top of page

หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q1 2022

เป็นประจำทุกสัปดาห์ ผมจะแนะนำหนังสือที่อ่านแล้วชอบไว้ในแฟนเพจ boy's thought อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบของ facebook ทำให้การสืบค้นโพสต์เก่า ๆ ทำได้ยาก ผมจึงนำมารวบรวมไว้ในเว็บไซต์ เผื่อว่าใครจะลองไปหามาอ่านบ้าง โดยครั้งนี้จะเป็นหนังสือที่ผมอ่านในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2022 ครับ มาเริ่มกันเลย

ภาพถ่ายโดย Ricardo Esquivel จาก Pexels

1.When

เขียนโดย Daniel H.Pink นักเขียนในวัยใกล้ 60 ปี เจ้าของผลงานหนังสือขายดีหลายเล่ม หลายคนน่าจะรู้จักเขาจากสองเล่มนี้ Drive และ To Sell is Human เพราะมีแปลภาษาไทย ส่วนเล่มนี้ When ฉบับอังกฤษตีพิมพ์ปี 2018 ฉบับแปลไทยเพิ่งออกเมื่อปี 2021 นี่เองครับ คำโปรยภาษาอังกฤษบอกไว้ว่า The Scientific Secrets of Timing ซึ่งก็คือธีมของเล่มนี้ที่ว่า "Timing" หรือ "จังหวะเวลา" ที่เหมาะสมในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิตนั่นเอง


โครงสร้างของเล่ม ผู้เขียนแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก [เกี่ยวกับเรื่องรูปแบบเวลาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน บางคนเป็นนกตื่นเช้า บางคนเป็นนกฮูกอยู่ดึก และคนส่วนใหญ่เราอยู่กลางระหว่างนกกับนกฮูก ประเด็นคือเรามีช่วงเวลาทองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักธรรมชาติของนาฬิกาในตัวเรา เราก็ใช้เวลาได้เหมาะกับกับกิจกรรมแต่ละอย่างครับ] ส่วนที่สอง [เกี่ยวกับวิธีจัดการกับการเริ่มต้น ตรงกลาง และตอนจบของหลาย ๆ อย่างในชีวิตให้มีประสิทธิภาพ เช่น เริ่มต้นโดยใช้ช่วงเวลาสำคัญอย่างปีใหม่เป็นพลังผลักดัน ประคองช่วงตรงกลางอย่างมีสติเพราะเรามักขี้เกียจหมดพลัง และใช้ช่วงเวลาสิ้นสุดเป็นเดดไลน์ให้เราตั้งใจยิ่งขึ้น] และส่วนที่สาม [เกี่ยวกับเรื่องของ Synching การสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว ภาษาไทยมักทับศัพท์ว่า "ซิงค์" กัน ส่วนนี้ว่าด้วยเรื่องการทำงานเป็นทีมให้อยู่ในจังหวะเดียวกัน สอดรับกันอย่างลงตัว]


เมื่ออ่านจบ ผมพบว่าส่วนที่ชอบคือพาร์ทแรกที่ว่าด้วยการใช้เวลาให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเรา (เช่นผมชอบอ่าน/เขียนตอนกลางคืน) การงีบหลับช่วงกลางวันสัก 20 นาที (ผมทำมานาน และคิดว่าได้ผล) นอกจากนี้ที่ชอบอีกอย่างก็คือ ในท้ายแต่ละบท เขาจะมีเคล็ดลับวิธีการต่าง ๆ ให้เราไปลองทำดู (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Time Hacker's Handbook ภาษาไทยใช้คำว่า คู่มือนักเจาะเวลา ซึ่งผมว่าเข้าใจยากและไม่ค่อยตรงความหมาย) เช่น ออกกำลังกายตอนไหนดีที่สุด วิธีหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมของเราในแต่ละวัน วิธีหลับอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีเริ่มต้นทำงานที่ใหม่ แต่งงานช่วงเวลาไหนเหมาะสมที่สุด)


อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่ามีส่วนที่ผมไม่ชอบอยู่บ้าง นั่นคือ ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยโจทย์ที่ว่า ฉันจะทำรายงานส่งอาจารย์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ "จังหวะเวลา" เพราะฉะนั้นมีเรื่องอะไรบ้างนะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ฉันจะได้อ่านค้นคว้ามันในห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต จากนั้นจะได้นำมารวมแล้วเขียนให้เป็นเล่มในแบบที่อ่านง่าย พร้อมตัวอย่างที่ฉันหามาประกอบ


พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ผมรู้สึกว่าหนังสือน่าจะจบตั้งแต่พาร์ทแรกแล้ว เพราะพาร์ทสองเหมือนผู้เขียนพยายามหาเรื่องมาเขียนต่อ และในพาร์ทที่สามนั้นแทบไม่จำเป็นเลย แต่ก็นั่นแหละครับ หนังสือคงจะบางมาก ถ้ามีแค่พาร์ทเดียว และคงไม่มีใครซื้อหนังสือเล่มบาง ๆ แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าหนังสือไม่ดี ถ้าคิดในมุมว่ามีคนรวมเรื่องเกี่ยวกับจังหวะเวลามาให้เราอ่าน รวมเคล็ดลับหลากหลายมาก ๆ มาให้เราลองไปทำดู แบบนี้ก็ถือว่าเล่มนี้คุ้มที่จะอ่าน


ที่แน่ ๆ ผมเห็นด้วยมาก ๆ เลยครับว่าช่วงปีใหม่แบบนี้ ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดีมาก ๆ ที่เราจะเริ่มต้นใหม่กับเป้าหมายเดิมที่ยังไม่บรรลุและเป้าหมายใหม่ที่มุ่งหวังไว้ นี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นนกตื่นเช้าหรือนกฮูกนอนดึกก็ตาม


When วิทยาศาสตร์บนเข็มนาฬิกา สำนักพิมพ์ We Learn เขียนโดย Daniel H.Pink แปลโดย วิโรจน์ ภัทรทีปกร ราคาปก 325 บาท


2.Humankind : A Hopeful History

หนังสือแนะนำมาก ๆ น่าจะติดลิสต์หนังสือที่ชอบที่สุดของผมในปี 2022 ตั้งแต่ต้นปีเลยครับ ชื่อหนังสือภาษาไทยว่า "ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ" หนา 500 กว่าหน้า แต่คุ้มค่าที่จะอ่าน


ชื่อไทยฟังดูโรแมนติกราวกับนิยายสักเรื่อง แต่อันที่จริงเป็นหนังสือที่มีส่วนผสมของปรัชญา ประวัติศาสตร์ พฤติกรรมมนุษย์ จริยธรรม การเมืองการปกครอง ทั้งหมดนี้ฟังดูเครียด ถ้าเขียนออกมาไม่ดี แต่ผู้เขียนเก่งมากครับ ร้อยเรียงเรื่องราวออกมาอย่างเป็นระบบ อ่านสนุก ชวนฉุกคิดในหลายประเด็น ความรู้สึกหลังอ่านจบ คล้ายกับตอนที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Sapiens : A Brief History of Humankind คือ สนุก น่าทึ่ง ประทับใจ ชวนคิดต่อได้อีกหลายประเด็น


ผู้เขียนท้าทายความคิดเราตั้งแต่ต้นเล่มว่า นี่คือหนังสือที่เขาจะนำเสนอ "ความคิดแบบสุดโต่ง" แบบที่ยากจะเชื่อ แบบที่คนจะเถียงเขา แบบที่คนจะบอกว่าเขานั้นไร้เดียงสาเหลือเกิน เพราะความคิดสุดโต่งที่ว่านี้ก็คือ "ลึกลงไป คนส่วนใหญ่เป็นคนดี"


