top of page

หนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q3 2021 (ตอน 2)

Updated: Dec 17, 2021

[ต่อจากตอนที่แล้วหนังสือที่อ่านแล้วชอบ Q3 2021 (ตอน 1)] เป็นประจำทุกสัปดาห์ ผมจะแนะนำหนังสือที่อ่านแล้วชอบไว้ในแฟนเพจ boy's thought อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบของ facebook ทำให้การสืบค้นโพสต์เก่า ๆ ทำได้ยาก ผมจึงนำมารวบรวมไว้ในเว็บไซต์ เผื่อว่าใครจะลองไปหามาอ่านบ้าง โดยครั้งนี้จะเป็นหนังสือที่ผมอ่านในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2021 ครับ มาต่อเล่มที่เหลือกันครับ



10.Time Smart (ความฉลาดทางเวลา)

ปัญหาของหนังสือบริหารเวลาก็คือ คนที่สนใจอ่านมักเป็นคนไม่มีเวลา พอซื้อมาก็เลยไม่มีเวลาอ่าน ฟังดูตลกร้าย...แต่นี่เรื่องจริง โชคดีที่หนังสือเล่มนี้เนื้อหาหนาไม่ถึง 200 หน้า จึงน่าจะอ่านจบ และนำไอเดียไปใช้ต่อได้เป็นอย่างดีครับ


เล่มนี้เขียนโดย Ashley Whillans ผศ.จาก HBS เธอเป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุข เธอพบว่าคนที่มั่งคั่งทางเวลา (แน่นอนว่าต้องไม่ขัดสนเงินทอง) คือคนที่มีความสุข มีประสิทธิภาพสูง และพร้อมเป็นผู้ให้คืนกลับสู่สังคม หนังสือเล่มนี้เธอก็เลยจะช่วยให้เรา "ปลูกทักษะความฉลาดทางเวลา" ในความหมายว่ามีเวลาเพิ่มขึ้น ใช้เวลาได้มีประโยชน์ขึ้น และรวมถึงใช้เวลาได้ตรงกับเป้าหมายชีวิตมากขึ้น


ผมชอบวิธีการเขียนของผู้เขียนเล่มนี้ครับ โครงสร้างชัดเจน ตรงไปตรงมา เริ่มด้วย "แนวคิด" แล้วจบด้วย "วิธีทำ" เช่น 6 กับดักที่ทำให้เราขัดสนเวลา และเครื่องมือที่จะทำให้เราเอาชนะกับดักเหล่านี้ได้ / 5 วิธีบรรเทาความขัดสนเวลา วิธีหาเวลา ซื้อเวลา และเครื่องมือติดตามการใช้เวลาของตัวเราเอง เป็นต้น ใครชอบหนังสือที่เขียนเป็นข้อ ๆ มีตาราง มีคำถามให้ตอบ น่าจะชอบเล่มนี้ครับ


มีหลายประโยคในเล่มนี้ผมชอบ ขอยกมาบางตัวอย่าง (ตัดต่อและปรับคำเพื่อความกระชับ)

  • การวิ่งไล่ตามเงินนั้นมีค่าถึงจุดหนึ่ง แต่มันคือภาระที่ไม่มีวันสิ้นสุด เราจะพยายามหาเงินให้ได้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ คนเราทำแบบนั้นไม่ว่าพวกเขาจะมีเงินอยู่แล้วมากแค่ไหนก็ตาม ทั้งที่หากพิจารณาความล้ำค่าของเวลาแล้ว เราควรให้ความสำคัญกับเวลาเป็นอย่างแรก

  • จงเตือนตัวเองว่าการมุ่งมั่นกับเวลาไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว แต่การมุ่งมั่นกับเวลาทำให้เราสร้างความสุขให้แก่ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ชุมชน และโลกใบนี้ได้

  • การหาซื้อของที่ดีที่สุดในราคาต่ำที่สุดจากมุมมองของเงินล้วน ๆ ทำให้เกิดความขัดสนเวลาและความไร้สุข เพราะเราไม่ได้คำนวณต้นทุนเวลาที่เกิดจากการเอาแต่คิดเรื่องเงินนั้น คุณจะตกใจที่ได้เห็นว่าคนเราขาดทุนแค่ไหนจากการเอาแต่พยายามประหยัดเงิน และการทำแบบนั้นทำให้เราขัดสนเวลาเพียงใด

  • วิธีหนึ่งในการแก้นิสัยแย่ ๆ ก็คือ การถามตัวเองด้วยคำถามว่าทำไมฉันถึงทำสิ่งนี้อยู่ ฉันหวังว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ มันช่วยให้วันนี้ของฉันมีคุณค่ามากขึ้นจริงหรือเปล่า และที่สำคัญที่สุด ฉันจะใช้เวลานี้ไปทำอะไรที่ช่วยเติมเต็มมากกว่านี้ได้หรือไม่

  • การกำหนดค่าตั้งต้นเป็นการปฏิเสธคืออาวุธที่ทรงพลังอย่างนึงในสงครามเพื่อความมั่งคั่งทางเวลาของคุณ

  • มนุษย์เริ่มวางแผนการที่ขัดแย้งกับเวลาของตัวเองทันทีที่ก้าวเข้าสู่ระบบการทำงาน เวลาเลือกงาน คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเงินเดือนและสิทธิพิเศษต่างๆ แต่ให้ความสำคัญกับเวลาที่จะต้องใช้ไปกับการทำงานนั้น...น้อยเกินไป

