top of page

10 วิดีโอบน youtube ที่ดูแล้วชอบในครึ่งปีแรก 2020

Updated: Aug 10, 2020

เดี๋ยวนี้วิธีการรับข้อมูลของเราเปลี่ยนไปเยอะ จากการอ่าน การฟัง เปลี่ยนมาเป็นการดูวิดีโอคลิปสั้น ๆ แต่ทรงพลัง ส่วนตัวผมคิดว่า youtube ได้เปลี่ยนวิธีการเสพสื่อไปตลอดกาล มันคือห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีทั้งสาระและความบันเทิง มีทั้งคลิปสั้น ๆ ไม่กี่นาที จนถึงหลายชั่วโมง


ผมมักจะนำวิดีโอที่ดูแล้วประทับใจ มาแนะนำไว้ในแฟนเพจ Boy's Thought อยู่บ่อย ๆ แต่การย้อนดูโพสต์เก่า ๆ ใน facebook นั้นทำได้ยาก ผมจึงรวบรวม 12 วิดีโอบน youtube ที่ดูแล้วชอบในรอบครึ่งปี 2020 มาไว้ตรงนี้ เผื่อใครจะตามไปดูบ้างครับ ...มาเริ่มกันเลย


1. วิดีโอที่ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีเล่าเรื่องตลกแบบเป็นธรรมชาติ

ใครอยากศึกษาวิธีเล่าเรื่องตลกแบบเป็นธรรมชาติ (แต่ซ้อมมาอย่างดี) ลองดูคลิปนี้ครับ ผมให้ 10 เต็ม 10 เลย ครบถ้วนในวิธีการที่คนธรรมดา ๆ จะทำได้...ถ้ารู้วิธี


ดูวิดีโอก่อนนะครับ แล้วค่อยกลับมาอ่านที่ผมเขียนไว้ ไม่อย่างนั้นอาจโดนสปอยล์ (ในคลิปมีคำไม่สุภาพ แต่ไม่ลามก และย้ำว่ามันคือตลก เพราะฉะนั้นอย่าซีเรียส ถ้าเขาจะพูดถึงนิสัยของบางชนชาติ ซึ่งเป็นหัวข้อยอดฮิตของทุก standup comedy)


6+2 วิธีที่คนธรรมดาๆ จะเล่าเรื่องตลกได้ เริ่มจาก...


1.เริ่มจากชวนผู้ฟังมาเป็นพวก ชวนคุยเหมือนนอกบท เพิ่งคิดได้ แต่จริง ๆ เตรียมมาจากบ้านแล้ว มันคือการ Rapport หรือตีสนิท ให้หาบางอย่างที่คนฟังคล้ายกับเรา ชวนบางคนคุย เท่านี้บรรยากาศก็จะผ่อนคลาย ในที่นี้คือหาพวกคนที่หัวล้านเหมือนกัน


2.เล่นตัวเอง ปลอดภัยที่สุด ตลกที่สุด ความหมายคือล้อตัวเอง เล่นปมด้อย เล่นจุดอ่อนตัวเอง ต่อให้ไม่ตลก ก็ยังดูถ่อมตัว คนฟังจะรักเรา ห้ามเล่นปมด้อยคนฟังเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ตลกแล้ว ยังอาจซวยได้ (เว้นแต่คุณจะดังมาก จนใคร ๆ ก็รักและรู้ว่าหยอก)


3.เล่าเรื่องจริง (แต่งเติมสีสันได้นิดหน่อย) อย่าพยายามจำเรื่องแต่งมาเล่า เพราะเราจะกังวล กลัวลืมมุก ถ้าไม่ใช่มืออาชีพจริง ๆ จะยากกว่าเล่าเรื่องจริงเสียอีก ที่สำคัญยังอาจเป็นเรื่องที่ส่งต่อกันไลน์ และคนฟังเคยอ่านกันหมดแล้ว ถ้าเราเล่า เสียงแอร์จะดังมาก ส่วนคนฟังเงียบสนิท โดยเรื่องจริงที่ว่านั้น ต้องเป็นเรื่องที่เราตกอยู่ในสถานการณ์กำลังมีปัญหา มีความด้อยในสถานการณ์นั้น ความหมายคือ เรื่องนี้ตอนที่เกิดขึ้นไม่ตลกเลย แต่พอเหตุการณ์ผ่านไป เอามาเล่าแล้วจะตลกที่เราเคยตกอยู่ในสถานการณ์นั้น ผมเคยอ่านเจอในหนังสือ The Comedy Bible ของ Judy Carter เธอบอกว่าหนึ่งในสาเหตุที่คนเราหัวเราะ ก็เพราะมีความรู้สึกเหนือกว่า เมื่อเห็นคนที่อยู่บนเวทีกำลังตกที่นั่งลำบาก มันจึงเป็นอะไรที่ตลกมาก ๆ