ถ้าไม่โกหกตัวเอง แค่เราอ่านประโยคนี้ "ลึกลงไป คนส่วนใหญ่เป็นคนดี" มันก็ยากที่จะเชื่อแล้วใช่มั้ยล่ะครับ เราเห็นความโหดร้ายในข่าวเต็มไปหมด เลื่อน news feed ก็เจอคลิปคนกระทำตำบอน อ่านประวัติศาสตร์ก็เจอความโหดร้ายของสงคราม เศรษฐศาสตร์ก็บอกว่าคนเราหาประโยชน์ใส่ตัว แม้แต่ศาสนาก็ยังบอกว่าเรามีบาปติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด


นั่นแหละครับ ผู้เขียนจึงบอกว่าหนังสือเล่มนี้นำเสนอความคิดสุดโต่งที่ยากจะเชื่อ แต่เขาก็จะพยายามหาหลักฐานมาโน้มนำเราให้ได้ว่า มนุษย์ไม่ได้เห็นแก่ตัว ยิ่งในยามวิกฤต เรายิ่งช่วยเหลือกัน หายนะดึงด้านที่ดีที่สุดของมนุษย์ออกมา ไม่ใช่การแก่งแย่งเอาตัวรอดแบบในหนังที่เราคุ้นเคย


ความเจ๋งของหนังสือเล่มนี้ก็คือผู้เขียนเริ่มจากคำถามว่าที่ว่า "ทำไมคนเราจึงเชื่อว่ามนุษย์นั้นเลวร้าย? อะไรทำให้เราเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์คือความชั่วร้าย?" จากนั้นเขาจึงพาเรา "เลาะตะเข็บ" กระบวนการต่าง ๆ ที่สร้างความคิดให้เราเชื่อว่ามนุษย์นั้นโหดร้าย จนในที่สุดเราจะเริ่มตระหนักได้ว่า "มีบางอย่างผิด มีคนตั้งใจทำให้ความคิดของเราติดลบ"


หรือจะพูดให้แรงและตรงกว่านั้นก็คือ นี่คือ "การเปิดโปง" สิ่งที่เราเคยชินและเชื่อ เช่น หนังสือเล่มดัง (เช่น หนังสือวรรณกรรมเอกของโลก อย่าง "วัยเยาว์อันสิ้นสูญ LORD OF THE FLIES" ที่เล่าถึงความป่าเถื่อนภายในจิตใจของเหล่าเด็กชายติดเกาะ ซึ่งโอเวอร์เกินความจริงไปมาก) ผลงานวิจัยที่ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมนุษย์ จะต้องคุ้นเคยกับการทดลองเหล่านี้ (เช่น การทดลองสวมบทผู้คุมกับนักโทษของสแตนฟอร์ดที่กลายเป็นความป่าเถื่อน การทดลองช็อตไฟฟ้าของมิลแกรมที่เชื่อผู้เชี่ยวชาญจนกล้าเพิ่มกระแสไฟช็อตใส่คนอื่น) งานวิจัยเหล่านี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังว่า "ก็ฉันอยากได้ผลลัพธ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นฉันก็จะทำทุกอย่างให้มันออกมาได้ผลลัพธ์แบบนี้ ไม่มีใครรู้หรอก"


...ต้องบอกว่าเนื้อหาในส่วนนี้ผมอ่านแบบตื่นตาตื่นใจ เพราะเคยคิดมานานแล้วว่าผมไม่เชื่องานวิจัยพวกนี้เท่าไร มันต้องมีเงื่อนงำแน่ ๆ แล้วก็มีจริง ๆ


