ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว หนังสือที่ผมอ่านในครึ่งปีแรก 2020 (ตอนที่ 3) ปี 2020 ผ่านครึ่งปีมาได้สักระยะแล้ว มีหนังสือหลายเล่มที่ผมเคยเขียนถึง เผื่อใครอาจจะเคยเห็นไม่ครบ ครั้งนี้ผมจึงรวบรวมไว้ในบทความนี้ที่เดียว ลองอ่านนะดูครับ เผื่อว่ามีเล่มไหนตรงกับความสนใจของคุณ
ตอนที่แล้ว เรามาถึงเล่มที่ 21 แล้ว มาต่อกันที่เล่ม 22 ครับ
22. ศูนย์รับฝากความเสียใจ เขียนโดย ซื่ออี
สนุกดี มีแง่คิด เล่มไม่หนา อ่านง่าย ใครชอบ "ร้านชำคุณนามิยะ" น่าจะชอบเล่มนี้ เนื้อหาว่าด้วยการส่งของย้อนกลับไปในอดีตคล้าย ๆ กัน
"ศูนย์รับฝากความเสียใจ" เป็นนิยายขายดีของไต้หวัน เขียนขึ้นในปี 2018 แปลไทยปี 2020 เรื่องราวว่าด้วย ณ สถานีรถไฟใต้ดินไทเป จะมีศูนย์รับฝากความเสียใจ ซึ่งบางคนเท่านั้นจะมองเห็น ศูนย์แห่งนี้เปิดทุกวันพุธ 17.00-19.00 น.เท่านั้น ผู้ที่มองเห็น จะฝากของอะไรก็ได้ย้อนกลับไปในอดีตให้ใครบางคน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเคยพบหน้าคนผู้นั้นมาก่อน ต้องส่งกลับไปได้แค่ในวันสุดท้ายที่ได้พบกัน และต้องไม่เปลี่ยนแปลงอดีต
ความสนุกของเรื่องนี้ อยู่ที่การผูกเรื่องราวของตัวละครให้มีจุดร่วมกันบางอย่างในปี 1999 ชีวิตของตัวละครทั้งเด็ก ชายหนุ่ม หญิงสาว คนชรา ต่างตัดมาบรรจบ พบเพื่อจาก แล้วพรากบางอย่างไปตลอดกาล แม้วันเวลาผ่านไป 18 ปี อดีตบางอย่างก็ยังค้างคา อยากกลับไปบอกบางคำกับบางคนในวันเก่า ...ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ แต่เพื่อคลี่คลายปมที่กักเก็บไว้ในใจ ทั้งปมของผู้รับและผู้ส่งของข้ามกาลเวลา
"เรื่องในอดีตไม่เคยจากไปไหน สิ่งที่ทำได้มีเพียงอยู่ร่วมกับมันอย่างสงบสุขเท่านั้น
ผมอ่านแล้วถูกใจในหลายประโยค แต่ประโยคที่ชอบที่สุดคือประโยคนี้ครับ "เรื่องในอดีตไม่เคยจากไปไหน สิ่งที่ทำได้มีเพียงอยู่ร่วมกับมันอย่างสงบสุขเท่านั้น ยอมรับการมีอยู่ของพวกมันให้ได้ จากนั้นก็เพียงให้อภัยตัวเอง" ซึ่งนี่น่าจะคือแก่นของหนังสือเล่มนี้ที่ผู้เขียนอยากบอกกับเรา
ฉบับภาษาไทยแปลดีมากครับ อ่านลื่นไหล ใครกำลังหาหนังสือที่อ่านแล้วอุ่น ๆ ในหัวใจ ...เล่มนี้เลย
ศูนย์รับฝากความเสียใจ ราคาปก 245 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่
23. คุณเด็ดผลไม้ลูกไหนในการทำธุรกิจ เขียนโดย Jeremy Eden & Terri Long
หนังสือแนะนำสำหรับผู้บริหาร ผู้จัดการ มีประโยชน์มาก แต่หากเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าว อาจไม่สนุกเท่าไหร่ เพราะค่อนข้างมีความเป็นคู่มือบริหารธุรกิจและทีมสำหรับใช้งานจริง ไม่เหมาะกับอ่านเล่น ๆ
Low Hanging Fruit เป็นสำนวนยอดนิยมที่เหล่าที่ปรึกษาธุรกิจนิยมใช้กัน แปลแบบตรงตัวก็คือ "ผลไม้ใกล้มือ" แต่สำหรับทางธุรกิจ หมายถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ยากเกินไป ใช้เวลาไม่นาน แก้แล้วเห็นผล ดีกว่าการพยายามเอื้อมมือคว้าผลไม้สูง ๆ ตั้งแต่แรก แล้วไม่เห็นผลสักที
