top of page

4 คำถามคิดลบ จะได้จบเรื่องน่าห่วง

Updated: Nov 10, 2020

1.

คิดลบเผื่อไว้บ้าง เพื่อวางแผนรับมือ จากนั้นชีวิตจะได้คิดบวกให้เต็มที่ เพราะไม่มีอะไรให้ต้องห่วง โดยเฉพาะเรื่องการเงิน เป็นเรื่องไม่ควรคิดบวก หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเดี๋ยวอะไรก็คงดีขึ้นเอง เดี๋ยวคงมีเก็บพอไว้ใช้ตอนแก่ เดี๋ยวตอนแก่ก็คงมีแรงทำงานต่อ เดี๋ยวไม่กี่ปีก็ตายแล้ว เดี๋ยวคนข้างหลังที่ยังอยู่คงดูแลตัวเองได้เอง ...ทั้งหมดนี้เป็นการคิดบวกที่ประมาทไปหน่อยครับ

ภาพถ่ายโดย Stas Knop จาก Pexels

ลองดู "คำถามคิดลบ 4 ข้อ" ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าเตือนสติเราได้ดีครับ


คำถามข้อแรก หากวันนี้ตกงานฉับพลัน สิ้นเดือนไม่มีรายได้เข้ามา คำถามก็คือ "เรามีเงินอยู่ได้อีกกี่เดือน?"


ถ้าคำตอบคือ "ไม่กี่เดือน" (หรือไม่กี่วัน!) ถ้าอย่างนั้นเราจะวางแผนเตรียมตัวรับมืออย่างไร หากเหตุการณ์ร้ายนี้เกิดขึ้นจริง ๆ


เช่น ตั้งแต่นี้ไปเราต้องเลิกติดหรู เลิกใช้เงินเก่ง แล้วเก็บเงินเสียตั้งแต่วันนี้ ให้อย่างน้อยพอมีใช้ไปได้ 6 เดือน เพื่อเผื่อเวลาหางานใหม่


คำถามข้อที่สอง หากวันนี้เกิดอุบัติเหตุ ต้องทุพพลภาพ เดินเหินไม่ได้ หรือแม้แต่มือไม้ไม่อยู่สภาพเดิม คำถามก็คือ "เรื่องนี้จะกระทบกับการหารายได้หรือไม่?"


ถ้าคำตอบคือ "กระทบมาก" ถ้าอย่างนั้นเราจะวางแผนเตรียมตัวรับมืออย่างไร หากเหตุการณ์ร้ายนี้เกิดขึ้นจริง ๆ


เช่น ตั้งแต่นี้ไปเราต้องเริ่มหารายได้ที่ไม่เอาตัวเองเข้าแลกตลอดเวลา หมายถึงเราต้องไม่ใช้แรงใช้ร่างกายมากนัก อาทิ ขายของออนไลน์แบบ Dropship ขายลิขสิทธิ์ทางปัญญา มีสินทรัพย์ให้เช่า ลงทุนหุ้นปันผล หรือทำธุรกิจที่มีลูกน้องพอจะทำแทนได้


พูดง่าย ๆ ก็คือ จงไม่เอาแรงงานตัวเองมาเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างรายได้ (หรือเป็น...ก็ให้น้อยที่สุด)


2.

คำถามข้อที่สาม เมื่อวันที่แก่ตัวลง หมดแรง หมดไฟ ทำงานไม่ไหว ลูกหลานก็ไม่มี คำถามก็คือ "ในวันนั้น เรามีเงินพอเลี้ยงตัวเองไหม?"


ถ้าคำตอบคือ "ไม่พอ" ถ้าอย่างนั้นเราจะวางแผนรับมืออย่างไร เพราะถ้าไม่ตายเสียก่อน วันแก่ ๆ วันนั้นต้องมาถึงอย่างแน่นอน


เช่น ตั้งแต่นี้ไปเราต้องเริ่มศึกษาการลงทุน เพื่อให้ดอกผลเลี้ยงดูเราในยามชรา เพราะตอนนั้นไม่มีใครจะดูแลเรา นอกจากตัวเราเอง และสำหรับเรื่องการลงทุนแล้ว ... "เวลา" คือข้อได้เปรียบ ยิ่งลงทุนยาว ยิ่งลดความผันผวน ยิ่งให้ผลตอบแทนที่ดี


คำถามข้อที่สี่ หากวันนี้เราเกิดเสียชีวิตปัจจุบันทันด่วน จากไปแบบไม่ได้ทันสั่งเสีย คำถามก็คือ "เรื่องนี้จะกระทบคนที่ยังมีชีวิตอยู่ไหม?"


ถ้าคำตอบคือ "กระทบแน่" ถ้าอย่างนั้นเราจะวางแผนรับมืออย่างไร หากเหตุการณ์ร้ายนี้เกิดขึ้นจริง ๆ


เช่น หากเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำประกันไว้ตั้งแต่วันนี้ หากมีลูก ต้องเตรียมค่าเล่าเรียนไว้ให้ลูกเรียนจนจบ หากคนที่อยู่ในความดูแลของเรา เขาไม่มีอาชีพ ก็ต้องคำนวณว่าเขาจะอยู่อีกกี่ปี ใช้เงินเท่าไหร่ มีเงินเก็บไว้ให้เขาพอไหม


หรือไม่ก็สร้างธุรกิจที่ดำเนินไปได้ด้วยตัวเอง ยังผลิตรายได้ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้เราจะตายจากไปแล้ว


3.

ผมเข้าใจนะครับว่าบางคำถามเราไม่อยากตอบ มันอึดอัดใจ เพราะวันนี้ยังหาทางออกไม่ได้ เงินเก็บยังไม่มี ความรู้ยังเหมือนเดิม เพิิ่มเติมคืออายุและภาระ


แต่การไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็เลยเลิกสนใจ เพิกเฉยเสียอย่างนั้น ...แบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา เป็นแค่การซุกไว้ใต้พรม และปัญหาจะต้องเผยตัวออกมาในที่สุด


วันนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ให้เริ่มต้นเท่าที่เริ่มได้ เอาเท่าที่มีก่อนไปก่อน เช่น จะมากน้อยก็ให้เริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ เริ่มหาลู่ทางใหม่ ๆ เริ่มศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ทั้งการหารายได้และการลงทุน รวมถึงวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่จะค่อย ๆ เผยคำตอบออกมา "เพราะเมื่อมองหา เราก็จะเริ่มมองเห็น"


คิดลบเผื่อไว้บ้าง เพื่อวางแผนรับมือ จากนั้นชีวิตจะได้คิดบวกให้เต็มที่ เพราะไม่มีอะไรให้ต้องห่วง ไม่ใช่คิดบวกแบบทะเล่อทะล่า ลุยไปเรื่อย เดี๋ยวอะไร ๆ คงดีเองนั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องมีแผนสำรองก็ได้


การคิดบวกแบบนี้น่าเป็นห่วง จนผมอดคิดลบไม่ได้จริง ๆ ครับ.

6,243 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page