Time Smart ความฉลาดทางเวลา สำนักพิมพ์อมรินทร์ ราคาปก 365 บาท


11.The Why Café

ออกตัวไว้ก่อนครับว่าผมอ่านเล่มนี้แล้วไม่อิน แต่ก็ยังอยากแนะนำให้หามาอ่านอยู่ดี เพราะคุณอ่านแล้วอาจชอบก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ยังคิดอยู่ว่าถ้าผมอยู่ในวัย 20 ต้น ๆ คงชอบหนังสือเล่มนี้ แต่สงสัยตอนนี้จะแก่เกินแกง เลยไม่ค่อยมีแรงฝันหวานอุดมคติแบบในหนังสือเสียแล้วสิเรา


The Why Café คืองานเขียนแบบที่ผมเรียกเอาเองว่า "ฮาวทูในรูปแบบนิยาย" ซึ่งเป็นรูปแบบงานเขียนที่นิยมกันพอสมควร (แต่หลัง ๆ ไม่ค่อยเห็น) ตัวอย่างคลาสสิกก็เช่น ใครเอาเนยแข็งฉันไป (Who Moved My Cheese?) ผู้จัดการ 1 นาที (The One Minute Manager) สไตล์งานเขียนแบบนี้ก็คือ แทนที่จะเขียนแข็ง ๆ เป็นข้อ ๆ แบบฮาวทู ผู้เขียนก็จะสร้างตัวละครขึ้นมาให้เจอเหตุการณ์บางอย่าง และได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์นั้น


เล่มนี้ก็ไม่ต่างกันครับ The Why Café เขียนขึ้นในปี 2003 แปลไทยปี 2021 เรื่องราวเล่าถึงชายคนหนึ่ง เขาทำงานมาระยะหนึ่งจนเริ่มเกิดคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตมีอะไรมากกว่าการนั่งทำงานอยู่ในคอกสี่เหลี่ยมของบริษัทมั้ย? โอเค งานไม่แย่ เงินก็ไม่แย่ แต่เขาต้องทำแบบนี้ไปตลอดชีวิตงั้นหรือ คิดได้ดังนั้นเขาจึงลาพักร้อนหนึ่งสัปดาห์ ตั้งใจไปทะเล แต่ปรากฏว่าขับรถหลงทางไปเจอกับคาเฟ่แสนประหลาดที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว มันมีชื่อว่า The Why Café


บนเมนูของที่นี่มีคำถามประหลาด ๆ 3 ข้อเขียนไว้ นั่นคือ เหตุใดคุณจึงมาที่นี่? คุณกลัวตายไหม? และ คุณพอใจกับชีวิตแล้วหรือยัง? 3 คำถามนี้ทำให้เขาได้ทบทวนชีวิตว่าเป้าหมายคืออะไรและเขากำลังทำสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตอยู่หรือเปล่า เรื่องราวรายละเอียดต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ต้องลองไปอ่านเองครับ เล่มบาง ๆ อ่านชั่วโมงเดียวก็จบแล้ว


อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าผมอ่านแล้วไม่อิน สาเหตุก็ตั้งแต่วิธีการเขียนที่ไร้ชีวิตชีวา ตัวละครเหมือนหุ่นยนต์ที่ต้องมาคุยกันตามผู้เขียนบอกบท แค่คุยนิดเดียวก็เข้าใจบรรลุเห็นธรรม ซึ่งเอาจริงก็ว่าไม่ได้เพราะงานเขียนนิยายฮาวทูมักเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนเพียงสร้างตัวละครแข็ง ๆ ขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเนื้อหาที่ต้องการสื่อเท่านั้น เอาเป็นว่าวิธีเล่าเรื่องไม่ได้มีชั้นเชิงมากนัก


แต่ที่ผมไม่อินที่สุดก็คือ แนวความคิดสุดโต่งที่ผู้เขียนพยายามสื่อไปในทำนองว่า "เงินทองนั้นไม่ได้สำคัญขนาดนั้น มันไม่ใช่เป้าหมายชีวิต หาให้เจอว่าชีวิตนี้อยากทำอะไร แล้วทำมันวันนี้เลย อย่าเก็บสิ่งที่อยากทำไว้ทำตอนเกษียณ ทำตอนนี้เลย อย่ามัวเอาเวลาไปทำงานหาเงิน เราถูกโฆษณาหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้อยากได้จริง ๆ เราเลยต้องทำงานหนัก ทำงานหนักก็เครียด เครียดก็ต้องซื้อของเพื่อผ่อนคลาย ดังนั้นจงทำสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ แล้วชีวิตจะมีความสุข"


ถ้าเป็นผมในวัยละอ่อนกว่านี้ น่าจะอ่านแล้วคึก แค่นึกก็สนุก แต่พอเป็นผมในวัยนี้ ผ่านอะไรมาบ้างพอสมควร เคยทำงานในคอกสี่เหลี่ยม เคยรถติดเป็นชั่วโมงบนทางด่วน เคยมีเงินไม่พอใช้ เคยทำงานหามรุ่งหามค่ำ เคยอยากทำงานในฝัน เคยอยากมีอิสระ เคยอยากมีเงินมากพอ ...ทุกวันนี้ผมได้มันมาหมดแล้ว งานในฝัน เงินในฝัน ชีวิตในฝัน


ผมกล้าบอกได้เลยว่าเงินนั้นสำคัญ เราไม่ได้หาเงินแค่เอาไว้ซื้อของฟุ่มเฟือยให้ตัวเอง แต่มันหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่เราดูแล มันหมายถึงความสงบใจในวันที่ภัยมาแล้วเรามีเงินเก็บเหลือพอ และผมก็กล้าบอกว่างานในฝันนั้นมันก็ไม่ได้ดีเหมือนฝันขนาดนั้น มันมีทั้งความไม่ได้ดั่งใจ ความยากลำบาก และความซ้ำซากน่าเบื่อปะปนอยู่ในนั้น