แน่นอนครับ นี่ไม่ใช่หนังสือโลกสวยที่บอกว่าทุกคนเป็นคนดี และผู้เขียนก็เข้าใจดี เขาจึงชวนเราไปสำรวจเหตุการณ์หนัก ๆ อย่างเหตุการณ์ที่เอาชวิตช์ (นาซีกำจัดชาวยิว 6 ล้านคน) ว่าแล้วถ้ามนุษย์มีจิตใจดี เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? รวมถึงพาเราไปสำรวจประเด็นที่ "โคตรน่าสนใจ" อย่างเช่น แล้วทำไมคนดีจึงกลายเป็นคนไม่ดี อำนาจทำให้คนฉ้อฉลได้อย่างไร และอีกหลายประเด็นที่สำหรับผมนั้น "สนุกมาก"


ประเด็นหนึ่งที่ผมชอบมาก ๆ ผู้เขียนบอกไว้อย่างนี้ครับว่า หากเราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไว้ใจไม่ได้ เราก็จะปฏิบัติต่อกันและกันแบบนั้น ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ทุกคน เพราะในที่สุดแล้วเราจะได้ในสิ่งที่เราคาดหวัง ประเด็นก็คือมนุษย์เรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน มีทั้งด้านดีและไม่ค่อยจะดี คำถามก็คือ เราจะหันความเชื่อไปที่ด้านไหน?


และข้อเสนอของผู้เขียนก็คือ เขาอยากเสนอมุมมองใหม่ที่เราน่าจะมีต่อมนุษยชาติ (ซึ่งคือพวกเราเอง) มุมมองใหม่นั้นก็คือ "ลึกลงไป คนส่วนใหญ่เป็นคนดี" "เวลาเกิดวิกฤต เราไม่ได้แก่งแย่งเอาตัวรอด แต่เราช่วยเหลือกัน" "เราไว้ใจซึ่งกันและกันได้มากกว่าที่คิด"


สุดท้าย ท้ายสุด ที่ชอบอีกอย่างคือชื่อหนังสือครับ humankind นั้นแปลว่ามนุษย์ชาติ แต่ถ้าแยกเป็นสองคำ Human กับ Kind นั้นก็คล้ายคำนี้จะบอกเราว่า "มนุษย์นั้นมีเมตตาต่อกัน" ...ไม่มากก็น้อย ในภาวะโรคระบาดช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราคงเห็นแล้วว่า ประโยคดังกล่าวเป็นความจริง


"Humankind : A Hopeful History" ชื่อไทย "ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ" สำนักพิมพ์​ Being เขียนโดย Rutger Bregman แปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ ราคาปก 559 บาท


3.ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว

หนังสือที่เขียนถึงหนังสืออีกนับสิบเล่ม หน้าปกสวยมาก ที่เห็นในรูปคือฉบับปกแข็งที่ผมซื้อมาดองครบเดือนจึงได้อ่าน ส่วนที่ขายตามร้านน่าจะเป็นปกอ่อน


ในบทนำของเล่ม นิ้วกลมเขียนไว้ว่า บทความหลายชิ้นในเล่มนี้คัดมาจากคอลัมน์ "มิตรสหายเล่มหนึ่ง" (ลองอ่าน ที่นี่ ) ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่านี่คือหนังสือรวมฮิตความคิดที่นิ้วกลมมีต่อหนังสือที่เขาอ่าน เหมือนเราได้แอบอ่านบันทึกที่เขาทดความคิดเอาไว้เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ๆ โดยทั้งหมดอยู่ในคอนเส็ปต์ว่าด้วยเรื่องของ "การรู้เท่าทันอคติที่เรามีต่อกัน เพื่อจะได้เข้าอกเข้าใจกัน ในยุคที่มนุษย์สื่อสารถึงกันได้ใกล้ชิดที่สุด แต่กลับแตกแยกกันมากที่สุด"


ผมเองไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ "เอ๋ นิ้วกลม" ติดตามอ่านหนังสือของเขาอยู่บ้างบางเล่ม สำหรับเล่มนี้ผมรู้สึก "รสชาติแปลกไปจากที่คุ้นเคย" (นี่ก็อคติแบบหนึ่ง) ขอนิยามมั่ว ๆ ในแบบผมว่าเล่มนี้เหมือน "นิ้วกลมใส่สูท" เขาเขียนถึงเรื่องที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์ (คนเราต่างกันตั้งแต่ดีเอ็นเอ กรอบความคิด สมองส่วนหน้า ประสาทวิทยา) เขาพูดถึงการบรรยายบนเวที TED Talks ของนักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา ซึ่งเป็นรสชาติใหม่สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้อย่างผม ที่ยังติดคิดไปเองว่านิ้วกลมมักเขียนถึงปรัชญาตะวันออก และมักเขียนถึงประสบการณ์ตรงที่ได้ประสบพบด้วยตัวเอง


อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงเป็นเพราะช่วงโควิดที่ผ่านมา เขาน่าจะแทบไม่ได้เดินทาง จึงมีเวลาอ่านหนังสือเยอะขึ้น หลากหลายขึ้น และเป็นที่มาของบทความเหล่านี้ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้ในที่สุด


ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงว่าจะมีแต่พาร์ท "นิ้วกลมใส่สูท" เท่านั้นนะครับ เพราะส่วนอื่น ๆ ของเนื้อหาในเล่มยังคงมีความสนใจในแบบเดิมของเขาอยู่ นั่นคือเรื่องการทำความเข้าใจผู้คนผ่านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ปรัชญา จิตวิญญาณ โดยเฉพาะช่วงนี้เขาน่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดไม่น้อยจาก "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" ที่เขาอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ในเล่มนี้ (หลังจากที่ก่อนหน้านั้น เขาได้รับอิทธิพลจากอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์)


โดยสรุป ส่วนที่ผมชอบของเล่มนี้คือ หนังสือสวยมาก เนื้อหาแน่นมาก (อย่าหวังจะเอาไว้อ่านเล่น ๆ ผ่อนคลาย เล่มนี้สาระล้วน ๆ) และได้รายชื่อหนังสือที่น่าสนใจอีกหลายเล่ม (เกือบทุกเล่มมีแปลไทย เสียดายที่เขาไม่ได้ให้ชื่อภาษาไทยไว้ ใครอยากหามาอ่าน เวลา google ให้ใส่ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยคำว่า หนังสือ จะเจอครับ)


ส่วนข้อที่ผมยังไม่ชอบของเล่มนี้คือ รู้สึกว่าเนื้อหาในเล่มเป็นการบอกเล่าสรุปถึงสิ่งที่เขาเพิ่งอ่าน หากมีเวลาทิ้งช่วงไว้อีกสักนิด ให้ความรู้เหล่านี้ตกผลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขา ผมเชื่อว่านิ้วกลมจะเล่าได้เข้าปากกว่านี้


แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังอยากให้หามาอ่านกัน ผมเองดูรายชื่อหนังสือแต่ละเล่มที่เขาเขียนถึงแล้ว สารภาพว่าจนปัญญาทำความเข้าใจด้วยตัวเอง คงต้องพึ่งพาการเล่าของเขาจากหนังสือเล่มนี้แทน


"ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว" เขียนโดย "นิ้วกลม" สนพ.KOOB หนา 464 หน้า ราคาปกอ่อน 395 บาท


4.เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย

หน้าปกเท่มาก เนื้อหาก็มีประโยชน์ ผมเคยอ่านงานของผู้เขียนท่านนี้ (Mentalist DaiGO) มาบ้างบางเล่ม ยังสงสัยที่เขาบอกว่าเขาอ่านหนังสือปีละเป็นพันเล่ม เขาทำได้อย่างไร? สุดท้ายมาได้คำตอบในเล่มนี้


