top of page

กุศโลบายของคนโบราณ

Updated: May 22, 2021

ผมมีความเชื่อว่าคนสมัยก่อนนั้นฉลาด ฉลาดมาก และเผลอ ๆ จะมากกว่าเราคนยุคปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ พวกเขามีความรู้ มีกุศโลบายบางอย่าง ที่เหมือนจะสูญหายไประหว่างทาง พอถึงยุคที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ เราจึงมองความเชื่อของคนโบราณว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อไปเสียอย่างนั้น ทั้งที่จริงแล้ว พวกเขาอาจ "เข้าใจ" บางเรื่องที่คนยุคนี้ไม่เข้าใจ ผมจะลองยกตัวอย่างสัก 2-3 เรื่อง

ภาพถ่ายโดย Anna Shvets จาก Pexels

1."การสวดมนต์ขอพร"


บางคนมองว่าเป็นเรื่องงมงาย แต่ผมกลับมองว่านี่คือ "การรวบรวมความตั้งใจ" มีสมาธิจดจ่อกับเป้าหมายที่ชัดเจน เห็นภาพชัดว่าตนเองต้องการอะไร รวมทั้งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นการติดต่อกับ "พลังอันยิ่งใหญ่" ที่อยู่นอกเหนือตัวเรา

แน่นอน ผมไม่ได้หมายถึงการขอพรให้ถูกหวย รวย ๆๆๆ แล้วจากนั้นก็ทำตัวเหมือนเดิมทุกอย่าง หวังว่าดวงจะดี แต่ผมหมายถึงการที่ถ้าเรากำลังทำอะไรสักอย่างที่รู้สึกว่ายาก ต้องการกำลังใจ ต้องการความมั่นใจ การสวดมนต์ขอพรจะช่วยในส่วนตรงนี้ได้ ในวันแย่ ๆ ของชีวิต ผมก็เคยสวดมนต์ขอพร (ทั้งที่ตอนนั้นไม่เชื่อเลยสักนิด) ปรากฏว่าสิ่งที่สวดอ้อนวอนกลับกลายเป็นความจริงในเวลาต่อมา (แต่แน่นอนว่า ผมเองก็ต้องทำสิ่งใหม่ ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่นาน)

นี่จึงคือกุศโลบายอันชาญฉลาดของคนโบราณ ที่ทำให้เรารู้จักคุยกับตัวเอง คุยกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา


2."เข้าป่าอย่าพูดถึงเสือ"

ผมคิดว่าคำสอนนี้ดีมาก มันแสดงให้เห็นถึง "กฎแห่งความคาดหวัง" กล่าวง่าย ๆ ก็คือ สิ่งใดที่เราให้ความสำคัญ สิ่งใดที่เรากำลังมองหา เราก็จะเห็นในสิ่งนั้น คล้ายดึงดูดมันเข้ามาหาเราเอง ...การเข้าป่าแล้วพูดถึงเสือ จึงเหมือนการคาดหวังว่าจะมีสิ่งร้าย ๆ รอเราอยู่ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการไม่เตรียมตัวนะครับ)


อาการแบบนี้คนส่วนใหญ่เป็นกันมาก พวกเขามองเห็นอนาคตอันเลวร้ายรออยู่ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างฉันต้องไม่มีที่จอดรถแน่ ๆ เลย ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างชีวิตตอนแก่คงลำบากแน่ ๆ เลย ลูกหลานคงไม่รักฉัน

เพราะฉะนั้นอยากมีชีวิตดี ปากจึงต้องดีด้วย ปากเสีย แม้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ชีวิตก็จะเสียไปเยอะ นี่จึงคืออีกหนึ่งกุศโลบายอันชาญฉลาดของคนโบราณ ที่ทำให้เราตระหนักว่าอย่าเอาแต่คาดหวังว่าจะมีสิ่งร้าย ๆ เกิดขึ้น


...เพราะมันจะเกิดขึ้นจริง

3."ให้ระวังจิ้งจกทัก"

คำสอนนี้ตีความแบบตรงตัวไม่ได้ เพราะมันจะฟังดูงมงายที่ไปฟังเสียงสัตว์ร้อง แล้วแปลว่าจะโชคไม่ดี แต่ผมคิดว่าคนโบราณท่านกำลังหมายถึง "ลางสังหรณ์" ซึ่งผมอยากจะแปลว่ามันหมายถึงเรื่องดีหรือร้ายก็ได้ และจิ้งจกของคนโบราณนั้นอาจหมายถึง ใจเราเองที่ "ร้องทัก" ก็เป็นได้

ยิ่งเขียนยิ่งฟังดูเพ้อเจ้อ แต่ในหลายครั้งผมลองจับความรู้สึกตัวเอง พบว่าถ้าวันไหนจิตใจปลอดโปร่ง แจ่มใส วันนั้นก็จะดีไปทั้งวัน ถ้าวันไหนตื่นมา ไม่รู้ทำไมใจขุ่นมัว ปรากฏว่าถ้าไม่แก้ วันนั้นก็จะแย่ไปทั้งวัน วันไหนถ้ารู้สึกใจไม่ดี ผมจะแก้ที่ใจตัวเองก่อน ค้นเข้าไปลึก ๆ ว่าทำไมวันนี้รู้สึกแบบนี้ ทำไมเหมือนมีเมฆปกคลุมใจ เป็นเพราะเรื่องอะไร เป็นเพราะใคร เป็นเพราะคำพูดไหน ถ้าค้นเจอแล้ว ก็แก้ไข คิดเรื่องอื่น หาอะไรที่เบิกบานใจทำ

ถ้าค้นไม่เจอ นั่นแปลว่าลางสังหรณ์บางอย่างกำลังทำงาน ไม่มีเหตุผลที่อธิบาย แต่บางสิ่งกำลังบอกอะไรบางอย่างกับเรา และเราควรระวังตัวไว้หน่อยก็ดี


หลายครั้งผมตัดสินใจถูก แบบไม่รู้ว่าเพราะอะไร แคล้วคลาดมาได้ ตกหล่มหลุมแล้วกลับขึ้นมาได้ใหม่ น่าจะโชคร้ายใหญ่ ก็กลับกลายเป็นเพียงโชคไม่ดีเล็ก ๆ ทั้งหมดเป็นเพราะ "ลางสังหรณ์" หรือ "สัญชาตญาณ" หรือจะเรียก "การหยั่งรู้" (Intuition) ก็ยังได้

นี่จึงคือกุศโลบายอันชาญฉลาดของคนโบราณ ที่ทำให้เราตระหนักว่าจงฟังเสียงหัวใจตัวเองว่ากำลังบอกอะไรเรา กำลังทักอะไรเรา

ทั้งหมดจึงคือตัวอย่างเล็ก ๆ ที่ผมเชื่อว่าคนโบราณนั้นฉลาด และรู้เรื่องที่พวกเราพยายามศึกษากันมานานแล้ว เพียงแต่ความรู้เหล่านี้อาจตกหล่นหายในช่วงพัน ๆ ปีที่ผ่านมา นอกจากศึกษาไปข้างหน้าแล้ว บ่อยครั้ง ผมจึงมักศึกษาย้อนหลังไปด้วย เพราะคนสมัยโบราณนั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ ครับ.


5,386 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page