และสุดท้ายผมกล้าบอกว่าการอดทนทำงานหนักอย่างชาญฉลาดในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตช่วงที่เหลืออย่างไม่ลำบากนั้น เป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่ากว่าการรีบใช้ชีวิตเสียตั้งแต่วันนี้ (ซึ่งอันที่จริง เราสนุกกับชีวิตได้พร้อม ๆ กับการทำมาหาเก็บ ไม่เห็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งครับ)


เขียนมาเสียยืดยาว เพื่อที่จะสรุปว่าไม่ใช่หนังสือเล่มนี้ไม่ดี (ไม่อย่างนั้นคงไม่พิมพ์ครั้งที่ 3) หามาอ่านเถอะครับ อย่างน้อยก็ได้ทบทวนชีวิต ผมในวันนี้วัยนี้คงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของหนังสือ เพียงแต่บังเอิญเห็นปกสวยและเห็นคำนิยมที่เขียนว่านี่คือหนังสือ The Alchemist แห่งศตวรรษที่ 21 จึงคิดฝันไปไกลเท่านั้นเอง (ใครยังไม่เคยอ่าน The Alchemist ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน ต้องหามาอ่านครับ)


The Why Café เขียนโดย John Strelecky แปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ สำนักพิมพ์ Be(ing) ราคาปก 229 บาท


12.The Righteous Mind (ความถูกต้องอยู่ข้างใคร)

อ่านแล้วเปิดโลกความคิด ผมจัดเข้าลิสต์ my favourite books of all time เรียบร้อย และจะต้องติดอยู่ในหนังสือที่ผมชอบที่สุดปีนี้อย่างแน่นอน เล่มหนาสาระหนักสไตล์ brainy book แต่รับรองว่าคุ้มค่ากับเวลาและพลังสมองที่ใช้ไป (ต้องขอบคุณผู้แปลคือ พี่อ๋อง วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ที่แปลดีมาก ๆ ผมรู้เลยว่าถ้าอ่านฉบับอังกฤษ ผมคงไม่รอด เพราะต้องใช้ความรู้หลายแขนง)


ต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนขึ้นในปี 2012 แต่เนื้อหายังทันสมัยใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน (และน่าจะในอนาคตด้วย) แค่คำโปรยของหนังสือก็น่าสนใจแล้วครับ "ทำไมคนดีจึงแตกแยกกันด้วยเรื่องการเมืองและศาสนา" เป็นคำถามที่น่าคิดและหนังสือเล่มนี้ตอบคำถามได้อย่างน่าสนใจในแง่มุมของ "รากฐานศีลธรรม" ที่แต่ละฝ่ายมีกว้างขวางแตกต่างกัน


เล่าแบบสั้น ๆ เท่าที่ผมเข้าใจ (เพราะเนื้อหาแน่นมาก และบางส่วนผมยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ) ผู้เขียนค่อย ๆ พาเราไปค้นหาจุดกำเนิดของศีลธรรม (Morality) ว่าคนเราได้ศีลธรรมมาจากไหน ทำไมเรารู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้องไม่สมควรทำ คำตอบนั้นน่าทึ่งมากครับเพราะดูเหมือนว่าคนเราจะมี "ความรู้สึกลึก ๆ" ตามสัญชาตญาณว่าสิ่งนั้นนี้ไม่ควรทำ (แน่นอนว่าบวกกับประสบการณ์เพิ่มเติมและวัฒนธรรมด้วย) จากนั้นจึงค่อยหาเหตุผลมาสนับสนุนความรู้สึกตัวเอง ซึ่งหลายครั้งก็เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล (เรียกว่า "แถ" ก็พอได้) ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อให้รู้สึกว่าฉันนั้นมี The Righteous Mind หรือที่ฉบับภาษาไทยใช้คำว่า "ใจถือดี" (ในความหมายว่าใจเรามีทั้งศีลธรรม มีทั้งการวิจารณ์ และการตัดสิน)


จากจุดกำเนิดศีลธรรม ผู้เขียนพาลงลึกไปอีกว่า จริง ๆ แล้วศีลธรรมนั้นมีรากฐาน (Foundation) อยู่ 6 อย่างที่ต่างกัน มันเป็นเหมือนระบบที่เรามีติดตัวมาก่อนมีประสบการณ์ชีวิตเสียอีก ศีลธรรมเหล่านี้ค่อย ๆ ได้รับการปรับปรุงตอนที่เราเป็นเด็ก และทำให้แต่ละคนมีศีลธรรมที่หลายหลากแตกต่างกัน (ประมาณว่ายึดถือคุณค่าไม่เหมือนกัน อันนี้ผมตีความเอง) โดยรากฐานศีลธรรมทั้ง 6 อย่างได้แก่ การดูแล เสรีภาพ ความเป็นธรรม ความภักดี อำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผมเชื่อว่าเพียงอ่านชื่อรากฐานศีลธรรมทั้ง 6 นี้คงยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ต้องไปอ่านเองครับ ผมเล่าได้แต่เพียงว่ารากฐานศีลธรรมทั้ง 6 อย่างนี้ ถ้าแบ่งแค่ 2 ขั้วคือ "เสรีนิยม" กับ "อนุรักษ์นิยม" ทั้งสองขั้วนี้จะให้น้ำหนักกับรากฐานศีลธรรมที่แตกต่างกัน (หรืออาจพูดได้ว่าใช้ไม้บรรทัดคนละอัน) จึงทำให้ใจ "ถือดี" แตกต่างกัน