แก้ปัญหาที่ไม่ยากเกินไป ใช้เวลาไม่นาน แก้แล้วเห็นผล ดีกว่าการพยายามเอื้อมมือคว้าผลไม้สูง ๆ ตั้งแต่แรก แล้วไม่เห็นผลสักที
ข้อดีของหนังสือเล่มนี้ก็คือ สั้น กระชับ เป็นบทย่อย เหมาะกับคนยุคนี้ที่ไม่อ่านอะไรยาว ผู้เขียนรวบรวม 77 ไอเดียในการปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจ งาน และคน โดยไม่ต้องเรียงลำดับก็ได้ หลายไอเดียน่าสนใจครับ เช่น วิเคราะห์ว่าอะไรคือสิ่งที่บริษัททุ่มเทลงไปในผลิตภัณฑ์ แต่ลูกค้าไม่ได้ต้องการสักหน่อย / วิธีกำจัดการด่วนสรุปคิดไปเองในที่ประชุม ด้วยการถามว่า "คุณรู้ได้อย่างไร?" ขอดูหลักฐานหน่อย / Brainstorm มีไว้เพื่อระดมความคิดหาปัญหา ไม่ใช่หาคำตอบ / ปรับปรุงธุรกิจจากการมองผ่านสายตาพนักงานใหม่และคู่ค้า / จัดลำดับการจ้างคนนอกไว้ท้ายสุด ให้ลองมอบหมายคนในบริษัทก่อน หรือดีที่สุดคือให้ถามว่า จริง ๆ งานนี้ไม่ควรต้องทำตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า?
ส่วนข้อเสียคือ ชื่อหนังสือที่ถ้าไม่ใช่คนในวงธุรกิจ คงไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร รวมถึงหน้าปกหนังสือที่จืดชืดมาก และสุดท้าย วิธีเขียนที่อาจไม่มีชั้นเชิงไปหน่อย ออกแนวตำรานักบริหาร (แต่เนื้อหาดี ใช้งานได้จริง)
คุณเด็ดผลไม้ลูกไหนในการทำธุรกิจ ราคาปก 260 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่
24. Back to The 90s เขียนโดย Vintage Motion
หนังสือแนะนำสำหรับคนรักหนังและหนังสือ (ไม่ได้ค่าโฆษณา) เขียนโดยเจ้าของเพจ Vintage Motion แค่เห็นแพ็คเก็จหนังสือที่ทำเป็นวิดีโอเทป ผมก็กดสั่งซื้อเลย
พอได้เล่มจริงมา ก็สมปรารถนา คุณภาพกระดาษงานพิมพ์ดีมาก เล่มหนาใหญ่ สำหรับเก็บสะสมได้เลย เนื้อหาว่าด้วยหนังในยุค 90s ไม่เชิงเล่าเรื่องย่อให้ฟัง แต่พูดถึงเบื้องหลังหนังแต่ละเรื่องแบบไม่ยาวมาก แต่นั่นก็ทำให้เราได้ทบทวนหนังยุคนั้นถึงกว่า 150 เรื่อง เช่น Pretty Woman,The Silence of the Lambs, Basic Instinct, Mrs.Doubtfire, Forrest Gump, Se7en, Jerry Maguire, Contact, The Truman Show, Fight Club ใครเห็นชื่อหนังเหล่านี้แล้วระลึกชาติ หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคุณ
ข้อด้อยประการเดียวของหนังสือก็คือ ไม่มีภาพประกอบหนังหรือใบปิด เพราะปัญหาลิขสิทธิ์ จึงเต็มไปด้วยตัวหนังสือรัว ๆ (มีภาพประกอบที่วาดขึ้นใหม่แบบปกหนังสือ) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเรียบเรียงได้ดีมาก แค่เพียงตัวหนังสือก็น่าอ่านแล้ว และทำให้ผมต้องไปค้นหนังเก่าเหล่านี้มาดูซ้ำอีกรอบ เพื่อ back to the 90s ...ชอบมากครับ
Back to The 90s ราคาปก 620 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่
25. ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปเสียก่อน เขียนโดย Jason Fried, David Heinemeier Hansson
