
ปี 2018 ถือเป็นปีที่ผมอ่านหนังสือเยอะมาก (69 เล่ม) และไม่ใช่แค่อ่านผ่าน ๆ หรืออ่านจบแล้วก็แล้วกันไป แต่ต้องจับใจความสำคัญให้ได้ว่าผู้เขียนกำลังสื่ออะไร
เนื่องจากต้องนำมาพูดคุยไว้ในคอร์ส Food for Thought
เรียกว่าเป็นปีที่เข้มข้นที่สุดในชีวิตการอ่านหนังสือของผม
จนรู้สึกได้เลยว่าทักษะการอ่านจับใจความ พัฒนาขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าตัวเองอ่านหนังสือไม่ค่อยทันสมัย
หมายถึง เล่มที่เขาฮิตกัน กว่าจะอ่าน ก็เลิกฮิตกันไปแล้ว
เพราะรอให้มั่นใจเสียก่อนว่าดีแน่ จะได้ไม่เสียเวลาอ่านฟรี
หรือบางเล่มเก่ามาก เลือนลางในความทรงจำ
ก็ยังอุตส่าห์ไปขุดมาอ่านจนได้
(ต้องขอบคุณ amazon kindle และ bookdepository)
เพื่อเป็นการจดบันทึกความทรงจำของตัวเอง
(รวมถึงแบ่งปันสู่คนอื่น ๆ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์บ้าง)
จากหนังสือ 69 เล่ม ผมคัดเลือกมา 8 เล่ม
มีอยู่เล่มเดียวที่เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2018
นอกนั้นตีพิมพ์ก่อนหน้านั้นทั้งเก่าและเก่ามาก
เล่มเก่าสุดคือ ตีพิมพ์เมื่อปี 1989
แต่ผมเพิ่งหยิบมาอ่านในปี 2018
เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นหนังสือใหม่สำหรับผม
และ 8 เล่มที่ว่า มีรายนามดังต่อไปนี้ครับ
(ไม่ได้เรียงตามลำดับความชอบ)
1. A Little History of Religion : Richard Holloway (2016)

หนังสือที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ของศาสนาได้สนุกมาก
เรื่องที่เคยชวนง่วงนอนสมัยเรียน กลับกลายเป็นน่าติดตาม
ต้องยกความดีความชอบให้ผู้เขียน (ปัจจุบันอายุ 80 กว่า)
เขาคืออดีตบิชอปและหัวหน้านักบวชแห่งคริสตจักร
ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักวิจารณ์ด้านศาสนาที่มีชื่อเสียง
Richard Halloway เริ่มจากประเด็นที่บอกว่า
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ต้องมีศาสนา
เพราะมนุษย์นั้นมีความรู้สึกตัว รู้ว่านี่คือตัวฉัน
จึงเกิดความสงสัยและกลายเป็นคำถามว่า
1. ใครสร้างมนุษย์ขึ้นมา? 2. เมื่อเราตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับเรา? และศาสนาก็พยายามจะตอบ 2 คำถามนี้
คำถามแรกนั้น หลายศาสนามักบอกว่า
พระเจ้าเป็นผู้สร้างทุกอย่าง
(พระเจ้าในความหมายว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์)
ส่วนอีกคำถาม คนเราตายแล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น?
มนุษย์เราเชื่อว่ามีการเดินทางหลังความตายเกิดขึ้น
และจุดนี้เองที่ศาสนามีคำตอบต่อชีวิตหลังความตาย
เพราะศาสดาของหลายศาสนาต่างพูดคล้ายกันว่า
เคยไปเยือนโลกหลังความตายนั้น
หรือไม่ก็โลกหลังความตายได้บอกอะไรบางอย่าง
จึงทำให้เขาต้องเผยแผ่สิ่งที่ได้รับรู้มา
และประวัติศาสตร์ของศาสนา
ก็คือเรื่องราวความเคลื่อนไหวของศาสดา
รวมถึงคัมภีร์ที่เขียนถึงเรื่องราวของพวกเขา
ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการโต้เถียง
แต่กลับมีความหมายกับผู้คน และสืบทอดจนถึงปัจจุบัน
ขอย้ำอีกทีว่านี่เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก
ร้อยเรียงจากศาสนาหนึ่ง สู่อีกศาสนา ได้อย่างน่าสนใจ
ไม่ต่างอะไรกับการดูซีรีส์ที่จบตอนแล้วต้องดูตอนต่อไป
แนะนำแบบสุด ๆ ครับ
ฉบับปกแข็งภาษาอังกฤษ ผมสั่งจากต่างประเทศ
กระดาษคุณภาพดี รูปภาพประกอบก็งดงามมาก
และหนังสือเล่มนี้มีฉบับภาษาไทยด้วย ในชื่อว่า
ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์
โดยสำนักพิมพ์ openworlds
2. The 7 Habits of Highly Effective People : Stephen R. Covey (1989)

นี่คือหนังสือที่ผมเคยคิดว่า "ฉันรู้เนื้อหาหมดแล้ว"
