top of page

หนังสือที่ผมอ่านในครึ่งปีแรก 2020 (ตอนที่ 2)

Updated: Aug 10, 2020

ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว หนังสือที่ผมอ่านในครึ่งปีแรก 2020 (ตอนที่ 1) ปี 2020 ผ่านครึ่งปีมาได้สักระยะแล้ว มีหนังสือหลายเล่มที่ผมเคยเขียนถึง เผื่อใครอาจจะเคยเห็นไม่ครบ ครั้งนี้ผมจึงรวบรวมไว้ในบทความนี้ที่เดียว ลองอ่านนะดูครับ เผื่อว่ามีเล่มไหนตรงกับความสนใจของคุณ


ตอนที่แล้ว เรามาถึงเล่มที่ 7 แล้ว มาต่อกันที่เล่ม 8 ครับ


8. การตลาดที่ดี เริ่มต้นที่การให้ เขียนโดย Jay Baer


หนังสือเล่มบาง อ่านง่าย วันเดียวจบ เหมาะกับคนอยากเรียนรู้การตลาดแบบ "ยิ่งให้ยิ่งได้"


ฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ฉบับภาษาไทยแปลในปี 2018 แต่ผมเพิ่งได้อ่านต้นปี 2020 เนื้อหาพูดถึงการตลาดยุคใหม่ ที่เจ้าของธุรกิจต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง "การขาย" กับ "การช่วยเหลือผู้คน"


ผู้เขียนบอกอย่างนี้ครับว่า ถ้าเราแค่ขายสินค้า เราก็จะได้ลูกค้าในวันนี้ แต่วันหน้าเขาอาจไม่ซื้อแล้วก็ได้ แต่ถ้าเราช่วยเหลือผู้คนด้วยความจริงใจ เราจะได้ลูกค้าตลอดไป เพราะความผูกพันเกิดขึ้นแล้ว


เพราะฉะนั้นคำถามที่เราต้องถามตัวเอง จึงไม่ใช่คำถามที่ว่า "ฉันจะโปรโมทสินค้าอย่างไรให้โดดเด่นในโลกออนไลน์?"​ แต่ต้องถามใหม่ว่า


"ฉันจะช่วยเหลือผู้คนด้วยความรู้ที่ฉันมีอย่างไรได้บ้าง?"

พูดง่าย ๆ ว่าไม่ได้มองไปที่ประโยชน์ของตัวเราก่อน คือ "ยอดขาย" แต่มองไปที่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อน คือ "ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับผู้คน" ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า Youtility นั่นเอง


ผู้เขียนขยายความต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ชาติมนุษย์นั้น มีหลักการตลาดในการสร้างการรับรู้อยู่ 3 ประเภท คือ เป็นที่หนึ่งในใจ (หรือ Top-of-mind Awareness) อยู่ในความคิด (หรือ Frame-of-mind Awareness) และสุดท้าย เป็นเพื่อนสนิทกับผู้คน (หรือ Friend-of-mine Awareness)


เล่าแบบสั้น ๆ ก็คือ เมื่อก่อนใช้การอัดโฆษณาเยอะ ๆ ในทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์จนคนจำได้ เป็นที่หนึ่งในใจ ต่อมาก็เป็นยุคเสิร์ชข้อมูล ลูกค้าค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้เองจาก google แต่ตอนนี้ข้อมูลทะลักโลก สื่อก็กระจาย อัดโฆษณาไม่ไหว กูเกิ้ลไปก็ไม่เจอ หรือบางทีใช้ค้นหาจากช่องทางอื่นก็มี เช่น facebook


เพราะฉะนั้นหนทางที่จะทำให้ผู้คนนึกถึงเราก็คือ ต้องสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขา เราคือเพื่อนที่พึ่งพาได้ ให้แต่สิ่งดี ๆ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือ เมื่อนั้นเราจะกลายเป็นเพื่อนกับผู้คน และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีสินค้าหรือบริการ ก็เพียงแค่แนะนำ บอกกล่าว ลูกค้าก็จะสนใจทักมาซื้อเอง แถมยังบอกต่อคนอื่นด้วยซ้ำ