จริง ๆ เนื้อหายังมีส่วนที่สามอีก ว่าด้วยเรื่องคนเรานั้นแปลก เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา แต่เราเห็นแก่กลุ่มได้ด้วย (แม้ว่าต้องเสียสละประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม) จุดนี้ผู้เขียนอธิบายด้วยความรู้ในหลายแขนง ซึ่งคงจะยาวเกินไปที่ผมจะเขียนถึง แต่โดยรวมผมชอบวิธีที่ผู้เขียนเขียน เขารู้ว่าเนื้อหามันยาก เขาจึงประคองคนอ่านไปตลอดทาง ตั้งแต่เกริ่นนำว่าจะพูดอะไร พูดสักพักก็บอกว่ากำลังอยู่ตรงไหน พอพูดจบก็สรุปให้ฟังอีกที เป็นอย่างนี้ไปตลอดเล่ม เจ๋งมาก


เขียนมายืดยาว แต่ผมก็ยังรู้สึกผิดที่อธิบายถึงความดีงามของหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ดีพอ เอาเป็นว่าอยากให้ลองหามาอ่านกันครับ แม้ว่าผู้เขียนจะยกตัวอย่างการเมืองอเมริกาเป็นหลัก แต่ก็ทำให้เห็นภาพรวมของมนุษย์ว่าเรายึดถือศีลธรรมอะไรกันอยู่ แตกต่างกันอย่างไร น้ำหนักเทไปทางไหน และเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร


ผมชอบย่อหน้าสุดท้ายของเล่มนี้ เขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ "ในครั้งต่อไปที่พบว่าตนเองกำลังนั่งอยู่ข้างใครบางคนที่มาจากอีกเมทริกซ์หนึ่ง อย่าเพิ่งกระโจนเข้าสู่เมทริกซ์ของคุณ และอย่าเพิ่งหยิบยกศีลธรรมของคุณขึ้นมาจนกว่าคุณจะได้พบว่ามีหลายจุดที่เราร่วมกัน ...เราติดอยู่ตรงนี้กันมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว เรามาลองหาทางออกร่วมกันเถอะ


The Righteous Mind (ความถูกต้องอยู่ข้างใคร) สำนักพิมพ์ Be(ing) ราคาปก 439 บาท


13.ซากศพสีฟ้า

ปีนี้ผมวางแผนการอ่านแบบสลับไปมา อ่าน non fiction จริงจังหนา ๆ หนึ่งเล่ม สลับกับ fiction ไม่หนามากอีกเล่ม ผลลัพธ์คืออ่านได้เยอะและสนุกกว่าเดิม อย่างเล่มนี้ "ซากศพสีฟ้า" อ่านต่อจาก The Righteous Mind ซึ่งหนาและหนักหน่วงในเนื้อหา ในขณะที่ซากศพสีฟ้าหนาแค่ 100 หน้าต้น ๆ อ่านไม่นานก็จบ ให้ความรู้สึกว่าได้ทำอะไรสำเร็จไปอีกหนึ่งอย่าง


"ซากศพสีฟ้า" เป็นนิยายญี่ปุ่นขนาดสั้นในแนวที่คนไทยคุ้นกันดี นั่นคือ ค้นลึกไปยังด้านมืดของจิตใจคน โดยครั้งนี้เป็นเรื่องในโรงเรียน กับเรื่องราวของ "มาซาโอะ" เด็กชายผู้ไม่มั่นใจในตัวเอง ลำพังถูกเพื่อนในห้องบูลลี่ก็แย่แล้ว เขายังถูกครูประจำชั้นเหยียบย่ำซ้ำ จนในที่สุดด้านมืดในใจก็เข้าครอบงำมาซาโอะให้คิดล้างแค้น


ถือเป็นเล่มที่อ่านเพลิน อ่านง่าย สนุก ไม่โหดร้ายจนหดหู่เกินไป และยังได้จำลองใจลองเป็นคนถูกบูลลี่ดูว่าเขาเจ็บปวดอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ผมถือเป็นข้อดีของการอ่านนิยายที่เปิดโอกาสให้เราได้ลองเป็นคนนั้นคนนี้ครับ


"ซากศพสีฟ้า" เขียนโดย โอตสึ อิจิ แปลโดย รัตน์จิต ทองเปรม สำนักพิมพ์ Hummingbooks ราคาปก 215 บาท


14.นักเพาะกายผู้โดดเดี่ยว (The Lonesome Bodybuilder)

หนังสือรวม 11 เรื่องสั้นจาก Yukiko Motoya นักเขียนสาวชาวญี่ปุ่น เล่มนี้ได้ 2 รางวัลสำคัญของญี่ปุ่น บอกได้คำเดียวว่า "สนุกมากกกกกก"


อันที่จริงผมเลิกอ่านเรื่องสั้นมานานแล้ว เพราะเข้าไม่ถึง หลายเรื่องอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าคนเขียนสื่ออะไร เล่าทำไม และทำไมจบแบบนั้น แต่กับเล่มนี้มันสุดยอดมาก เต็มไปด้วยอารมณ์หลากหลายปะปนกัน สนุก ตลก ลุ้น ลืบลับ บาดใจ เสียดสี มหัศจรรย์ เหนือจริง สะท้อนสังคม เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ และประโยคธรรมดา ๆ ที่บาดลึกความรู้สึก (โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ของคู่รัก)


ความน่าทึ่งของหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ เล่มนี้ก็คือ เรื่องสั้นบางเรื่องสั้นมาก สั้นจริง ๆ เช่น นักเพาะกายผู้โดดเดี่ยว ความยาว 18 หน้า แต่กลับสะท้อนชีวิตแม่บ้านญี่ปุ่นสุดเหงา ไร้ค่า สามีไม่สนใจ ได้อย่างเห็นภาพ สนุก ตลก บาดลึก เจ็บปวด และคลี่คลายได้ในที่สุด ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นที่ผมชอบที่สุดตั้งแต่เคยอ่านมา


แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจะถนัดเขียนเรื่องสั้น ๆ เท่านั้นนะครับ เพราะในเล่มนี้ยังมีอีกเรื่องที่เจ๋งมาก ๆ ชื่อเรื่อง "ตำนานรักข้ามสายพันธุ์" (ผมไม่ค่อยชอบชื่อไทยเท่าไร ฟังดูแปลก ๆ ฉบับอังกฤษใช้คำว่า An Exotic Marriage) นี่ก็เล่าเรื่องของคู่รักอีกคู่ เรื่องนี้ยาวถึง 91 หน้า (หนาเกือบครึ่งนึงของทั้งเล่ม) เล่าถึงอิทธิพลที่คนรักมีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกันโดยไม่รู้ตัว


ใครที่ชอบดูหนังเพราะหลงในเสน่ห์การเล่าเรื่อง แต่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ อยากให้ลองเปิดใจอ่านหนังสือดูบ้างครับ แล้วจะพบว่ามีบางอย่างที่เล่าเป็นภาพเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องอ่านเป็นตัวหนังสือเท่านั้นจึงเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก และเล่มนี้ก็เหมาะดีที่จะเริ่มต้นครับ เพราะเล่มบาง และอ่านสนุก


นักเพาะกายผู้โดดเดี่ยว เขียน Yukiko Motoya แปล มุทิตา พานิช สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ราคาปก 220 บาท


15.Trade like a Stock Market Wizard และ Think & Trade Like a Champion

หนังสือแนะนำ 2 เล่มรวด เป็นหนังสือที่น่าทึ่ง เหมือนรวมหนังสือ 2 ประเภทเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือ "หนังสือหุ้น" กับ "หนังสือพัฒนาตนเอง" ความหมายคือ อ่านแล้วไฟลุก เขียนสนุกทรงพลัง และอ่านแล้วนำไปลงมือทำกับพอร์ตหุ้นของเราได้จริง


อันที่จริงผมอ่าน 2 เล่มนี้จบมาสักพักแล้ว เพียงแต่ทิ้งไว้ให้เย็น อ่านแล้วลองไปทำตาม จากนั้นกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ ผลก็คือยังชอบมากเหมือนเดิม และคิดว่าสิ่งที่หนังสือเขียนไว้นั้นยอดเยี่ยมมาก


มี 2 อย่างที่ผมรู้สึกหลังอ่านจบ หนึ่งคือ ถ้าได้อ่านมันเร็วกว่านี้ ผมจะจดบันทึกการเทรด กล้าตัดขาดทุน และเซฟเงินได้เยอะมาก สองคือ แต่มาคิดอีกที ถ้าได้อ่านมันเร็วกว่านี้ ผมก็อาจไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนเขียนไว้ เพราะยังไม่มีประสบการณ์มากพอ


ทั้ง 2 เล่มเขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน คือ Mark Minervini เทรดเดอร์ผู้มีชื่อเสียง ประสบการณ์กว่า 30 ปี ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งผมเชื่อว่านักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ในบ้านเราน่าจะเคยอ่านเล่มนี้กันแล้ว (ผมคงเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน) แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมแทบไม่เคยอ่านหนังสือหุ้น (โดยเฉพาะหุ้นเทคนิคอลสายเก็งกำไร) ก็เลยตื่นเต้นเป็นพิเศษ


เอาเข้าจริง หากใครเล่นหุ้นมาสัก 2-3 ปี เมื่อได้อ่านหนังสือ 2 เล่มนี้ ก็อาจพบว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ เคยได้ยินมาก่อน เคยอ่านมาแล้ว เนื่องจากดูเหมือนว่าหลักคิดและวิธีการของ Mark Minervini เองจะกระจายอยู่ในวิธีคิดและวิธีเทรดของเทรดเดอร์หรือกูรูต่าง ๆ ของบ้านเราอยู่ไม่น้อย อาทิ การหาหุ้นที่เป็นผู้นำตลาด การบริหารความเสี่ยง การตัดขาดทุน การหาจุดเข้าและออกหุ้น การดูรอบหุ้น การไม่ซื้อถัวขาลง แต่ถัวขาขึ้น


แต่สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับผมก็คือ วิธีคิดวิธีเขียนของ Mark Minervini สามารถโน้มน้าวให้ผมเชื่อและทำตามได้อย่างที่ผมไม่เคยทำมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องการจดบันทึกสถิติการเทรด และการยอมตัดขาดทุน ซึ่งโคตรเป็นเรื่องที่เบสิค แต่เขาอธิบายเป็นเหตุเป็นผล ใช้ตัวเลขคณิตศาสตร์ง่าย ๆ มายืนยันเสียจนผมต้องยอมรับ ทำตาม และคิดว่ารู้งี้น่าจะทำมานานแล้ว


แม้จะมีกราฟหุ้นประกอบเยอะพอสมควรตามสไตล์หนังสือหุ้น แต่เนื้อหาของหนังสือก็แทบไม่เน้นไปในเชิงเทคนิคแบบจัดเต็ม ไม่พูดถึงอินดิเคเตอร์อะไรที่ซับซ้อน และกลายเป็นว่า "หลักคิด" ของ Mark Minervini ต่างหากที่น่าทึ่งและเป็นเสน่ห์ของหนังสือ ผมขีดไฮไลต์ไว้เต็มไปหมด ขอยกมาบางประโยคครับ (ตัดต่อเพื่อความกระชับ และยกมาจากทั้ง 2 เล่ม ไม่ได้แยกกัน)


  • คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่ไม่มีแผนการเทรดใด ๆ เลย พวกเขามักได้หุ้นเด่นจากโบรกเกอร์ เงินจำนวนมากถูกวางเดิมพันโดยไม่มีแผนการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่การเทรดหุ้นคือการทำธุรกิจอย่างหนึ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนจริง หากไม่มีแผน คุณก็ทำได้เพียงคอยหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง คุณต้องเทรดให้เหมือนกับการทำธุรกิจ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่เทรดหุ้นเหมือนงานอดิเรกเพราะพวกเขามีงานประจำอย่างอื่นทำอยู่แล้ว แต่งานอดิเรกนั้นไม่ทำเงิน มันทำให้คุณเสียเงิน

  • คนที่เทรดหุ้นโดยไม่ใช้จุด stop loss เลย สุดท้ายเขาจะเลิกเทรดหุ้นไปเอง ทางเดียวที่จะปกป้องการเทรดไม่ให้เกิดผลขาดทุนครั้งใหญ่ก็คือการยอมรับผลขาดทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่มันจะลุกลามจนควบคุมไม่ได้ และจำไว้ว่าปัญหาของการตั้งจุด stop loss ไว้ในใจก็คือ มันง่ายเกินไปที่จะลืม และถือหุ้นที่ขาดทุนเอาไว้ต่อไป แล้วคอยบอกตัวเองว่าจะขายเมื่อหุ้นเด้งกลับมา

  • คุณสามารถเลือกหุ้นถูกตัวแค่ 50% และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ แต่คุณจะต้องรักษาผลขาดทุนให้เล็กน้อย จำไว้ว่าในเชิงคณิตศาสตร์ยิ่งขาดทุนเกินกว่า 10% มากเท่าไร ผลขาดทุนจะยิ่งส่งผลมากขึ้นเรื่อย ๆ

  • คุณจะต้องปรับตัวมาเป็นคนที่ยินดีกับการขาดทุนจำนวนเล็กน้อย และเจ็บปวดเวลาที่เกิดการขาดทุนครั้งใหญ่ การขาดทุนเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่เลือกได้ก็คือเราจะยอมขาดทุนเท่าไหร่ต่างหาก

  • ถ้าคุณคิดว่าการเทรดแต่ละครั้งคือ 1 จากในอีกล้านครั้ง มันจะง่ายขึ้นมากสำหรับการตัดขาดทุนเล็กน้อย และเดินหน้าต่อไปกับการเทรดครั้งใหม่ เป้าหมายคือการทำกำไร ไม่ใช่การพิสูจน์ว่าคุณเป็นคนถูก และตลาดหุ้นเป็นคนผิด

  • สาเหตุที่การประเมินผลการเทรดของตัวเองไม่เป็นที่นิยม ก็เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นการเทรดแย่ ๆ ของตัวเอง พวกเขาเลือกที่จะลืมมันไป ทั้งที่สิ่งแรกที่จะทำให้สำเร็จในตลาดหุ้นก็คือการมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และมันต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ผลการเทรดย้อนหลัง

  • เรื่องราวผลประกอบการและมูลค่าหุ้นไม่ใช่สิ่งที่ผลักดันให้ราคาหุ้นขยับขึ้นหรือลงแต่มันเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้เล่นในตลาดเพราะถึงแม้จะเป็นหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพสูงที่สุดในตลาดแต่ถ้าไม่มีคนต้องการซื้อหุ้นเลยมันก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษที่ไม่มีค่าใดๆ

  • ผมจะไม่ซื้อหุ้นตัวนั้นถ้ามันยังอยู่ในแนวโน้มขาลงระยะยาว ผมไม่สนใจที่จะเป็นคนแรกที่ไปถึงงานปาร์ตี้ แต่ผมอยากให้แน่ใจก่อนว่าจะมีการจัดปาร์ตี้เกิดขึ้น เป้าหมายก็คือกำจัดหุ้นที่ไม่คุ้มค่ากับเวลา ผมยินดีที่จะให้คนอื่นเข้าไปในหุ้นตัวนั้นก่อน เพราะจุดประสงค์ไม่ใช่การเข้าซื้อหุ้นที่ราคาถูกที่สุด แต่เป็นการขายหุ้นได้ที่ราคาสูงกว่าต้นทุนที่จ่ายไปอย่างมีนัยสำคัญโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด

  • นักลงทุนหลายคนเข้ามาซื้อหุ้นด้วยความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมีจุดตัดขาดทุน เพราะเขาซื้อเฉพาะหุ้นที่คุณภาพดี แต่ความจริงแล้วไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าหุ้นปลอดภัย หลายคนล้มละลายจากการเข้าซื้อและถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาวด้วยปรัชญาว่าความอดทนคือวิธีที่ฉลาดและมีคุณภาพ ทั้งที่จริงมันคือกลยุทธ์ของคนขี้เกียจหรือคนขาดกลยุทธ์

โดยสรุป ถ้าเป็นเทรดเดอร์มืออาชีพอยู่แล้ว สองเล่มนี้อาจไม่จำเป็น เพราะคุณคงเคยอ่านแล้ว หรือไม่ก็ผ่านพบจนเข้าใจเนื้อหาหมดแล้ว แต่สำหรับมือใหม่ มือสมัครเล่นกึ่งเอาจริงแบบผม อยากแนะนำให้อ่านครับ เนื้อหาอาจใกล้เคียงกัน เล่มปกสีฟ้าคือเล่มหนึ่ง เล่มสีดำคือเล่มสอง แต่อ่านแยกกันได้ (ผมชอบเล่มสองมากกว่า) ในสภาวะที่ SET ขึ้นแรงขนาดนี้ ในสภาพที่มีนักลงทุนหน้าใหม่ดาหน้าเข้าตลาดหุ้นมากเป็นประวัติการณ์ ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นที่เราควรลงทุนเป็นอย่างแรก


