1.
มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ออกจะฝืนความรู้สึกนิด ๆ แต่เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากไม่ค่อยตระหนัก (ผมเองก็เพิ่งเข้าใจในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปี) เรื่องนั้นคือ...จงขอบคุณเมื่อเรา "จ่ายเงิน" ให้ผู้อื่น เพราะกระแสเงินที่ไหลผ่านเรานั้นไม่ต่างกับกระแสน้ำ ต้องมีการหมุนเวียน เข้าออก เปลี่ยนถ่ายอยู่เสมอ ไม่ว่าเงินเข้าหรือเงินออก จึงล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น
เอาแค่เรื่องง่าย ๆ ที่ควรดีใจอย่าง "เงินเข้า" คำถามคือมีกี่คน "ขอบคุณ" เวลาเงินเข้ากระเป๋า? (เช่น วันเงินเดือนออก) เราส่วนใหญ่รู้สึกว่าเงินเดือนไม่พอใช้อยู่เสมอ เมื่อได้มาจึงมักบ่นว่า "น้อยจัง" แบบนี้เรียกว่าสร้าง "สำนึกแห่งความขาดแคลน" อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริง เราน่าจะฝึกรู้จักขอบคุณทุกครั้งที่มีเงินเข้ากระเป๋า ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แล้วเงินจะไหลเข้ามาหาเราง่ายขึ้น เพราะเงินชอบคนที่ชื่นชอบเงิน (ชอบเงิน ไม่ใช่โลภ ไม่ใช่หน้าเงินนะครับ อย่าเข้าใจผิด)
แต่ถ้าอยากเหนือไปอีกขั้น นอกจากฝึกขอบคุณทุกครั้งที่ "เงินเข้า" แล้ว เราต้องรู้จักฝึกขอบคุณทุกครั้งที่ "เงินออก" จากกระเป๋าด้วย ขอบคุณคนที่รับเงินออกจากกระเป๋าของเราไป และที่สุดของที่สุด ถ้าอยากไปถึงขั้นสุด ให้ลองฝึก "ยินดี" ทุกครั้งที่เห็นผู้อื่นร่ำรวย (อย่างสุจริต)
ไม่ใช่อิจฉา หมั่นไส้ หรือพูดจาประชดประชัน
2.
ถามว่าเงินออกจากกระเป๋า แล้วทำไมเราต้องขอบคุณ? ถามว่าเงินเข้ากระเป๋าคนอื่น แล้วทำไมเราต้องขอบคุณ? คำตอบก็คือ "เงินออก" ของเรา คือ "เงินเข้า" ของใครบางคน "เงินเข้า" ของเรา ก็คือ "เงินออก" ของใครบางคน ลองคิดดูสิครับ ถ้าทุกคนเอาแต่อยากได้เงินเข้า แล้วใครจะยอมให้เงินออก?
บทสุดท้ายในหนังสือ Laws of Success ของ Napoleon Hill พูดถึงเรื่อง "กฎทองคำ" เขากล่าวไว้ว่า ทุกบาทที่เราจ่ายออกไป เป็นรายได้ของใครบางคนที่สร้างสินค้าและบริการให้เรา ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อพันปีก่อน แม้แต่ราชาสมัยก่อนก็อาจอิจฉาเรา แถมเรายังจ่ายแค่ไม่กี่บาท เช่น ซื้อหนังสือพิมพ์สิบบาท ได้รู้ข่าวทั้งโลก (เดี๋ยวนี้ยิ่งกว่านั้นอีก ดูข่าวฟรีในเน็ต) จ่ายค่ารถสาธารณะไม่กี่บาท แต่เดินทางสบายว่านั่งรถม้าของพระราชา จ่ายค่าอาหารไม่กี่บาท แต่มีอาหารมากมายจนเลือกไม่ถูก
คำถามคือ กี่ครั้งกันที่เราเคยขอบคุณเงินที่ออกจากกระเป๋าของเรา เรามีแต่บ่น ๆๆๆๆ ค่าน้ำแพง ค่าไฟพุ่ง ค่าน้ำมันเปลือง
ทั้งที่ความจริง เราจ่ายไม่มากเลย เมื่อเทียบกับความสะดวกสบายที่ได้รับ
3.