ข้อดีของเล่มนี้ก็คือ เขียนไม่ยาวมาก ร้อยกว่าหน้า โครงสร้างก็ชัดเจน เข้าเรื่องทันที อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็คือ มันเป็นเพียงแค่คอนเส็ปต์ที่เราต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมอีกที หรือไม่ก็ต้องให้ผู้เขียนมาบรรยายที่บริษัท (จึงอาจมองได้ว่าหนังสือเล่มนี้คือแผนการตลาดอย่างหนึ่ง ที่ให้ก่อนได้รับ) รวมทั้งกรณีศึกษาที่ยกมาประกอบก็เป็นตัวอย่างต่างประเทศที่เราอาจไม่อินสักเท่าไหร่


อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมคิดว่า เนื่องจากหนังสือออกมาได้ 7 ปีแล้ว บางอย่างก็อาจเปลี่ยนไปแล้ว เช่น ยุคนี้การขายตรง ๆ ไปเลยก็ได้ผลมากกว่าแต่ก่อน เพราะทุกคนเริ่มรับรู้แล้วว่าการขายในออนไลน์เป็นเรื่องปกติ (โดยเฉพาะในไทย) เราจึงเห็นหลายเพจ ไม่ได้ให้สาระความรู้มากนัก แต่ขายตรง ๆ ก็ขายได้ขายดี ขอเพียงของสิ่งนั้นมีคนต้องการจริง ๆ เอาเป็นว่า ลองหาวิธีที่เหมาะกับธุรกิจของตัวเองก็แล้วกันครับ เรื่องแบบนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ


การตลาดที่ดี เริ่มต้นที่การให้ ราคาปก 225 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่


9. ตลอดชีวิตจะดีหรือร้าย อยู่ที่ว่าคุณคิดอย่างไรในวัย 20 เขียนโดย Meg Jay


จริง ๆ เล่มนี้ควรชื่อ "น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 (กว่า ๆ)" เพียงแต่ว่ามีหนังสือชื่อดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม นี่คือหนังสือที่วางตัวเองว่าเป็น "คำแนะนำสำหรับคนวัย 20-30 ปี" หรือที่ภาษาอังกฤษผู้เขียนตั้งชื่อว่า The Defining Decade หรือ "ทศวรรษที่นิยามความเป็นเรา" โอโห...เล่นใหญ่มาก


ฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2012 ฉบับภาษาไทยแปลเมื่อปลายปี 2019 พูดถึงช่วงเวลา 10 ปีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากที่สุด นั่นคือ ช่วงวัยที่เรียกว่า Twentysomething หรือคนช่วงวัย 20-30 ปีนั่นเอง


หนังสือบอกว่าช่วงทศวรรษดังกล่าว คือการปูรากฐานไปสู่ชีวิตที่เหลือ เป็นช่วงที่มีหลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิต มีการลองผิดถูก มีความท้าทาย มีความสับสนปนกันไป และเป็นช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะมาก แต่หลายครั้งกลับได้รับการใส่ใจน้อยเกินไป โดย Meg Jay ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เธอเป็นนักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาคนช่วงวัยดังกล่าวเยอะมาก จึงอยากบอกเล่าสิ่งที่เป็นเสมือนคำแนะนำให้กับคนช่วงวัย 20-30 ครับ


หนังสือแบ่งเป็น 3 พาร์ทหลัก ๆ พูดถึงเรื่อง งาน ความรัก สมองและร่างกาย โดยแต่ละส่วนเป็นการเล่าจากกรณีต่าง ๆ ที่มีคนมาเข้ารับการปรึกษากับผู้เขียนที่คลินิก แล้วเธอจึงกลั่นมาเป็นเรื่องเล่าพร้อมคำแนะนำให้กับเรา


ประเด็นที่ผู้เขียนพูดถึงมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น อย่าเลือกทำงานง่าย ๆ ให้อิสระ แต่เป็นงานที่ต่ำกว่าความสามารถ แต่ให้หางานที่มอบประสบการณ์และความรู้ให้กับเรา ไม่อย่างนั้นพออายุมากขึ้น ประวัติการทำงานจะไม่สวยงาม หรืออีกคำแนะนำ อย่ามัวแต่ขลุกอยู่กับคนที่เหมือน ๆ กับเรา เพราะโอกาสจะมาจากคนที่ห่างไกลเราออกไป ซึ่งเป็นคนที่ไม่เหมือนเรา