หลัก ๆ คือเขาไม่ได้อ่านทั้งเล่ม แต่เลือกเฉพาะจุดที่สนใจ ไม่ได้เน้นการอ่านเร็ว แต่เน้นอ่านจุดสำคัญ ตั้งเป้าไว้ล่วงหน้าว่าอยากได้อะไรจากการอ่านครั้งนี้ อ่านเสร็จตั้งคำถามกับตัวเองว่าได้อะไรบ้าง จะนำไปใช้อย่างไร จะนำไปถ่ายทอดต่ออย่างไร


สารภาพว่าก่อนอ่านผมมีอคติว่าคนเราจะอ่านเยอะไปทำไมขนาดนั้น สงสัยอ่านแบบผ่าน ๆ เน้นจำนวนเอามาโชว์หรือเปล่า แต่สิ่งที่เขาอธิบายในเล่มนั้นเข้าท่า สมเหตุสมผลครับ


ผมชอบตรงที่เขาไม่ได้ให้เน้นอ่านเร็ว เพราะแบบนั้นมันจะเป็นแค่ความรู้สึกว่าได้อ่าน อ่านข้ามแบบลวก ๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย แต่ทักษะการอ่านที่สำคัญคือการ Skimming (อ่านปก อ่านสารบัญ เปิดผ่านทั้งเล่มอย่างรวดเร็ว ดูโครงสร้าง แล้วเลือกอ่านเฉพาะจุดที่สนใจ) ซึ่งจะทำให้เราเก็บความรู้ได้เยอะ (หากต้องการ)


ผมชอบตรงที่เขาทำให้เราไม่รู้สึกผิดที่ไม่ต้องอ่านหนังสือทั้งเล่ม (เพราะหากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาในแนวที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว จะมีเนื้อหาที่จำเป็นจริง ๆ แค่ 10% เท่านั้น อันนี้เห็นด้วยมาก ๆ ผมรู้สึกบ่อย ๆ ว่าหนังสือแต่ละเล่มเขียนให้สั้นลงได้ถึง 80% แต่แค่ไม่มีใครยอมซื้อหนังสือเล่มบาง ๆ) หรือเล่มที่อ่านแล้วไม่ใช่ ก็หยุดอ่านได้ (หรือถ้าจะให้เป็นประโยชน์ จะเอามาวิเคราะห์ก็ได้ว่าหนังสือควรต้องปรับปรุงตรงไหนจึงจะน่าอ่าน)


และผมชอบตรงที่เขาสอนให้เราอ่านหนังสือแบบ "ตั้งคำถาม" ไปด้วยระหว่างอ่าน (ซึ่งผมทำแบบนี้อยู่แล้ว) ความหมายคืออ่านแบบเหมือนคุยกับคนเขียน ทำไมเขาเขียนแบบนี้ เขาวางโครงอย่างไร ทำไมเขาเล่าแบบนี้ ต้องการสื่ออะไร อันนี้เห็นด้วย อันนี้มั่วว่ะ อันนี้ต้องจด วิธีแบบนี้นอกจากจะสนุกกับการอ่านมากขึ้นแล้ว เรายังมีสติไม่ไหลหลงไปตามสิ่งที่ผู้เขียนเขียนอย่างเดียว พูดง่าย ๆ ว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เกิดปัญญาและจดจำได้ในเนื้อหา


"เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย" เขียนโดย Mentalist DaiGO แปลโดย ธาลินี โพธิ์อุบล สำนักพิมพ์​Amarin HOW-TO ราคาปก 225 บาท


5.Switch

หน้าปกสวยดี เข้าใจตั้งชื่อหนังสือ ผมจำได้ว่าเคยอ่านเล่ม Made to Stick ของผู้เขียนเดียวกันเมื่อหลายปีก่อนแล้วประทับใจ พอเห็นเล่มนี้ก็เลยไม่ลังเลที่จะอ่าน ฉบับภาษาอังกฤษออกมาตั้งแต่ปี 2010 แต่ภาษาไทยเพิ่งถูกแปลเมื่อปี 2021 เนื้อหาสาระในเล่มบางส่วนก็เลยถูกพูดถึงในหนังสือเล่มอื่น ๆ ไปแล้วจนรู้สึกเชยไปนิด (ทั้งที่จริง เขาเขียนมาตั้ง 10 ปีที่แล้ว)