4.ค่อย ๆ ปูด้วยเรื่องเล็ก ๆ ก่อนจะเข้าเรื่องหลัก ความหมายคืออุ่นเครื่องก่อน ในที่นี้ จะเห็นว่าเขาเล่าเรื่องให้เห็นภาพความเป็นคนจีนก่อน เช่น การตั้งราคาสินค้า การส่งเสียงโวยวาย ก่อนจะเข้าเรื่องหลักคือเหตุการณ์ที่เขาโดนขโมยมือถือ


5.เรื่องเล็ก ๆ ที่บอกไว้ในข้อ 5 ควรเล่าเพื่อจุดประสงค์บางอย่างที่จะปูพื้นมาสู่เรื่องหลัก เช่นในที่นี้ เขาเล่าให้เห็นความเจ้าเล่ห์ ความเสียงดังของชาวจีน (บางคน) ซึ่่งความเจ้าเล่ห์และเสียงดัง จะถูกนำมาใช้ในเรื่องหลักที่เขาจะเล่าต่อไป


6.ท่าทางในการเล่า สำคัญพอ ๆ กับเรื่องที่เล่า ความหมายคือ หากเล่าเป็นบทสนทนา เราควรแสดงเป็นตัวละครสองตัวคุยกัน ไม่ถึงขั้นต้องดัดเสียงหรือแสดงโอเว่อร์ แค่สลับข้างหันไปมา ทำทีเป็นสองคนคุยกันก็พอ ทำแบบนี้แล้วคนฟังจะเห็นภาพ รู้สึกว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น เรื่องเล่าจะมีชีวิตชีวา รวมถึงรายละเอียดในการเล่าด้วย อย่างเช่นในที่นี้ คนเล่าพูดภาษาจีนได้จริง ๆ เวลาเล่าจึงสนุกขึ้นเยอะ


จริง ๆ ใครทำได้ 6 ข้อนี้ คือสุดยอดแล้วครับ แต่คลิปนี้ ทำได้เจ๋งกว่านั้นอีก ผมขอเพิ่มอีก 2 ข้อ


7.เมื่อจบเรื่องหลัก คลี่คลายในปัญหาแล้ว ต่อด้วยเรื่องเล็ก ๆ อีกสักเรื่องที่เหมือนจะชวนให้เรากลับไปตกอยู่ในสถานการณ์เดิมอีกครั้ง แล้วตัดจบเลย นี่คือวิธีการเดียวกับการเขียนบทซิตคอม คือสร้างปัญหา แก้ปัญหา แล้วสร้างปัญหาใหม่อีกที คนดูจะหัวเราะหนักมาก


8.มี punchline หรือประโยคเด็ดที่เก็บไว้เล่นซ้ำได้ในตอนท้าย ข้อนี้ถ้าทำได้นี่คือสมบูรณ์แบบ ซึ่งคลิปนี้ทำได้ดีมากครับ ประโยคเด็ดคือ "นายมาจากประเทศอะไรเหรอ?" เขาใช้ไปแล้วหนึ่งครั้ง เรียกเสียงหัวเราะได้ประมาณนึง แต่เขาวางหมากไว้แล้วว่าจะนำกลับมาปิดท้าย ซึ่งครั้งนี้คนฟังจะหัวเราะหนักกว่าเดิม เพราะยังรู้สึกเชื่อมโยงกับเรื่องก่อนหน้า จังหวะนี้ พอปล่อย punchline แล้วต้องจบทันทีเลย ห้ามพูดต่อ รับรองว่าจะลงเวทีด้วยเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือไม่หยุด เพราะคนฟังยังอยู่ในอารมณ์นั้น


Pippo คือผู้ก่อตั้ง Storylog ผมเคยพบและพูดคุยกับเขาอยู่บ้าง แต่ไม่รู้เลยว่าเขาเล่าเรื่องได้สนุกขนาดนี้ เขาบอกว่านี่คือครั้งแรกในการยืนเดี่ยวเล่าเรื่องฮา ๆ แบบนี้ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเขาทำได้ดีมาก ซึ่งนั่นแปลว่าซ้อมมาดี เรื่องพวกนี้ไม่มีฟลุก ไม่มีพรสวรรค์ แต่ซ้อมหนักมากครับ