พอเข้าใจเรื่องนี้ ผมจึงไม่ลืมขอบคุณทุกสิ่งที่ผมจ่ายเงินให้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่ามือถือ ค่าบัตรเครดิต ค่าบ้าน ค่าคอนโด ค่ารถ ค่าเทอม ค่าประกัน รวมถึงขอบคุณบุคคลทั้งหลายที่ช่วยให้ชีวิตผมสะดวกสบายขึ้น เช่น ยามหน้าหมู่บ้าน พนักงานร้านสะดวกซื้อ พนักงานเก็บเงินทางด่วน พนักงานร้านอาหาร หนังดี ๆ ที่เสียเงินไปดู ทอล์คโชว์เจ๋ง ๆ ที่ซื้อบัตรไปชม เพลงเพราะ ๆ ที่ผมซื้อ สัมมนาที่ลงทะเบียนเรียน และอีกมากมายที่ผมเป็นคนจ่ายเงินแท้ ๆ แต่ผมต้องขอบคุณจากหัวใจ ...ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น สนุกขึ้น มีความสุขขึ้น
การขอบคุณแบบนี้นี่แหละครับ ที่จะค่อย ๆ สร้าง "สำนึกแห่งความเหลือเฟือ" ให้กับเรา และยังสร้างสำนึกว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเกี่ยวพันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ...ไม่มีเขา เราก็อยู่ยาก ไม่มีเรา เขาคงลำบาก
เมื่อทำแบบนี้ได้ โลกภายในของเราจะค่อย ๆ ร่ำรวยขึ้น จนโลกภายนอกค่อย ๆ ร่ำรวยตามมาจนเท่ากัน
4.
นอกจากเรื่องขอบคุณตอนที่เรา "จ่ายเงิน" ให้ผู้อื่นแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ หนึ่งใน "คำอันตราย" ที่ยิ่งพูดยิ่งจน ก็คือคำว่า "แพง"
มีใครเคยเจอคนแบบนี้มั้ยครับ? เจออะไรก็บ่นว่าแพง เจอเสื้อผ้าที่ชอบ สวยดีนะ แต่ไม่เอาดีกว่า...แพง / เจอร้านอาหารที่ชอบ อยากกินนะ แต่ไม่เอาดีกว่า...แพง / เจอที่เที่ยวสวย ๆ อยากไปนะ แต่ไม่เอาดีกว่า...แพง การพูดหรือคิดแบบนี้ยิ่งตอกย้ำให้คนพูดรู้สึกว่า "ฉันขาดแคลน โลกนี้ขาดแคลน ฉันไม่มีพอ เงินทองหายาก" พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งตอกย้ำให้มองเห็น "สิ่งที่ฉันไม่มี" (น่าแปลกมาก คนเราเห็นสิ่งที่เราไม่มีได้ด้วย) เห็นตัวเองกำลังขับรถหรู หรือเห็นว่าคนอย่างกรูคงไม่มีวัน? เห็นตัวเองอยู่บ้านหลังใหญ่ หรือเห็นว่าเป็นไม่ได้หรอกคนจนอย่างเรา? เห็นตัวเองอยู่ในนั้น หรือเห็นตัวเองไม่อยู่ในนั้น? ...เราเห็นตัวเองเป็นไหน?
นอกจากนี้ คำพูดว่า "แพง" ยังกดตัวเองให้ต่ำลงไปอีก ด้วยความรู้สึกที่ว่า "คนอย่างฉันคงไม่คู่ควร" ผมไม่ได้บอกให้เราฟุ่มเฟือย ซื้อของแพง บ้าวัตถุ หรือใช้เงินไม่บันยะบันยัง แต่คำว่า "แพง" เป็นคำอันตรายกว่าที่เราคิด เพราะมันแทบตัดสิทธิ์เราไปเลยว่า "ฉันไม่มีวันจ่ายไหวหรอก" พอคิดแบบนี้ปุ๊บ สมองก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี เพราะยอมแพ้ตั้งแต่หน้าประตูแล้ว
คราวหน้าถ้าเจอของที่ราคาสูงกว่างบประมาณของเรา เราอยากได้ เพียงแต่อาจยังไม่ได้ในวันนี้ ขออย่าพูดคำว่า "แพง" (ยกเว้นจะแพงเกินเหตุ) ให้พูดใหม่ว่า "ฉันคู่ควรกับสิ่งนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ฉันเห็นภาพว่าฉันได้สิ่งนี้มาครอบครองแล้ว"
จากนั้นก็ดำเนินชีวิตของเราไปตามปกติ ตั้งใจทำงานหาเงิน ขยันมองหาโอกาสใหม่ เชื่อในศักยภาพตัวเอง ...เป็นไปได้สูงว่า รู้ตัวอีกที ของที่อยากได้ ที่ที่อยากไป เราได้มันมาครอบครองเรียบร้อยแล้ว
...ทั้งหมดนี้ ยังไม่ต้องเชื่อว่าสิ่งที่ผมเขียนจริงหรือไม่ ลองทดลองทำดูก่อนครับ ผมสรุปให้อีกที ดังนี้ 1.ขอบคุณให้เก่ง ไม่ว่าจะ "เงินเข้า" และ "เงินออก" ก็ตาม เพราะเงินเหมือนกระแสน้ำ มันต้องหมุนเวียน 2.อย่าพูดคำว่า "แพง" บ่อย ๆ ไม่อย่างนั้นชีวิตจะ "ราคาถูก" ลงเรื่อย ๆ เพราะเราไปกดศักยภาพตัวเอง
ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร เขียนมาเล่าให้ผมฟังบ้างนะครับ.
Comentarios