ไม่ต้องอ่านให้เสียเวลา เขามีบทสรุปให้แล้ว
นิสัย 7 อย่างนั้นมีดังต่อไปนี้
1. Be Proactive
2. Begin with the End in Mind
3. Put First Things First
4. Think Win-Win
5. Seek First to Understand, Then to be Understood.
6. Synergize
7. Sharpen the saw
แต่ความจริงก็คือ
ลองจินตนาการว่ามีคนบอกคุณว่า Harry Potter นั้นมี 7 เล่ม แต่ละเล่มชื่ออะไร คิดว่าเราจะเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อหรือไม่? ...คงแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ความดีงามของหนังสือเล่มนี้ก็คือ มันถูกวางโครงสร้างไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
และเราจะไม่ทางรับรู้ถึงภาพรวมได้เลย
ถ้าเราอ่านแค่ 7 ข้อนี้มีอะไรบ้าง
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนครับ
Part 1 : paradigms & principles
เขาพูดถึงการเปลี่ยนกรอบความคิดใหม่
เพราะกรอบความคิดกำหนดการกระทำทั้งหมด
Part 2 : Private Victory หรือความสำเร็จส่วนบุคคล
ประกอบด้วย 3 นิสัย (นิสัยที่ 1-2-3)
ที่จะเปลี่ยนเราจากคนที่พึ่งพิงคนอื่น (Dependence)
ไปเป็นคนที่พึ่งพิงตัวเองได้ (Independence)
Part 3 : Public Victory หรือความสำเร็จส่วนรวม
ประกอบด้วยอีก 3 นิสัย (นิสัยที่ 4-5-6)
ที่จะเปลี่ยนเราจากคนที่ทำเองคิดเองคนเดียว
ไปเป็นรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น
พึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence)
Part 4 : Renewal หรือการเติมพลัง คือนิสัยข้อสุดท้าย นิสัยที่ 7
ที่จะทำให้ทั้ง 6 นิสัยก่อนหน้านั้นแข็งแกร่ง
และติดตัวเราจนพาเราไปสู่เป้าหมายในที่สุด
สรุปก็คือหนังสือเล่มนี้คือคู่มือการเดินทาง
การเดินทางจากการเอาแต่พึ่งพิงคนอื่น
ไปสู่การพึ่งตนเอง เข้าควบคุมชีวิตตัวเอง
และนำไปสู่การรู้จักประสานพลังกับผู้อื่น
กลายเป็นการพึ่งพา ไม่ใช่พึ่งพิง
ถ้าตั้งใจอ่านทั้งเล่มจนจบ
เราจะพบเนื้อหาดี ๆ อีกมากมายที่ไม่ถูกพูดถึง
ไม่ว่าจะเป็นที่มาของการเขียนหนังสือเล่มนี้
นั่นคือ Personality Ethics กับ Character Ethics
ว่าด้วยการให้ค่ากับเปลือกนอก และเนื้อแท้ข้างใน
หรือเรื่องของ Emotional Bank Account
ว่าด้วยบัญชีความเชื่อใจที่เราต้องหมั่นฝากไว้
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัว
และหากใครเคยอ่านฉบับภาษาไทย แต่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
ขอให้รู้ไว้ว่า..ไม่ใช่ความผิดของคุณ เพราะฉบับแปลไทย ผู้แปลคงพยายามเต็มที่แล้ว แต่กลายเป็นว่าอ่านยากกว่าภาษาอังกฤษ นับเป็นความประหลาดอย่างยิ่ง
ผมแนะนำให้อ่านฉบับภาษาอังกฤษครับ
ปี 2019 หนังสือเล่มนี้จะมีอายุครบ 30 ปี
อย่าได้ดููถูกว่าเป็นหนังสือเก่าแล้ว
แต่อยากให้มองว่านี่เป็นหนังสือคลาสสิก
เนื้อหาในเล่มจะทันสมัยไปอีกนานเท่านาน
เพราะเส้นทางการพัฒนาตนเอง
ไม่ว่าจะกี่ปี ก็คงไม่หนีไปจาก 7 นิสัยในเล่ม