2. วิดีโอที่ทำให้ผมนั่งน้ำตาไหลอยู่หน้าจอ

หนังสั้นประกอบเพลง "ไม่ไหวอย่าฝืน" ของ พลพล ใครดูแล้วน้ำตาไม่ไหล ถือว่าใจแข็งมาก ในตำรามักบอกว่าครอบครัวคือคนที่เราคุยกันได้ทุกเรื่อง แต่ในชีวิตจริง หลายครอบครัวไม่คุยกัน ไม่ใช่ไม่รักกัน แต่เพราะรักนั่นแหละ เลยเก็บบางเรื่องไว้...ไม่คุยกัน เรื่องนี้เขียนบทโดยพี่เจี๊ยบ วรรธนา นักแสดงเล่นดีทุกคน ไม่ห่วงหล่อไม่ห่วงสวยกันเลย เป็น 40 นาทีที่คุ้มค่าน้ำตารินครับ




3. วิดีโอที่ทำให้ผมเข้าใจคำว่า "พลังแห่งการขอบคุณ"

เราคงเคยได้ยินเรื่อง "พลังแห่งการขอบคุณ" มาบ่อยแล้ว แต่ 10 นาทีในคลิปนี้ จะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้แจ่มแจ้งชัดเจนกว่าเดิม พี่โหน่ง วงศ์ทนง เล่าเรื่องการขอบคุณได้เรียบง่าย แต่รู้สึกได้จริง มันทำให้ผมกลับมาทบทวนว่าแต่ละวันเราลืมขอบคุณใครไปบ้างหรือเปล่า? เพราะฉะนั้นขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านสิ่งที่ผมเขียนมาโดยตลอด ขอบคุณมากครับ


4. วิดีโอที่ทำให้ผมเข้าใจคำว่า "อิคิไก"

ชวนดูและฟัง ผศ.ดร.กฤตินี หรือที่หลายท่านรู้จักในนาม "เกตุวดี Marumura" พูดถึงเรื่องของ "อิคิไก" นอกจากปากท้องที่ต้องมีชีวิตรอดแล้ว เรายังต้องการความหมายของการมีชีวิตด้วย อาจารย์เล่าได้เข้าใจง่าย น่าฟังครับ เช่น คนที่พบอิคิไกยาก มักถามว่า ฉันจะ "ได้" อะไร ส่วนคนที่มีอิคิไกง่าย มักจะถามว่า ฉันจะ "ให้" อะไร


5. วิดีโอที่ทำให้ผมคิดว่าคงเปิดฟังซ้ำได้อีกตลอดชีวิต

ขนาดเครื่องใช้ไฟฟ้ายังต้องมีคู่มือ มนุษย์เราซับซ้อนกว่ามาก จะไม่มีคู่มือได้อย่างไร หนังสือเสียง "คู่มือมนุษย์" บันทึกเสียงดีมาก เสียงอ่านชัดเจน ฟังแล้วรู้สึกสงบ ฟังกันยาว ๆ เกือบ 5 ชั่วโมงครับ


6. วิดีโอที่ทำให้ผมมั่นใจว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว

ยกให้เป็นที่สุดแห่งปี "ป๋าเต็ดทอล์ก" คือหนึ่งในรายการทอล์คที่ผมยกย่องในคุณภาพ ถ่ายสวย คำถามดี คำตอบดีมาก อีพีนี้แนะนำมาก "โอม ค็อกเทล" ผมชอบที่สุดตั้งแต่ดูมาทุกตอน มี 2 ตอน 2 ชั่วโมง ใครกลัวดูไม่จบ ให้ดู EP2 ก่อน เพราะเนื้อหาสุดมาก ป๋าเต็ดยื่นคำต่าง ๆ ให้โอมนิยาม เช่น อัตตา ความเจ็บปวด ความกลัว ความเปราะบาง ทุกคำตอบที่โอมพูดแทบจะต้องจดใส่กระดาษติดข้างฝาเลยทีเดียว


ผมชอบประโยคนี้ที่สุด "ความสงบนั้นราคาแพงที่สุด" ผมเห็นด้วยและพยายามทำตัวให้ได้แบบนั้นในทุกวันนี้ ลองดูนะครับคลิปนี้ดีจริง คุ้มค่าเวลาของคุณแน่นอน



7. วิดีโอที่ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีรับมือกับความปกติใหม่

แม้จะมีถึง 3 คลิป และยาวร่วม 3 ชั่วโมง แต่ก็คุ้มค่าคุ้มเวลา "เคน นครินทร์" แห่ง THE STANDARD สรุปงาน THE STANDARD Economic Forum งาน Virtual Conference ครั้งแรกของเมืองไทย สาระล้วน ๆ จากบุคคลแถวหน้าของประเทศ จะฟังอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าดูวิดีโอไปด้วย ก็จะมี picture talk เป็นภาพสรุปให้ด้วย แม้ว่า Covid-19 และ New Normal จะถูกพูดถึงน้อยลงแล้ว แต่อย่างน้อยวิดีโอก็เป็นหมุดหมายบันทึกไว้ว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนโลกแบบนี้้เกิดขึ้นด้วย