เล่าแบบสั้น ๆ Switch ผู้เขียนพูดถึงพูดถึงวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งในระดับบุคคลและองค์กร ด้วยการเข้าถึงองค์ประกอบพื้นฐานทั้ง 3 อย่างที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นง่ายราวกับกดปุ่มเปิดสวิชท์ ได้แก่ หนึ่ง การเข้าถึงสมองส่วนที่ใช้เหตุผล (ผ่านการหาตัวอย่าง กำหนดเป้าหมาย และสร้างขั้นตอน) สอง การเข้าถึงสมองส่วนที่ใช้อารมณ์ (ผ่านทางการกระตุ้นความรู้สึก ลดทอนความยุ่งยาก และสร้างกำลังใจ) และสาม การเข้าถึงการออกแบบสิ่งแวดล้อมให้เป็นใจ (ผ่านทางการปรับแต่งสภาพแวดล้อม การสร้างนิสัยเล็ก ๆ และการใช้คนจำนวนมากมาสร้างพฤติกรรมเลียนแบบในทางที่ดี)


จุดเด่นของเล่มนี้คือ Chip Heath กับ Dan Heath สองพี่น้องนักเขียน พวกเขาเขียนหนังสืออ่านง่าย อ่านสนุกเมื่อเทียบกับหนังสือในแนวเดียวกัน เราจึงอ่านตัวอย่างที่ยกมาประกอบได้อย่างไหลลื่น โครงสร้างหนังสือก็ชัดเจน แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ แล้วซอยย่อยเป็นหัวข้อเล็ก (เหมาะกับการสรุปเป็น mind map บนกระดาษแผ่นเดียว)


อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของเล่มนี้ก็คล้ายกับหลายเล่มที่ผมเคยเขียนไว้ นี่คือหนังสือที่ผมเรียกเอาเองว่า "หนังสือที่สามารถเขียนให้จบได้ใน 10 หน้า แต่จำเป็นต้องเขียนให้ยาวถึง 300 กว่าหน้า เพราะถ้าเขียนสั้นเกินไป แล้วใครจะซื้ออ่าน" หนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยตัวอย่างที่สนับสนุนแนวคิดที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ ตัวอย่างที่ว่านั้นก็หลากหลายวงการ ทั้งธุรกิจ การศึกษา การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งในแง่ดีก็คือทำให้เราเห็นกรณีศึกษาเยอะ ๆ แต่ในแง่ไม่ดีก็คือ เนื้อหาซ้ำไปซ้ำมา คล้ายถูกสะกดจิตให้เชื่อผู้เขียนสักที


อีกอย่างที่ผมสงสัยมานาน (และยังคิดไม่ออกว่าจะหาคำตอบได้จากที่ไหน) ก็คือ ทำไมหนังสือแนว ๆ นี้ (จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ธุรกิจ) จึงถูกเขียนออกมาใน "วิธี" เดียวกันหมด เหมือนเรียนมาจากสำนักเดียวกัน นั่นคือ เปิดด้วยเรื่องเล่าบางอย่าง ค้างไว้ให้สงสัย เปลี่ยนไปเล่าเรื่องอื่น ดึงเข้าแนวคิดที่อยากนำเสนอ เล่าเรื่องใหม่อีกเรื่องที่สนับสนุนแนวคิด แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องที่เล่าค้างไว้ จากนั้นก็จะเป็นแบบนี้ซ้ำ ๆ ไปทุกบทจนจบเล่ม (และมักอ้างถึงหนังสือหรืองานวิจัยเดียวกัน เช่น หนังสือ Mindset : Carol S. Dweck หนังสือ Thinking, Fast and Slow : Daniel Kahneman เป็นต้น) ถ้าเป็นวงการเพลง จะเรียกอาการแบบนี้ว่า "ร้อยเนื้อ ทำนองเดียว" แต่วงการหนังสือ ไม่รู้เรียกอะไรเหมือนกัน แต่ยอมรับว่าทำให้ผมอ่านหนังสือแนวนี้น้อยลงมาก (เพราะเดาได้ อ่านแล้วไม่สนุก)