3. Principles : Ray Dalio (2017)

หนังสือเล่มหนาที่ไม่รักกันจริง คงอ่านไม่จบ
ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตและแนวคิดของ Ray Dalio
ผู้ก่อตั้ง hedge fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ล่าสุดผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ในวัย 70 ปี
เพิ่งได้รับการจัดอันดับให้ติด 1 ใน 100 ผู้มั่งคั่งที่สุดในโลก
เรื่องราวในหนังสือจึงเป็นการกลั่นประสบการณ์ของเขา
ทั้งเรื่องประวัติ หลักการชีวิต และหลักการการทำงาน
โดยแยกเป็นส่วน ๆ อย่างชัดเจน
เวลาที่ใคร ๆ พูดถึงหนังสือเล่มนี้
ก็มักจะเน้นไปที่แนวคิดชีวิตและการทำงาน
ซึ่งพูดถึงการตั้งเป้าหมาย 5 ขั้นตอน ได้แก่
มีเป้าหมายที่ชัดเจน แจกแจงปัญหาที่ขวางทางไม่ให้เราถึงจุดหมาย
สำรวจให้ถึงรากของปัญหาว่าเกิดจากอะไร
ออกแบบแผนการกำจัดปัญหานั้น
และลงมือทำตามแผนจนกว่าจะได้ผลลัพธ์
นอกจาก 5 ขั้นตอนนี้แล้ว
ยังมีเรื่องการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น
เพราะอีโก้มักทำให้เราคิดว่าถูกเสมอ
ยังไม่นับ Blind Spot อันเป็นจุดบอดที่เราไม่รู้ตัว
Ray Dalio ย้ำเรื่องนี้ตลอดทั้งเล่ม
ว่าเราต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถืือ
ไว้คอยแสดงความ "ไม่เห็นด้วย" กับเรา
แต่สารภาพตรง ๆ ว่า
ผมประทับใจเนื้อหาส่วนแรกของหนังสือที่สุด
เขาตั้งชื่อว่า Where I'm coming from
ผู้เขียนเล่าประวัติส่วนตัวตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่เหตุผลที่เขาซื้อหุ้นตัวแรก ตอนอายุ 12 ปี
การเข้าสู่โลกของ Commodity Futures
การตกงานและนำไปสู่การตั้งบริษัทในห้องนอน
ความมั่นใจเกินไปที่ให้บทเรียนอันแสนเจ็บปวด
ไปจนถึงการก่อร่างสร้างบริษัทตลอด 40 ปี
ผ่านเหตุการณ์ยุ่งเหยิงของอเมริกา
ผมชอบมาก ๆ ตอนที่เขาทิ้งท้ายไว้ว่า
เมื่อขึ้นมาอยู่จุดสูงสุดแบบที่ใครก็อยากเป็น เขาพบว่ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่คนส่วนใหญ่คิด
จริง ๆ แล้วสิ่งที่สำคัญในชีวิต มีเพียงแค่...
ได้กินอยู่หลับนอนที่ดีตามสมควร
ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ตัว
สิ่งพวกนี้ต่างหากที่สำคัญ
และมันก็ไม่ต้องใช้เงินเยอะแยะ
เผลอ ๆ การมีเงินมากเกินไป
ยังนำมาซึ่งภาระที่ต้องแบก ต้องดูแล
ต้องปวดหัวกับทางเลือกที่มากเกินไป
และการมีชื่อเสียงก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย
เล่มนี้ยังไม่มีแปลภาษาไทยนะครับ
แต่ฉบับภาษาอังกฤษสวยงามน่าสะสม
4. Never Split the Difference: Negotiating As If Your Life Depended On It : Chris Voss (2016)

หนังสือที่อ่านแล้ว "มันส์" เหมือนดูหนังแอ็คชั่นฮอลลีวู้ด
เขียนโดยอดีต FBI ที่ทำหน้าที่เป็น hostage negotiator
(ผู้เจรจาต่อรองตัวประกันที่ถูกผู้ร้ายจับตัว)
เนื้อหาพูดถึงวิธีการเจรจาต่อรองให้ได้ผล
โดยผู้เขียนบอกว่าเทคนิคที่เขาใช้ในการทำงานหลายสิบปี