1.
มีประโยคหนึ่งซึ่งผมท่องไว้จนขึ้นใจ ประโยคนั้นคือ "อย่าปล่อยให้ตัวเองมีทางเลือกเดียว" เพราะการมีทางเลือกเดียว แถวบ้านผมเขาเรียกว่า "ไม่มีทางเลือก" หลายคนฝากชีวิตไว้กับงานเดียว รายได้ทางเดียว ผมเห็นแล้วเป็นห่วงแทน อะไรทำให้มั่นใจขนาดนั้น?
หลายปีก่อน ผมเคยสัมภาษณ์คนที่ทำงานมาสิบกว่าปี วันนึงเขาถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัทลดคน และอยากได้เด็กใหม่ๆ ที่ความคิดสดกว่า ...ในราคาที่ถูกกว่า เขาก็เลยตกงานกะทันหัน ต้องมาสมัครงานใหม่ ...วันนั้นเขาร้องไห้ต่อหน้าวงสัมภาษณ์ (ผมและคนอื่น ๆ เป็นผู้สัมภาษณ์) และที่โหดร้ายกว่านั้น...เขาไม่ผ่าน ต้องหางานต่อไป
ผมเคยเห็นคนที่ธุรกิจล้มระเนระนาดในเวลาไม่กี่วัน ทั้งที่กำลังไปได้สวย เพราะปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม หรืออย่างผมเองก็เคยถูกเลิกจ้างจากบริษัทใหญ่โตที่ใครๆ ก็คิดว่าน่าจะฝากชีวิตไว้ได้ ยังดีที่มองเห็นอนาคตล่วงหน้า จึงเตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ไม่เคยฝากชีวิตไว้กับงานเดียวอีกเลย เพราะมันเสี่ยงเกินกว่าที่จะเอาชีวิตของเรา ฝากไว้กับใครคนใดคนนึง
ถ้าจำเป็นจะต้องฝากไว้กับใคร ...ใครคนนั้นก็ควรเป็น "ตัวเราเอง"
2.
ชีวิตนี้ผมมีโอกาสได้พบปะกับเศรษฐีหลายๆ ท่าน หนึ่งในหลายสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคนกลุ่มนี้ก็คือ "พวกเขาไม่ได้มีรายได้ทางเดียว" แต่มีสายธารแห่งรายได้หลายสายมาบรรจบกัน คล้ายปิง วัง ยม น่าน ที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ...ซึ่งตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ทางเดียว
ผมคิดว่าเราน่าจะหมั่นตรวจสอบตัวเองดูว่า ณ ปัจจุบันวันนี้เรามีรายได้กี่ทาง ว่ากันตั้งแต่ เงินเดือน ค่าจ้างพิเศษ ค่าเช่า เงินปันผลหุ้น กำไรจากส่วนต่างราคาของหุ้น ทองคำ ที่ดิน ฯลฯ ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย แต่เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
ลองคิดดูว่าถ้าทุกวันดื่มกินจากแม่น้ำสายเดียว แล้ววันหนึ่งเกิดแห้งเหือดขึ้นมา การหาแม่น้ำสายใหม่เวลาที่กำลังกระหายคอแห้งผาก ...ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ
ประสบการณ์ที่ผ่านมา สอนผมว่า เราไว้ใจที่ไหนหรืองานไหนเพียงงานเดียวหรือที่เดียวไม่ได้ เพราะวันที่ล้มลง ไม่มีใครมานั่งดูหรอกว่าเรามีภาระอะไร แล้วบอกว่า
"เว้นมันไว้สักคน ลูกมันยังเล็ก เมียมันยังเด็ก" (ฮา)
3.
มีรายได้ 3 แบบที่เราควรจะมี (ถ้ายังไม่มี ก็ค่อย ๆ สั่งสมไป) หนึ่ง รายได้ประจำ จะมากจะน้อย ควรคาดเดาได้ทุกเดือน (เพื่อความอุ่นใจ) สอง รายได้ลิขสิทธิ์ ส่วนแบ่ง ค่าเช่า ดอกเบี้ย ปันผล (ไม่ต้องใช้ตัวเรา ไม่ต้องใช้เวลา) และสาม รายได้พิเศษ มาไม่บ่อย เป็นจ็อบพิเศษ (ถือเป็นโบนัส)
นี่คือ "พอร์ตรายได้" ที่ผมคิดว่าเข้าท่าและสมดุล ลองคิดดูครับว่าจะทำอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ 3 แบบนี้ หาความรู้เพิ่ม รับงานเสริม เริ่มลงทุน ฯลฯ
เมื่อทำได้ ให้นำรายได้ส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้แบบที่สองให้มากขึ้น เราจะอุ่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนถึงวันนึงเราจะเลือกได้ว่าฉันจะทำงานเพราะฉันอยากทำ ไม่ใช่เพราะฉันต้องทำ
4.