Trade like a Stock Market Wizard และ Think & Trade Like a Champion ราคาปกเล่มละ 346 บาท


16.NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย

ถือเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ครับ เล่มบาง ๆ (แค่ร้อยหน้าต้น ๆ) หน้าปกสวย ข้างในยิ่งสวยกว่า ภาพประกอบสี่สีงดงามกินขาด สวยระดับใส่กรอบประดับบ้านได้เลย


ส่วนเนื้อหานั้นเหมือนเขียนมาเพื่อคานน้ำหนักหนังสือในยุค productive ที่ชวนให้ผู้คนเค้นประสิทธิภาพออกมาให้เต็มที่ ทำได้หลายอย่างในหนึ่งวัน ในขณะที่เล่มนี้กลับบอกคนอ่านว่า "จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักก่อนก็ได้" ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะพัก ไม่ต้องรู้สึกร้อนรนที่จะทำตัวว่าง


ฟังดูน่าหมั่นไส้นะครับ ทำไมต้องรู้สึกผิดที่ทำตัวว่าง แต่มีคนเป็นแบบนั้นจริง ๆ ...ผมคือหนึ่งในนั้น ทุกวันนี้ทั้งที่ไม่ได้จำเป็นต้องทำงานหนัก แต่ก็ยังหาเรื่องให้ตัวเองทำงาน คิดจะพักเดี๋ยวเดียวก็เผลอไปมีสาระ หาอะไรมาประดับปัญญาซะงั้น นั่งฟังเพลงนิ่ง ๆ ได้ไม่นาน ใจมันร้อนรนจนต้องหาอะไรทำ ใครที่เป็นแบบนี้ หนังสือเล่มนี้น่าจะพอมีวิธีช่วยได้ครับ


NIKSEN คือปรัชญาของชาวดัชต์ที่มีไว้เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (หลัง ๆ มีหนังสือแนวชื่อภาษาที่เราไม่คุ้น ถือว่าเรียกร้องความสนใจได้ดี เช่น hygge lykke honjok) ซึ่งจะว่าไปเนื้อหาในเล่มก็คือการเจริญสติแบบคนยุคใหม่ วิธีฝึกให้ใจสงบ ฝึกให้อยู่กับตัวเอง ผึกปล่อยใจ ฝึกจัดการกับความรู้สึกผิด จัดการกับความรู้สึกกลัวไม่ทันคนอื่นเขา แต่ละบทเขียนสั้น ๆ มีแบบฝึกหัดให้พร้อมใช้งาน ถือว่ายอดเยี่ยมครับ


มีหลายประโยคที่ผมชอบ ขอคัดมาบางประโยคครับ (ตัดต่อเพื่อความกระชับ)


  • ปล่อยตัวเองให้เฉื่อยชาโดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ควรทำ

  • จงใจดีกับผู้อื่นโดยไม่ละเมิดตัวเอง และที่สำคัญคุณต้องใจดีกับตัวเองด้วย

  • การไม่ทำอะไรเลยฟังดูเป็นบาปที่ไม่น่าให้อภัย เหมือนเราลืมไปแล้วว่าการนั่งอยู่เฉย ๆ และอยู่กับความคิดตัวเองเป็นอย่างไร จำไว้ว่าเวลาไม่ได้เป็นเงินเป็นทอง แต่เวลาเป็นของเรา

  • ถ้าสังเวยเวลาว่างของตัวเองเพื่อคนอื่นไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนกับคุณกำลังจุดเทียนจากทั้งหัวและปลาย จนสุดท้ายก็ไม่เหลืออะไรให้คนอื่นเลย

  • อย่าหยิบโทรศัพท์มือถือทันทีที่ตื่น (วางโทรศัพท์ไว้นอกห้องนอน ถ้าทำได้)

  • อย่าเก็บทุกอย่างเอาไว้ในสมอง แต่ให้เขียนลงไปแทน การเขียนคำพูดตนเองลงกระดาษช่วยแบ่งเบาภาระที่แบกรับ ทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ชัดเจน มองเห็นวิธีแก้ไข รับรู้ว่าคุณควบคุมอะไรได้บ้างและขจัดสิ่งที่เกินจะรับมือออกไป


โดยสรุป เล่มนี้เนื้อหาไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่ก็รวบรวมประเด็นในแนว ๆ นี้ได้ครบถ้วน (วิธีเจริญสติผ่อนคลายแบบคนรุ่นใหม่) มีแบบฝึกหัดให้ทำชัดเจน และจุดเด่นคือภาพสวย สี่สีทั้งเล่ม สาว ๆ น่าจะชอบครับ


NIKSEN ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย ราคาปก 245 บาท


17.The Basic Laws of Human Stupidity (โง่ศาสตร์)

หนังสือเล่มบางมาก ตัวเนื้อหาจริง ๆ แค่ 50 หน้าเท่านั้น เข้มข้น มีสาระ จริงจัง แต่อ่านแล้วต้องหัวเราะให้กับความตลกร้าย (ย้ำอีกทีว่าเขียนแบบจริงจัง คนเขียนเป็นศาสตราจารย์)


The Basic Laws of Human Stupidity เป็นความเรียงที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1976 ตอนนั้นผู้เขียนพิมพ์ออกมาแค่ 100 เล่มแล้วแจกจ่ายในวงเพื่อนฝูง แต่กลายเป็นว่าหลายปีต่อมามีคนติดต่อขอไปพิมพ์และกลายเป็นหนังสือขายดีในหลายประเทศ ซึ่งก็มีคนถกเถียงกันไม่รู้จบว่าตกลงหนังสือเล่มนี้มีสาระหรือไร้สาระ คนเขียนจริงจังหรือแค่ตลกร้ายกันแน่?