อ่านง่าย ได้ไอเดียเอาไว้ปรับใช้กับโลกการทำงานที่ใครหลายคน "ยุ่งจนแทบบ้า" เล่มไม่หนา ซื้อมาแล้วอ่านจบแน่ (เล่มนี้ผมเคยพูดถึงใน Food for Thought ตั้งแต่ต้นปี 2019 ดีใจที่ปี 2020 มีฉบับแปลไทยให้ได้อ่านกันครับ)
It Doesn’t Have to Be Crazy at Work ฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นในปี 2018 ว่าด้วยรูปแบบการทำงานของบริษัทยุคใหม่ ที่มีประสิทธิภาพได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ประชุมนาน กลับบ้านดึก
หนังสือเล่มนี้เล่าถึงประสบการณ์ที่ผู้เขียนทั้งสองคนใช้ในบริษัทของเขามา 20 ปีแล้ว (ทำซอฟท์แวร์บริหารจัดการการสื่อสารในองค์กร) บริษัทของพวกเขามีความสงบ สบาย มียอดขายแบบไม่เครียด ผู้เขียนเรียกบริษัทแบบของเขาว่า The Calm Company มีสโลแกนเหมือนชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "ไม่ต้องทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง ก็สร้างผลงานได้" (สองคนนี้เป็นนักเขียนเจ้าของหนังสือขายดีชื่อ rework กับ remote มีแปลเป็นไทยทั้งคู่ครับ)
วิธีเขียนของเล่มนี้อ่านง่ายครับ เหมาะกับคนยุคนี้ เขาแบ่งเป็น 7 หัวข้อใหญ่ ๆ แล้วซอยย่อยเป็นบทสั้น ๆ อีกหลายสิบบท บทละ 3-4 หน้า แต่ได้ไอเดียครอบคลุมวิธีการทำงานหลายอย่าง เช่น...
ทะเยอทะยานแต่พอดี ไม่ต้องถึงกับเปลี่ยนโลก แค่ทำหน้าที่แต่ละวันให้ดีที่สุดก็พอ / ปกป้องเวลาของเราจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น การประชุม การตอบอีเมล หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานที่เอาเวลาเราไป / เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ทำให้เครียด เช่น วัฒนธรรมแบ่งเวลาชัดเจนเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว วัฒนธรรมให้ที่ทำงานมีความเงียบสงบเหมือนห้องสมุด
ทะเยอทะยานแต่พอดี ไม่ต้องถึงกับเปลี่ยนโลก แค่ทำหน้าที่แต่ละวันให้ดีที่สุดก็พอ
ใครเป็นหัวหน้า มีบริษัท มีลูกน้องต้องบริหาร อ่านเล่มนี้น่าจะได้แนวคิดบางอย่างไปปรับปรุงให้บริษัทมีทั้งกำไรและความสุข หรือใครเป็นลูกน้อง จะซื้อเล่มนี้ไปฝากหัวหน้าก็ได้ แล้วบอกว่าเอาแบบนี้ที่นึงครับหัวหน้า (ฮา)
ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปเสียก่อน ราคาปก 225 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่
26. 12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต เขียนโดย Jordan Peterson
เป็นเล่มที่พูดยากครับว่าจะแนะนำดีหรือเปล่า เนื้อหาดี แต่อ่านยากมาก ก ไก่ล้านตัว ไม่เรียบง่ายเหมือนหน้าปกขาว ๆ และหนาถึง 400 กว่าหน้า ใครอยากฝึกสมาธิ อยากอ่านความรู้ทั้งเรื่องของจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ การเมือง การปกครอง สังคม เศรษฐศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และอีกมากมายหลายแขนงความรู้ที่ผู้เขียนปั่นรวมไว้ ก็แนะนำเล่มนี้เลยครับ ส่วนใครไม่แน่ใจ ทดลองอ่านได้ ที่นี่ สนพ.ใจดีให้อ่านฟรีถึง 78 หน้า