8. วิดีโอที่ทำให้ผมเข้าใจแล้วว่าไทยแลนด์นั้นอเมซซิ่งจริง ๆ

ชวนดูสารคดีชิ้นนี้ครับ ดูเพลิน สนุกดี ฝรั่งคนหนึ่งมาอยู่เมืองไทย 5 วันเพื่อตามหาว่า "ภาพลายเส้นที่กระจายอยู่ตามทางเท้าและเสาทางด่วนใน กทม. ใครเป็นคนวาด? วาดทำไม?" ผมชอบความเอาจริงกับเรื่องที่ดูเล็ก ๆ ผมชอบที่ได้เห็นกรุงเทพ ฯ ​ในมุมมองของชาวต่างชาติ มันดูแปลกตา ทั้งที่เห็นอยู่ทุกวัน เข้าใจเลยว่าทำไมฝรั่งบอกว่าไทยแลนด์นั้นอเมซซิ่งจริง ๆ และผมชอบอีกอย่างคือตอนจบ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าลายเส้นเหล่านี้จะได้รับการยอมรับถึงขนาดนี้ ทั้งที่บางคนอาจบอกว่าผิดกฏหมาย ทำบ้านเมืองเลอะเทอะ ...อันนี้แล้วแต่จะคิดครับ ลองตัดสินกันเอง ส่วนผมแค่ชอบสารคดีชิ้นนี้ที่ดูสนุกมาก (พูดอังกฤษนะครับ แต่เข้าใจไม่ยาก)


9. วิดีโอที่ทำให้ผมรู้ว่าความสบายตาเป็นอย่างนี้นี่เอง

วิดีโอนี้ต้องดูครับ! รับรองว่าคุณจะมีความสุข มีรอยยิ้ม อิ่มใจ (แต่หิว) ผมรู้จักเธอคนนี้จากเพจ ไทยคำ-จีนคำ เธอชื่อ หลี่จื่อชี (李子柒) มีรายได้ปีละ 800 ล้านบาท จากการทำวิดีโอออนไลน์ ความมหัศจรรย์ในคลิปวิดีโอของเธอก็คือ เธอไม่พูดอะไรกับกล้อง ไม่แม้แต่จะมอง ปล่อยให้กล้องถ่ายกิจกรรมที่เธอทำไปเรื่อย ๆ เธอทำอาหารอยู่ในชนบทเมืองเสฉวน แต่ความเจ๋งที่สุดก็คือถ่ายสวยมากกก สีสด บันทึกเสียงชัดทุกรายละเอียด เต็มไปด้วยบรรยากาศในชนบท ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง และเสียงหัวเราะ ผมชอบที่เธอบอกว่า "ผู้คนพบชีวิตที่เคร่งเครียดมากพอแล้ว จึงควรได้เสพสื่อที่ละมุน สบายตา ทุกคนควรเกิดมาเพื่อดื่มด่ำกับชีวิต ไม่ใช่แค่เอาตัวรอดไปวัน ๆ" ...คลิปของเธอให้ความรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ


10. วิดีโอที่ทำให้ผมเรียนรู้การทำความเข้าใจผู้อื่น

ผมชอบ "นิ้วกลม" ในวัย 41 เขาดูสุขุมนุ่มลึกเมื่อเทียบกับนิ้วกลมเมื่อสมัย "โตเกียวไม่มีขา" บทสัมภาษณ์นี้ว่าด้วยวัยที่เปลี่ยนไป ความร่วงโรยของคนใกล้ตัว สัมผัสแรกของความตาย และการขยับของศูนย์กลางจักรวาล จากที่ทุกอย่างต้องหมุนรอบตัวฉัน ก็เริ่มคลี่คลายกลายเป็นการทำความเข้าใจผู้อื่น โดยเฉพาะ "แม่" ผู้มีเวลาชีวิตเหลือน้อยลงทุกวัน...เรื่องแบบนี้ อายุถึงจึงเข้าใจ ที่ชอบอีกอย่างคือพิธีกร "คุณประสาน อิงคนันท์" ถ้าอยากรู้ว่าศิลปะของการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจนั้นเป็นอย่างไร ให้ลองสังเกตคุณประสานดูครับ เจอผู้ฟังแบบนี้ เป็นใครก็พร้อมเปิดหมดทั้งหัวใจ



คอร์สออนไลน์จาก บอย วิสูตร เกือบ 1,000 วิดีโอ (ราคาพิเศษ)

3,705 views0 comments

Comments


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page