โอกาสจะมาจากคนที่ห่างไกลเราออกไป ซึ่งเป็นคนที่ไม่เหมือนเรา

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกหลังจากอ่านจบ ผมพบว่าชื่อหนังสือสร้างความคาดหวังเกินไปหน่อย ผู้เขียนส่งมอบเนื้อหาไม่ได้ตามที่ผมหวังไว้ คำแนะนำหลายอย่างพื้น ๆ เกินไป หรืออย่างพาร์ทที่ 3 ซึ่งว่าด้วยสมองและร่างกาย ก็ดูพยายามที่จะแตะเรื่อง Neuroscience ซึ่งเป็นเรื่องยอดฮิตในช่วงเวลาที่หนังสือต้นฉบับออกมา หรือคำแนะนำสำคัญอย่างเรื่องการเก็บเงินก็แทบไม่มีเลย


และสุดท้าย สไตล์การเขียนแบบที่นำบทสนทนากับผู้เข้ารับคำปรึกษามาลงไว้ (ซึ่งคงเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรายละเอียด) ส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ รู้สึกเยิ่นเย้อ ถ้าตัดบทสนทนาตรงนี้ออกไป หนังสือจะหนาน้อยลงครึ่งหนึ่ง


ผมอ่านฉบับแปลไทยควบคู่กับฉบับภาษาอังกฤษ พบว่ามีบางคำ ที่น่าจะใช้คำอื่นแทน เพื่อความสละสลวย เช่น คำว่า Client ซึ่งฉบับไทยแปลว่า "ลูกค้า" ทั้งที่จริง คำนี้ในแวดวงจิตวิทยา คือคำที่ใช้คู่กับ Counselor ซึ่งหมายถึงนักจิตวิทยาผู้ให้ปรึกษา เพราะฉะนั้น Client จึงควรแปลว่า "ผู้เข้ารับการปรึกษา"


หรืออย่างคำว่า Commitment ฉบับภาษาไทยแปลว่า "การผูกมัด" ซึ่งฟังดูไม่ดี เป็นทุกข์ เนื่องจากผู้เขียนกำลังพูดถึงเรื่องการแต่งงาน เธอเขียนว่า You'll never know with complete certainty. Marriage is a commitment, not a gaurantee. ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะแปลว่า ไม่มีอะไรแน่นอนหรอก การแต่งงานนั้นไม่มีใครรับรองผล 100% แต่คือเรื่องที่คนสองคนมีพันธะสัญญาต่อกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน


สรุป สำหรับเล่มนี้ ดีน้อยกว่าที่คิด แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนังสือที่ดีครับ แต่ทั้งหมดนี้อย่าเชื่อผมมาก เพราะผมอายุเกิน 20 ไปเยอะแล้ว บางทีคนอายุ 20 กว่า ๆ อ่านแล้วอาจจะชอบก็ได้


The Defining Decade ฉบับภาษาไทย ราคาปก 240 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่


10. กฎการทำงานของ Google เขียนโดย Laszlo Bock

จริง ๆ ออกจะช้าไปหน่อยที่แนะนำเล่มนี้ เพราะผมเห็นหลายคนชื่มชมกันนานแล้ว ใครมีลูกน้อง ใครมีหัวหน้า ใครต้องบริหารคน ใครถูกคนบริหาร หนังสือเล่มนี้จะชวนให้ฉุกคิดในหลายประเด็น แม้ไม่เห็นด้วยในบางอย่าง แต่ก็จะทำให้เห็นมุมมองที่ต่างไปจากเดิม


หนังสือฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นในปี 2015 ฉบับภาษาไทยแปลเมื่อปี 2019 เขียนโดย Laszlo Bock รองประธานฝ่ายพัฒนาบุคคล หรือ People Operation ของ Google บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีคนอยากสมัครเป็นพนักงานมากที่สุด บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีกระบวนการสัมภาษณ์งานที่ยากและยาวนาน และบริษัทที่ได้ชื่อว่าพนักงานมีความสุขติดอันดับต้น ๆ ของโลก


หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนเปิดเผยกฏแห่งการทำงานที่ใช้กันในกูเกิ้ล ตั้งแต่วิธีการหาคนเก่ง ๆ มาร่วมงาน วิธีคัดเลือกผู้สมัครงาน วิธีพัฒนาคน วิธีให้ผลตอบแทน ไปจนถึงวิธีดูแลให้พนักงานมีความสุข ถือเป็นหนังสือที่ดีมากสำหรับผู้ที่ต้องการบริหารจัดการผู้คน


เนื้อหาบางอย่าง เราอาจเคยผ่านหูผ่านตาจากการหยิบยกมาเล่าต่อในหลาย ๆ ช่องทาง เช่น การให้ผลตอบแทนที่ไม่แฟร์ แต่ต้องให้ ถ้าพนักงานคนนั้นเก่งจริง หรือวิธีคิดเกี่ยวกับสวัสดิการที่กูเกิ้ลจัดให้พนักงาน อย่างไรก็ตาม พอได้อ่านเล่มนี้ จิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจายจากการได้ยินได้ฟังจากหลายที่ จึงรวมกันเป็นภาพใหญ่ให้เราเห็นทั้งหมด การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงคุ้มค่าอย่างยิ่ง


การให้ผลตอบแทนที่ไม่แฟร์ แต่ต้องให้ ถ้าพนักงานคนนั้นเก่งจริง

จุดอ่อนของเล่มนี้คือ "ความหนา" ภาษาไทยหนาเกือบ 500 หน้า หลายคนจึงถอดใจ แต่ผมอยากบอกว่า จุดแข็งของเล่มนี้คือ "อ่านสนุกมาก" คนเขียนเขียนเก่ง ไม่รู้เขียนเองหรือเปล่านะครับ เพราะปกติหนังสือที่เขียนโดยผู้บริหารระดับสูง มักจะน่าเบื่อ ยืดเยื้อ เล่มอื่นที่ผู้บริหารกูเกิ้ลเขียนหนังสือ ผมรู้สึกว่าอ่านไม่ค่อยสนุก แต่เล่มนี้อ่านง่าย มีอารมณ์ขัน พูดถึงจิตวิทยา พูดถึงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เปิดเผยรายละเอียดชัดเจน ไม่ใช่มีแต่แนวคิด แต่เล่าวิธีที่เขาใช้ในกูเกิ้ลจริง ๆ


โดยเฉพาะเรื่องการสัมภาษณ์เพื่อเฟ้นหาพนักงานคุณภาพ หัวข้อนี้หัวข้อเดียว ผมว่าใครได้อ่าน (โดยเฉพาะ HR) แล้วนำไปปรับใช้กับบริษัท เท่านี้ก็คุ้มมากแล้ว


กฎการทำงานของ Google ราคาปก 395 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่


11. ทุกสิ่งเริ่มต้นที่ไอเดีย เขียนโดย Ed Catmull


หนังสือแนะนำสำหรับคนที่มีทีมงาน และอยากให้ทีมกล้าพูด กล้าวิจารณ์กันอย่างสร้างสรรค์ในที่ประชุม ในขณะเดียวกัน ก็มีคนกล้าลองทำไอเดียใหม่ ๆ โดยไม่กลัวคำวิจารณ์ด้วย


Creativity Inc. ฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นในปี 2014 ฉบับภาษาไทยวางจำหน่ายปลายปี 2018 เล่าถึงเบื้องหลังของบริษัท Pixar บริษัทแอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์และตัวเลขผลประกอบการ เจ้าของการ์ตูนอนิเมชั่นที่คนทั่วโลกชื่นชอบอย่าง Toy Story และ Nemo


เนื้อหาในเล่มเล่าโดยประธานบริษัทและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอย่าง Ed Catmull เรื่องที่เขาเล่านั้นไม่ได้ใช้ได้เฉพาะวงการอนิเมชั่นเท่านั้น แต่ใครก็ตามที่อยากบริหารจัดการบริษัทที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ อยากให้บริษัทผลิตไอเดียใหม่ ๆ ได้ไม่รู้จบ อยากบริหารทีมงานให้คนเก่ง ๆ ทำงานร่วมกันได้ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมนึกถึงเรื่องทางธุรกิจด้วย หนังสือเล่มนี้คือคำตอบสำหรับคุณ