12 Rules for Life: An Antidote to Chaos โดย Jordan Peterson นักจิตวิทยาคลินิกและศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เขียนขึ้นในปี 2018 เป็น bestseller ขายได้หลายล้านเล่ม เนื้อหาเป็นเสมือนคำแนะนำให้กับชีวิตยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว โรงเรียน หรือระดับประเทศ
ผู้เขียนเปิดประเด็นด้วยการบอกว่า เขาเชื่อว่ามนุษย์เราต้องการกฏระเบียบบางอย่าง ต้องการค้นหาความหมายในชีวิต นั่นจึงเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของศาสนาต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนเครื่องชี้ทางให้เราทำดี และค้นหาความหมายของการเกิดมาบนโลกใบนี้
แต่โลกในปัจจุบันมีความยุ่งเหยิงเกิดขึ้นมากมาย หลายคนบอกว่าชั่วดีไม่มีอยู่จริง แล้วแต่เราจะตีความ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ฟังคนรุ่นก่อน ต่างคนต่างคิด ไม่มีการส่งทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เกิดการแบ่งกลุ่มย่อย ๆ สร้างระบบความเชื่อกันเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเอง และอาจเรียกได้ว่าโลกกำลังอยู่ในความยุ่งเหยิงหรือ Chaos
ผู้เขียนจึงอยากจะแชร์กฏ 12 กฏในความคิดของเขาที่เป็นเหมือน Antidote หรือยาบรรเทาความยุ่งเหยิงเหล่านี้ไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยเป็นเรื่องที่เรานำมาปฏิบัติเริ่มต้นจากตัวเองได้ เพื่อทำให้โลกนี้กลับมามีระเบียบอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น
กฎข้อที่ 1 จงยืนตรงอกผายไหล่ผึ่ง (เพราะอีกฝ่ายประเมินเราจากท่าทาง)
กฏข้อที่ 2 จงปฏิบัติกับตัวเองให้เหมือนกับตอนที่เราดูแลคนอื่น
กฏข้อที่ 3 จงเป็นเพื่อนกับคนที่อยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเรา
กฏข้อที่ 4 จงเปรียบตัวเรากับตัวเอง อย่าเปรียบเทียบกับคนอื่น
กฏข้อที่ 5 อย่าปล่อยให้ลูกทำในสิ่งที่แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังไม่ชอบ
ทั้งหมดนี้ฟังดูคล้ายหนังสือ How to พัฒนาตัวเองที่มีอยู่ล้นตลาด และคนอ่านก็คาดหวังว่าคงได้อ่านหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ อ่านจบแล้วรู้สึกดี มีกำลังใจ ...แต่ผมบอกไว้ก่อนเลยว่า ใครที่คิดแบบนั้น คุณจะต้องพบกับความผิดหวัง เนื่องจากอย่างที่บอกไปแล้วครับว่าหนังสือเล่มนี้ "อ่านยากมาก" ไม่ใช่เฉพาะฉบับภาษาไทย แต่ฉบับอังกฤษก็ยากไม่แพ้กัน
หนังสือเล่มนี้ "อ่านยากมาก" ไม่ใช่เฉพาะฉบับภาษาไทย แต่ฉบับอังกฤษก็ยากไม่แพ้กัน
ไม่ใช่คนเขียนไม่เก่ง ไม่ใช่เขียนไม่ดี แต่มันคล้ายกับเราได้ฟังศาสตราจารย์ทรงภูมิปัญญาสักท่าน เล็กเชอร์วิชาศาสนา ปรัชญา การเมือง และอื่น ๆ ให้เราฟังหลายชั่วโมงต่อเนื่อง เมื่อออดดัง เราจะรู้สึกดี เหมือนมีความรู้ แต่ก็แอบงงว่าอะไรนะ? เต็มที่ก็จำได้แต่หัวข้อของ 12 กฏ แต่เข้าใจเนื้อหาข้างในน้อยมาก ๆ ว่ามันเกี่ยวกับหัวข้ออย่างไร ...สมองบวมไปหมด