ผู้เขียนเปิดประเด็นด้วยการบอกว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนมีทุกข์ให้แบกกันทั้งนั้น แต่มนุษย์เรานั้นมีภาระเพิ่มเป็นพิเศษอีกอย่างคือ มีคนโง่ที่ทำให้คนอื่นเสียหายเดือดร้อน (และตนเองก็ไม่ได้รับประโยชน์ แถมยังเดือดร้อนตามไปด้วย)


จากนั้นก็บอกว่ามีกฏพื้นฐานอยู่ 5 ข้อเกี่ยวกับคนโง่ ได้แก่ คนโง่คือคนที่สร้างความเสียหายให้คนอื่น โดยตัวเองไม่ได้ประโยชน์, เราประเมินจำนวนคนโง่ที่มีอยู่ในสังคมน้อยเกินไป, โอกาสที่ใครสักคนจะเป็นคนโง่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของเขาคนนั้นเลย (เพศ ประเทศ​ อาชีพ หรือชนชั้นก็ไม่เกี่ยว), คนไม่โง่ประเมินอำนาจการทำลายล้างของคนโง่ต่ำเกินไป และสุดท้าย คนโง่นั้นอันตรายที่สุด


ฟังดูเหมือนดูถูกเหยียดหยามกล่าวหาคนโง่ แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินครับ ลองหามาอ่านก่อน ผมชอบวิธีการอธิบายของเขา มีการแบ่งประเภทคนด้วยแกน X แกน Y ออกเป็น 4 กลุ่ม มีการแจกแจงความถี่ที่ทำให้ซอยย่อยประเภทของผู้คนได้ละเอียดขึ้น เรียกว่าเนื้อหามีส่วนผสมทั้งคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เขียนในรูปแบบสั้น เข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์แสงให้ยุ่งยาก และมีอารมณ์ขันอย่างร้ายกาจจนผมอดหัวเราะไม่ได้ (ที่ชอบอีกอย่างคือศิลปกรรมของเล่มนี้ ภาพประกอบเรียบง่าย แต่คิดมาอย่างดี)


"โง่ศาสตร์" เขียน Carlo M.Cipolla แปล สุนันทา วรรณสินธ์ สำนักพิมพ์ Bookscape ราคาปก 165 บาท


18.ในแดนวิปลาส

เล่มนี้เห็นกำลังมาแรง หลายคนชื่นชม ผมเลยสั่งซื้อมาอ่านบ้างแบบไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น คิดว่าน่าจะเป็นนิยายสะท้อนสังคม แว่บแรกที่หนังสือมาส่ง ดีใจที่เล่มบาง 100 หน้านิด ๆ เท่านั้น (หลัง ๆ เริ่มชอบหนังสือแนวนี้ ไม่เป็นภาระ อ่านรวดเดียวจบ) แต่เมื่ออ่านจบ กลับพบความหนักอึ้งในเนื้อหา วนเวียนในความคิดอยู่นาน (แต่อ่านง่ายนะครับ แป๊บเดียวจบ)


ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติระบุไว้ว่าหนังสือเล่มนี้คือ "นวนิยายไทย" (เดาว่าผู้เขียนตั้งใจส่งข้อมูลไปแบบนั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ฉลาดมาก) ทั้งที่จริงแล้วเหตุการณ์และตัวละครในเล่มคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีตัวตนจริง เพียงแต่ผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อเสียงเรียงนามเท่านั้น หากแต่ใครติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่บ้าง (หรืออ่านจบแล้วไปค้นข้อมูลต่อ) ก็จะรู้เลยว่าแต่ละคนที่ผู้เขียนเขียนถึงนั้นคือใครบ้าง


ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเรียกว่าเป็นความเรียง เป็นบันทึกความทรงจำมากกว่า เพียงแต่ใช้ชั้นเชิงในการเขียนให้ออกมาในแนวทางสารคดี เรื่องสั้น หรือนิยายทำนองนั้น ซึ่งผมคิดว่าผู้เขียนทำได้ดีมากครับ แตะบางจุด เว้นบางที่ ปล่อยช่องว่างให้รู้ได้เองว่าคือเรื่องอะไร


ผู้เขียนบอกว่าเธอเป็นนักข่าว เขียนเรื่องนี้ขึ้นจากเหตุการณ์จริงบวกกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาซึ่งสถานการณ์การเมืองและสังคมเข้มข้นมาก เธอเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ และอยากแบ่งปันประสบการณ์อัปลักษณ์ในทศวรรษก่อนหน้าที่สิทธิเสรีภาพตกต่ำเป็นเวลายาวนาน


ใครที่ชอบหนังสือที่โด่งดังเมื่อ 1-2 ปีก่อนอย่าง "มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ" น่าจะชอบเล่มนี้ ผมคาดเดาว่าเล่มนี้น่าจะฮิตในระดับเดียวกัน (หรือฮิตมากกว่า เพราะบางกว่า อ่านง่ายกว่า ราคาย่อมเยากว่า) และน่าจะถูกพูดถึงบอกต่อกันไปอีกไม่น้อยครับ


ในแดนวิปลาส : บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน เขียนโดย รัช สำนักพิมพ์ Paragraph 128 หน้า ราคาปก 150 บาท



689 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page