"ทุกสิ่งเริ่มต้นที่ไอเดีย" คือชื่อไทยของเล่มนี้ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าอาจไม่ตรงสักเท่าไหร่ เพราะ Ed Catmull ผู้เขียนเองยังบอกในเล่มด้วยซ้ำว่า การหาทีมที่ใช่ ต้องมาก่อนไอเดียที่ใช่ นั่นแปลว่า เขาให้ความสำคัญกับ "คน" ซึ่งประกอบกันเป็นทีม แล้วสร้าง "ไอเดีย" ออกมา


ถ้าให้ไอเดียดี ๆ กับทีมกาก ๆ ทีมจะทำไอเดียนั้นพัง แต่ถ้าให้ไอเดียกาก ๆ กับทีมดี ๆ ทีมจะแก้ไขให้ไอเดียนั้นดีอย่างเหลือเชื่อ ...นั่นแหละครับ คือสิ่งที่เขาอยากบอก


ถ้าให้ไอเดียดี ๆ กับทีมกาก ๆ ทีมจะทำไอเดียนั้นพัง

เนื้อหาในเล่มแบ่งเป็น 4 ส่วน เริ่มจากการเล่าประวัติส่วนตัวของผู้เขียนจนกระทั่งก่อตั้งบริษัท Pixar (ซึ่งสนุกและสร้างแรงบันดาลใจมาก) จากนั้นก็เล่าถึงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่การปกป้องไอเดียที่ในอนาคตจะเป็นความคิดสร้างที่ดีมาก เพียงแต่ตอนนี้มันยังดูไม่เจ๋งเท่าไหร่ ไปจนถึงกระบวนสร้างวัฒนธรรมองค์กร และปิดท้ายด้วยการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา


แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้น่าสนใจมากครับ Ed Catmull บอกว่า เขาเห็นบริษัทมากมายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง วันหนึ่งกลับสะดุดขาตัวเอง ทำบางสิ่งที่มองจากสายตาคนนอกแล้วเป็นเรื่องงี่เง่ามาก สุดท้ายบริษัทยิ่งใหญ่เหล่านี้ก็แพ้ภัยตัวเอง และไม่ยิ่งใหญ่เท่าเดิม


Ed Catmull ไม่อยากให้ Pixar เป็นแบบนั้น เขาจึงติดตาม วิเคราะห์ รวมถึงสังเกตการการบริหารบริษัทของตัวเองว่า เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับบริษัทที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น Pixar ต้องทำอะไรบ้าง อะไรคือวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องสร้างเพื่อให้บริษัทเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน นั่นแหละครับคือหัวใจของหนังสือเล่มนี้


...ซึ่งก็ดูเหมือน Pixar จะทำได้สำเร็จอย่างยั่งยืนจริง ๆ ครับ ล่าสุด Toy Story 4 ก็คว้าออสการ์มาให้บริษัทได้อีกครั้ง


ฉบับภาษาไทยแปลได้ดี ผมอ่านเทียบเคียงกับฉบับภาษาอังกฤษ ถือว่างานดีเลย เพียงแต่ตัวหนังสือเล็กไปหน่อย คิดว่าคงไม่อยากให้หนังสือหนามาก อ้อ..อีกอย่างครับ ฉบับภาษาไทยไม่มีรูปประกอบ คาดว่าคงไม่ได้ลิขสิทธิ์รูปภาพมาด้วย (บางทีลิขสิทธิ์ภาพกับตัวหนังสือก็แยกกัน)


ทุกสิ่งเริ่มต้นที่ไอเดีย ราคาปก 295 บาทครับ สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่


12. ตาสว่าง เขียนโดย Claudio Sopranzetti, Chiara Natalucci วาดภาพปกและภาพประกอบโดย Sara Fabbri


กราฟฟิกโนเวล (นิยายที่เล่าผ่านภาพ) ที่เล่าเรื่องชีวิตผกผันของชายคนหนึ่ง โดยมีฉากหลังเป็นการเมืองและเศรษฐกิจไทยในช่วงปี พ.ศ.2525-2555 ฟังดูเครียด ๆ แต่จริง ๆ แล้วอ่านสนุกมาก แสบ ๆ คัน ๆ และ "ตาสว่าง" สมชื่อหนังสือ


