซึ่งไม่ล้นด้วยปัญหาส่วนตนอีกต่อไป


โดยสรุป ใครที่ชอบหนังสือแนวจิตวิญญาณ การเดินทางด้านใน ชอบหนังสือ Tuesdays with Morrie หรือหนังสือ The Last Lecture น่าจะชอบหนังสือเล่มนี้ครับ ความพิเศษอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้ที่ต้องขอชื่นชมเป็นอย่างสุดท้าย นั่นคือ "คุณภาพของกระดาษและการเข้าเล่ม" สนพ.เลือกใช้กระดาษดีมาก หนาพิเศษ เราจะรับรู้ได้ทันทีที่สัมผัสเนื้อกระดาษ รวมไปถึงการเข้าเล่มแบบเย็บกี่ไสกาว ทำให้หนังสือทนทาน กางได้กว้างเป็นพิเศษ


"Letters to Sam จดหมายถึงแซม" สำนักพิมพ์ OMG Books เขียนโดย Daniel Gottlieb แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ ราคาปก 285 บาท


7.ใช้คลื่นพลังบวก ดึงดูดพลังสุข (Good Vibes, Good Life)

ปกสีทองสวยมาก เขียนโดย Vex King ชายหนุ่มวัย 30 กว่า เชื้อสายอินเดีย สัญชาติอังกฤษ เขาโด่งดังในโลกออนไลน์จากการโพสต์คำคมความคิด จนมีผู้ติดตามมากมายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถ้าเป็นบ้านเราก็คงเรียกเขาว่าเป็น Life Coach แต่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น Mind Coach


เนื้อหาในเล่มนี้ ถ้าใครสายอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง อ่านมาหลายเล่มแล้ว ก็อาจบอกผ่านได้เลย เพราะเนื้อหาไม่มีอะไรใหม่ (ซึ่งนี่คือลักษณะเฉพาะของหนังแนวฮาวทูที่เป็นมานานแล้ว คือ เหล้าเก่าในขวดใหม่ ใครจะเล่าได้น่าฟังกว่ากัน) ไม่ได้แปลว่าแย่นะครับ ถ้าอยากอ่านย้ำซ้ำความคิดอีกสักเล่ม เล่มนี้ก็ยังนับเป็นตัวเลือกที่ดี


ส่วนถ้าใครเป็นมือใหม่สายพัฒนาตัวเอง หรือชอบมากที่จะอ่านเนื้อหาทำนองนี้ เล่มนี้แนะนำเลยครับ เขาเขียนอ่านง่ายมาก ๆ แต่ละประโยคคมคาย นำไปปรับใช้งานได้จริง เนื้อหาในเล่มนั้นครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการปรับความรู้สึกให้เป็นเชิงบวก เพื่อดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามา การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง การเลือกคบคน การจัดการความสัมพันธ์ จิตใต้สำนึก NLP การจัดการเสียงในหัวตัวเราเอง การตั้งเป้าหมาย การลงมือทำและรักษาความมุ่งมั่น


มีหลายประโยคที่ผมชอบ ขอยกมาบางตัวอย่าง (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)

  • ทุกความคิดและคำพูดต่างก็มีแรงสั่นสะเทือนที่มีพลัง เมื่อพูดถึงคนอื่นในทางลบ เราก็กำลังส่งพลังงานด้านลบสู่จักรวาล

  • เวลารู้สึกแย่เพราะบางคนไม่ชอบคุณ นั่นเป็นเพราะอีโก้กำลังทำงาน คุณมองว่าคุณค่าของคุณอยู่ที่การยอมรับของอีกฝ่าย พอเขาไม่ยอมรับ คุณจึงรู้สึกไม่ดีกับตัวตนอีกต่อไป

  • เราอยากให้คนอื่นหยุดเป็นพิษ แต่น้อยครั้งที่จะย้อนกลับมาดูการกระทำของตัวเอง แม้กระทั่งคนที่เชื่อว่าตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดี ก็มักลืมย้อนกลับมาดูการกระทำของตัวเอง

  • คนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอัตราเร็วแตกต่างกัน

  • อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบการเห็นคนอื่นถูกถากถางและซ้ำเติมเมื่อกำลังแย่ พวกเขาเห็นด้วยกับข้อสรุปในแง่ลบอย่างรวดเร็วและกระตือรือร้นที่จะฉลองความผิดพลาด เนื่องจากเสพติดทางวัฒนธรรมในเรื่องหายนะของผู้อื่น

  • วิธีที่ผู้คนปฏิบัติต่อโลกภายนอกบ่งบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลกภายในของเขา บ่อยครั้งคนเราก็อารมณ์ไม่ดีเพราะถูกคนที่อารมณ์ไม่ดีทำร้ายมาอีกที คนที่เพิ่งเจ็บ ก็ไปทำให้คนอื่นเจ็บต่อและเกิดเช่นนี้ต่อไปอีก

  • สิ่งที่คนอื่นพูดถึงคุณ บ่งบอกถึงตัวพวกเขาเองมากกว่าตัวคุณเสียอีก เวลาคนอื่นตัดสินคุณ พวกเขาก็ส่อธาตุแท้ออกมา

  • ถ้าขอให้กล่าวถึงทุกสิ่งที่รัก ต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าคุณจะกล่าวถึงตัวเอง คำถามนี้เป็นการเตือนพวกเราหลายคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องการรักตัวเอง


โดยสรุป เป็นหนังสือที่อ่านง่าย เขียนเป็นบทสั้น ๆ จบในบท ตามสไตล์งานเขียนยุคนี้ เนื้อหาไม่ใหม่ แต่วิธีเขียนที่ไหลลื่น ทำให้ผมอ่านจบในรวดเดียว


"Good Vibes, Good Life ใช้คลื่นพลังบวก ดึงดูดพลังสุข" เขียนโดย Vex King สนพ.อมรินทร์ ราคาปก 245 บาท


8.ขอให้แมวโอบกอดคุณ

หนังสือรวมเรื่องสั้นแนะนำมากครับ เต็ม 10 ให้ 100 คะแนน เขียนดีมาก ผมอ่านไปรำพึงรำพันไปว่าทำไมเขียนเก่งจัง (ต้องชื่นชมผู้แปลด้วย) ข้อเสียประการเดียวของหนังสือเล่มนี้คือมันไม่ได้วางตัวเป็นวรรณกรรมทรงภูมิขึ้นหิ้ง แต่ดูเหมือนเป็นหนังสือชิลล์ ๆ ของเหล่าทาสแมว เหมาะกับการเปิดอ่านในคาเฟ่สไตล์มินิมอล ขาว ๆ ไม้ ๆ ทั้งที่จริงเรื่องราวในเล่มเล่าถึง "ความรู้สึก" ของมนุษย์ได้อย่างงดงามและมีความหวัง ถือเป็นหนึ่งเล่มที่ผมชอบที่สุดในปีนี้ และรวมถึงเท่าที่เคยอ่านหนังสือมา