รู้จักคำว่า Leverage มั้ยครับ? แปลตรงๆ ก็คือ "การงัด" รากศัพท์มาจากคำว่า Lever ที่แปลว่า "คานงัด" (ตอน ม.ปลาย ใครเรียนสายวิทย์ คงนึกออกว่ามีเรื่องคานงัดอยู่ในวิชาฟิสิกส์) แต่ถ้าแปลให้กว้างๆ กว่านั้น Leverage ก็คือ "เครื่องทุ่นแรง" และเพราะเครื่องทุ่นแรงนี่เองที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้ากว่าสัตว์อื่น ๆ เรามีรอกไว้ดึงของหนัก ๆ เรามีรถม้าไว้เดินทางให้เร็วกว่าเดิน ...นั่นคือ Leverage ในการดำรงชีวิตสมัยก่อน
ตัดฉับมาปัจจุบัน ในโลกที่หมุนด้วยเงิน เราเองก็มี Leverage ทางการเงินที่ทำอะไรได้มากขึ้น เช่น กู้เงินไปทำธุรกิจได้ ทั้งที่ไม่มีเงินทุนขนาดนั้น นำเงินไปลงทุนให้เงินทำงานแทนเราได้ในตลาดทุน
แต่ที่น่าขำขื่นก็คือ ชนชั้นกลางอย่างเรา กลับเอา Leverage มาทำให้ตัวเองจนลง เรามีบัตรเครดิตที่มีวงเงินต่อเดือนมากกว่ารายได้ที่หาได้ในหนึ่งเดือน เราซื้อรถได้ในราคาที่ต้องเอารายได้เกือบครึ่งมาผ่อนจ่าย และเราซื้อบ้านราคาหลายล้านได้ แต่ต้องผ่อนกันจนแก่จวนตาย
ทั้งหมดนี้กลายเป็น Leverage หรือเครื่องทุ่นแรงที่เราใช้ทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่สิ...
ผมว่าบางทีเราเองอาจเป็นเครื่องทุ่นแรงของใครอยู่ก็ได้
5.
เพราะฉะนั้นคำถามสำคัญก็คือ "วันนี้เราใช้เครื่องทุ่นแรงอะไรในการหาเลี้ยงชีพ?”เรายังเอาเวลาไปแลกเงินตลอดเวลาหรือเปล่า? เรามีเครื่องทุ่นแรงในการสร้างรายได้หรือยัง? เช่น จ้างคนอื่นทำ นำเงินไปลงทุน สร้างสินทรัพย์ทางปัญญา สร้างระบบบางอย่างขึ้นมา
คนทั่วไปยอมขายเวลา 100% ของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรับรายได้ 100% เต็ม แต่คนมั่งคั่งจะจ้างคนอื่นทำ ตัวเองดูแลนิดหน่อย อาจจะแค่ใช้เวลาแค่ 1% ของเวลาทำงานแต่วัน เขายอมให้คนอื่นได้ไป 70% ตัวเองรับ 30% ก็พอ ซึ่งฟังดูเหมือนน้อย แต่อย่าลืมว่าเขายังเหลือเวลาอีก 99% และจ้างคนอื่นทำได้อีก 99 คน เพื่อรับรายได้ 99x30% =2970% มากกว่าคนทั่วไปถึง 30 เท่า (ในกรณีที่เขาอยากทำงานเต็มเวลาในแต่ละวันนะครับ)
นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับความหมายของคำว่า Leverage หรือเครื่องทุ่นแรง ความหมายคือ ไม่เอาแรง ไม่เอาเวลาของตนเองไปแลกตลอด
...หาให้เจอสักหนึ่งอย่างหรือมากกว่าก็ยิ่งดีครับ
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ "งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า" สั่งซื้อ กดที่นี่
Comentários