นอกจากเล่มนี้จะทรงคุณค่าทางศิลปะทั้งเนื้อเรื่องที่ชวนติดตาม ลายเส้นภาพวาดที่อาร์ตมากแล้ว ความเจ๋งของมันยังอยู่ที่คณะผู้เขียนไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนอิตาเลียน เราจึงได้เห็นเรื่องของประเทศไทยในมุมคนนอก ว่าเขาเห็นเราเป็นอย่างไรบ้าง


ข้อมูลบอกว่า คณะผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ได้ศึกษาค้นคว้าทางด้านมานุษยวิทยาในประเทศไทยเป็นเวลาสิบปี บวกกับบทสัมภาษณ์กว่าร้อยชั่วโมง และได้เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2558 จัดทำคลังข้อมูลทั้งในรูปแบบของภาพถ่ายและฟิล์มภาพยนตร์ กว่า 5,000 รายการ โดยใช้เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ หอภาพยนตร์ และงานสะสมส่วนบุคคลของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น...ทั้งหมดนี้เพื่อประกอบการเขียนนิยายภาพเล่มนี้ ซึ่งผมอ่านแล้ว ก็รู้สึกได้เลยว่าสมแล้วที่ทำการบ้านหนักขนาดนี้ เพราะงานออกมาดีมากจริง ๆ


พ.ศ.2525-2555 คือเวลา 30 ปีที่เมืองไทยมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย หนังสือเล่มนี้จึงไม่อาจเอื้อมจะเล่าเรื่องทั้งหมดได้อย่างละเอียด ซึ่งตรงนี้แหละครับที่ผมว่าคณะผู้เขียนเก่งมาก เขาใช้เรื่องของ "นก" ผู้ชายคนหนึ่งดำเนินเรื่องทั้งหมด โดยมี "เหตุการณ์จริง" ของประเทศไทยเป็นฉากหลังบาง ๆ


อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่มีความเห็นรุนแรงทางการเมือง (ไม่ว่าจะฝ่ายไหน) ไม่ชอบฟังความคิดต่าง หรือชอบคิดว่าตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง 100% เพราะผมเชื่อว่าจะต้องมีบางช่วงบางตอนของเนื้อหา ที่ไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วย และอาจพาลให้อ่านแล้วหัวร้อนเปล่า ๆ ถ้าคิดว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้น อย่าอ่านดีกว่า


หนังสือเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่มีความเห็นรุนแรงทางการเมือง (ไม่ว่าจะฝ่ายไหน)

แต่ถ้าคิดว่าอ่านได้ทุกฝั่ง ฟังได้ทุกฝ่าย จะร้ายหรือดี ฉันไม่ด่วนตัดสินอะไรง่าย ๆ เล่มนี้น่าจะเหมาะกับคุณ ยิ่งใครชอบงานศิลปะ เล่มนี้ต้องซื้อครับ ภาพอาร์ตมาก สีสวย เล่าเรื่องก็ดีมาก คุณภาพกระดาษก็เจ๋ง เรียกว่าเก็บไว้เป็นคอลเล็คชั่นประจำบ้านได้เลย


"ตาสว่าง" ราคาปก 395 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่


13. โลกของโซฟี เขียนโดย Jostein Gaarder


หนังสือแนะนำครับ อยากให้อ่าน ถึงจะเก่าแล้ว แต่ยังทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา "โลกของโซฟี" หนังสือปรัชญาตะวันตกที่เล่าผ่านรูปแบบของนิยาย


ช่วงนี้ว่าง ๆ ผมจึงนั่งจัดข้าวของ เจอหนังสือในดวงใจ อ่านครั้งแรกเมื่อยังเรียน ป.โท เมื่อ 20 กว่าปีก่อน อ่านครั้งที่สองเมื่อซื้อฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 เพราะฉบับก่อนหน้านั้นปลวกกินเรียบ วันนี้หยิบมาอ่านครั้งที่ 3 พร้อมอ่านควบคู่กับฉบับภาษาอังกฤษไปด้วย ผลคือ ยังรู้สึกประทับใจ ยังเป็นหนังสือในดวงใจเช่นเคย


หนังสือต้นฉบับเขียนด้วยภาษานอร์วีเจี้ยนในปี 1991 ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1994 จากนั้นก็กลายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลกหลายสิบล้านเล่ม และได้รับการแปลไทยในปี 1996 (แปลดีมากครับ)