เขียนมายืดยาว เหมือนจะติจนไม่มีดี แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นหนังสือที่ดีครับ ได้คะแนนเยอะมากในเว็บ amazon ผมอ่านจบใน 2-3 วัน อ่านง่าย เข้าใจง่าย มีหลายอย่างที่นำไปปรับใช้กับชีวิตเราได้ ลองหามาอ่านกันดูครับ


"Switch กดปุ่มเปลี่ยนแปลง" เขียนโดย Chip Heath กับ Dan Heath แปลโดย วิโรจน์ ภัทรทีปกร สำนักพิมพ์วีเลิร์น ราคาปก 325 บาท


6.อย่าไปไหน

หนังสือนิยายแนะนำมาก ๆ เต็ม 10 ให้ 100 ภาษาเด็ดขาดบาดใจ ผมอ่าน 2 รอบติดต่อกัน ยังอยากอ่านอีกรอบและอีกรอบ ชื่อหนังสือ "อย่าไปไหน" เป็นนิยายอิตาลี ต้นฉบับออกมาตั้งแต่ปี 2001 ถูกสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันในปี 2004 (non ti muovere แปลว่า Don't Move) ฉบับแปลไทยออกมาในปี 2014 และผมเพิ่งเคยอ่านในปี 2022


พล็อตสั้น ๆ แบบไม่สปอยล์ นี่คือนิยายที่เขียนถึงเรื่องราวของ "ติโม" ศัลยแพทย์ชาวอิตาเลียนในวัย 50 กว่าปี วันหนึ่ง "อันเจลา" ลูกสาวเขาประสบอุบัติเหตุ เป็นตายเท่ากัน ที่หน้าห้องผ่าตัดนั้นเอง ระหว่างรอด้วยใจกระวนกระวาย ติโมได้เล่าเรื่องราวในซอกหลืบความทรงจำให้ลูกสาวฟัง มันเป็นการเล่าแต่เพียงในความคิด ความคิดถึงช่วงชีวิตหนึ่งเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ช่วงเวลาที่เขาใช้ทั้งหัวใจไปกับผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ภรรยา ไม่ใช่แม่ของลูกสาว เธอมีนามว่า "อิตาเลีย"


เล่าไว้เท่านี้ครับ ใครชอบอ่านนิยายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แนะนำมาก ไม่ผิดหวัง เรื่องราวไม่หวือหวา แต่ภาษาไม่ธรรมดา เป็นนิยายที่ผมต้องขีดไฮไลท์เน้นย้ำหลายบรรทัด (ขอคารวะผู้แปลที่แปลได้ดีงาม ราวกับนิยายเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาไทยตั้งแต่แรก "คุณ นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ")


ส่วนใครไม่เคยอ่านนิยาย อาจต้องใช้สมองส่วนที่ไม่ถนัดหน่อย นิยายไม่ใช่หนังสือประเภทที่จะสรุปสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ หรืออ่านผ่าน ๆ อย่างรวดเร็ว เล่มนี้ต้องใช้สมาธิ ค่อย ๆ ละเลียดทีละประโยค ทำความเข้าใจความรู้สึกตัวละคร แต่รับรองว่าคุ้มค่าที่จะอ่านช้า ๆ ผมอ่านแล้วจมหายไปในหน้ากระดาษ ไร้กาลเวลาและสถานที่ไปเป็นชั่วโมง