[เว้นแต่คุณจะมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นคำว่า ทรราชย์ที่ใช้ในเล่มนี้ ภาษาอังกฤษคือ Tyrant ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการเมืองเลย แต่คือรูปแบบ 3 เหลี่ยมความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Drama Triangle ได้แก่ Victim (ชอบทำตัวเป็นเหยื่อ ...ฉันมันน่าสงสาร) Tyrant (ชอบกดขี่คนอื่น ...เป็นความผิดของเธอ) Savior (ชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่มักเอาตัวเองไม่รอด)]
อย่างไรก็ตาม ผมย้ำอีกทีว่าเป็นหนังสือที่ดีนะครับ ผมอ่านถึง 3 รอบ อ่านฉบับอังกฤษ 1 รอบ อ่านเพื่อเล่าไว้ในคอร์ส Food for Thought และอ่านฉบับไทยอีก 2 รอบ จึงจะพอเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนกำลังบอกเราว่ามันลึกซึ้งกว่าแค่หัวข้อ 12 กฏดังกล่าวที่อ่านเผิน ๆ เหมือน "ฉันรู้อยู่แล้ว"
สรุปอีกที ใครอยากลองของหนัก ต้องจัดเล่มนี้ ใครสายเบา ๆ ไม่เน้นสาระมาก ให้ผ่านไปเลย ชีวิตยังมีเล่มอื่นเสมอ
12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต ราคาปก 395 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่
27. ออริจินอลส์ เขียนโดย Adam Grant
เล่มนี้ชอบการออกแบบหน้าปก สวยกว่าฉบับภาษาอังกฤษมาก ดีใจที่วีเลิร์นยุคใหม่เลิกทำปกเรียบ ๆ (เกินไป) แล้วหันมาออกแบบให้ทันสมัย (อีกเล่มที่ปกสวยมากคือ 1+1 =3 ของ Dave Trott) ส่วนเนื้อหา...เป็นอีกเล่มที่ลำบากใจครับ คือจะบอกว่าไม่ดีก็ไม่ใช่ แต่จะบอกว่าดีก็ไม่เชิง แถมยังเป็นเล่มที่ได้รับคำชมเยอะ จนผมเริ่มรู้สึกว่านี่ฉันอ่านหนังสือไม่แตกหรือเปล่า ทำไมไม่รู้สึกชื่นชมขนาดนั้น
จนได้มาอ่านรีวิวใน amazon อย่างน้อยก็ใจชื้นว่ามีคนคิดเหมือนเรา
Originals โดย Adam Grant ฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นในปี 2015 แปลไทยปี 2020 ชื่อหนังสือและคำโปรยให้ความคาดหวังว่าน่าจะเป็นหนังสือที่สอนเราว่า "ทำอย่างไรฉันจะมีความคิดที่เป็นออริจินัล?"
ปัญหาก็คือคำว่า Originals นั้นให้ความสับสนอยู่นิด ๆ ว่ามันหมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ หรือหมายถึง ผู้นำ คนที่กล้าทำสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ (ซึ่งอาจไม่ต้องสร้างสรรค์ก็ได้)
หนังสือเล่มนี้จึงก้ำกึ่งในความคาดหวังว่าตกลงแล้ว มันมีไว้สำหรับความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นผู้นำ(ธุรกิจ)กันแน่? หนังสือก็เลยกวาดทั้งสองแบบ แถมผู้เขียนยังทำให้เนื้อหา "หนัก" ขึ้นไปอีก หลายตัวอย่างที่เขานำมาอ้างถึง เป็นเรื่อง "การเมือง สีผิว ความเท่าเทียม" เช่น Martin Luther King / Lucy Stone (ซึ่งมีความอเมริกันสุด ๆ และผมอ่านแล้วไม่อิน อ่านข้าม ๆ ไป)