นี่คือหนังสือที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของโลกปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่ยุคหลายพันปีก่อน จนถึงยุคปัจจุบัน ผ่านรูปแบบของนิยาย ที่มีตัวเอกคือ "โซฟี" เด็กหญิงวัย(กำลังจะ) 15 ปีคนหนึ่ง ซึ่งจู่ ๆ เธอก็ได้รับบทเรียน "วิชาปรัชญา" ส่งมาจากชายลึกลับ และในที่สุดเรื่องราวเหล่านี้ก็เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล


ต้องบอกว่าเป็นความกล้าของผู้เขียนมากที่อาจหาญเล่าเรื่องยาก ๆ อย่างปรัชญาตะวันตก ให้ออกมาเข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านทางบทสนทนาของตัวละคร แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ปรัชญาเบื้องต้น แม้ว่าบางตอนจะรู้สึกยัดคำพูดให้ตัวละครไปหน่อย แต่นั่นก็ยอดเยี่ยมมากแล้ว (ยังไม่นับตอนจบที่หักมุม ชวนให้ฉุกคิด)


ในเล่มเราจะได้เรียนรู้แนวคิดของนักปรัชญาดัง ๆ ที่อย่างน้อยต้องเคยผ่านหูอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล รวมทั้งแนวคิดของนักปรัชญาในหลายยุค ตั้งแต่ยุคมืด ยุค Renaissance ยุค Baroque ยุค Enlightenment ยุค Romantic มาจนถึงยุคปัจจุบัน


ปรัชญากินไม่ได้ แต่ช่วยให้เราครุ่นคิดเห็นผลว่า ที่เรากิน ก็เพื่อให้มีชีวิตอยู่ ...แล้วเหตุผลของการมีชีวิตอยู่นั้นคืออะไรล่ะ? ชีวิตที่ดีและมีความหมายคือแบบไหน? ปรัชญาชวนเราคิดในเรื่องทำนองนี้ครับ


ชีวิตที่ดีและมีความหมายคือแบบไหน? ปรัชญาชวนเราคิดในเรื่องทำนองนี้

โลกของโซฟี ราคาปก 320 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่


14. สวนสัตว์กระดาษ เขียนโดย Ken Liu


อ่านสนุกปลุกจินตนาการ คุณภาพสมคำร่ำลือ น่าจะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศอึมครึมในตอนนี้ไปได้บ้าง นี่คือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนมือรางวัลที่คว้ารางวัลวรรณกรรมไซไฟ 3 เวทีในปีเดียวกัน จากเรื่อง "สวนสัตว์กระดาษ" ตอนแรกพอได้ยินสรรพคุณแบบนี้ ผมนึกไปว่าจะต้องไซไฟอวกาศสุด ๆ แต่ไม่ใช่เลย ความไซไฟเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นเพียงฉากหลังของเรื่อง แต่หัวใจยังคงขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวของมนุษย์


จุดเด่นของเล่มคือ Ken Liu ผู้เขียนเป็นคนจีนที่ย้ายไปอยู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 11 ปี เขาจึงเป็นอเมริกันที่มีความเป็นจีนผสมอยู่ด้วย เรื่องสั้นของเขาก็เช่นกัน มันผสมผสานทั้งตะวันตกและตะวันออกเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นรสชาติที่ผมไม่คุ้นเคย


ผมไม่ได้อ่านเรื่องสั้นมานานมาก เพราะไม่ถนัด ไม่เข้าใจการจบแบบลอย ๆ ของเรื่องสั้น แต่กับเรื่องสั้นของ Ken Liu มันค่อนข้างเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว บางเรื่องยาวถึง 60 หน้า จึงไม่สั้นห้วนเกินไป...อ่านรู้เรื่องครับ เรื่องราวหลากหลายอารมณ์ทั้งตื่นเต้น ลุ้นระทึก ดราม่าสะเทือนอารมณ์ ไม่อยากสปอยล์ แต่ดีทุกเรื่อง


สวนสัตว์กระดาษ ราคาปก 295 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้ ที่นี่



หมายเหตุ : ติดตามอ่านตอนที่ 3 ของ "หนังสือที่ผมอ่านในครึ่งปีแรก 2020" ได้ ที่นี่

1,983 views0 comments

Comments


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page