อย่างไรก็ตาม ต้องแก้ต่างให้ผู้เขียนด้วยครับ เพราะอันที่จริง ฉบับภาษาอังกฤษนั้นมีคำโปรยว่า How Non-Conformists Move the World นั้นก็ให้ความหมายเป็นนัยแล้วว่า "การขยับโลก" ครั้งนี้ทำโดย Non-Conformists หรือผู้ที่ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสสังคม (ซึ่งมีกลิ่นสังคมและการเมืองอยู่ไม่น้อย)
เอาล่ะ ถึงจะบ่นมาเสียเยอะ แต่หนังสือเล่มนี้มีข้อดีอยู่ไม่น้อยครับ เริ่มจาก เขียนอ่านง่าย โครงสร้างชัดเจน มีบทนำว่าจากนี้ไปแต่ละบทกำลังจะเล่าเรื่องอะไร พอขึ้นบทใหม่ก็บอกอีกครั้งว่าเนื้อหาในบทต้องการพูดถึงประเด็นอะไร คนอ่านอย่างเราจึงไม่หลงทางระหว่าง 300 กว่าหน้าที่อ่าน (และดูเหมือนว่า Adam Grant จะชอบดูหนังฟังเพลง จนเอาชื่อหนังและเพลงมาดัดแปลงเป็นชื่อบทด้วย เช่น Fool Rush In / Rebel with a Cause / Rocking the Boat
ตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจ เช่น วิธีคัดกรองความคิด เพื่อลดโอกาสตัดสินใจพลาด / จะเสนอแนวคิดที่แตกต่างของเราตอนไหนดี ผู้คนจึงยอมรับ / การผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ต้องรีบทำให้เสร็จ มีข้อดีอย่างไร / จะสร้างพันธมิตรคิดต่างแบบเราได้อย่างไร
หนังสืออ้างถึงข้อมูลนั้นนี้ นักเขียนคนนั้นคนนี้ จนเหมือนเราได้อ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม
ข้อดีอีกข้อก็คือ หนังสืออ้างถึงข้อมูลนั้นนี้ นักเขียนคนนั้นคนนี้ จนเหมือนเราได้อ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม เช่น Quiet ของ Susan Cain, Work Rules ของ Laszlo Bock หรือ Principles ของ Ray Dalio รวมไปถึงการทดลองอื่น ๆ ตามสไตล์ Social Science ที่ชอบทดลองดูพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ บวกด้วยตัวอย่างกรณีการตัดสินใจผิดพลาดทางธุรกิจ เช่น Segway ที่ Steve Jobs มั่นใจมากว่ามันจะประสบความสำเร็จ...ซึ่งไม่จริง หรือบริษัท Polaroid ที่เชื่อมั่นเกินไปว่ายังไงคนเราก็จะต้องอัดภาพลงกระดาษเสมอ
ก่อนจบการรีวิว ขอทิ้งท้ายอีกนิด ขอติอีกหน่อย (ซึ่งเป็นวิธีที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ "ผู้คนประเมินว่านักวิจารณ์ที่ติเตียน เฉลียวฉลาดกว่านักวิจารณ์ที่ชมเชย) ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเล่มนี้ไม่ค่อย Originals สักเท่าไหร่ เขียนดี ข้อมูลแน่น แต่ถ้าเคยอ่านหนังสือแนว ๆ นี้ ก็จะพบว่าเนื้อหาไม่หนีกันมาก ที่สำคัญวิธีการเขียนยังทำให้นึกถึงนักเขียนในแนวทางนี้อย่าง Malcolm Gladwell, Charles Duhigg หรือ Daniel pink เขาเหล่านี้เขียนด้วยวิธีการเดียวกัน คือ เปิดด้วยเรื่องเล่าของใครบางคน แล้วนำไปสู่ข้อสรุปที่น่าประหลาดใจบางอย่าง...บอกตรง ๆ ว่าผมค่อนข้างเอียนแนวนี้แล้วครับ
สรุป! ไม่แย่ อ่านได้ ไม่เสียเวลา แต่ผมไม่ประทับใจขนาดนั้น ใครที่ชอบหนังสือแนว "วีเลิร์น" เล่มนี้สำเนาถูกต้อง 100% คุณจะชอบมันมาก
"ออริจินอลส์" ราคาปก 330 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่
หมายเหตุ : อ่านตอนที่ 1 ของ "หนังสือที่ผมอ่านในครึ่งปีแรก 2020" ได้ ที่นี่
コメント