top of page

บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด บทที่ 1 : ฉันจะเปลี่ยนโลกนี้ ด้วยงานที่ฉันภูมิใจ

Updated: Dec 20, 2018

ผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า

"งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า"

ชื่อเหมือนจะชักชวนให้คนลาออกจากงาน


แต่ถ้าใครได้อ่านสิ่งที่ผมเขียนเป็นประจำ

ก็คงพอรู้ว่า "สาร" ที่ผมพยายาม "สื่อ" มาตลอด

ไม่ใช่การต่อต้านงานประจำ แต่แค่อยากจะบอกว่า

"เราต้องทำในสิ่งที่รัก" และ “เราต้องรักในสิ่งที่ทำ"

และมันไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางเดียวในชีวิตเท่านั้น


นั่นคือปรัชญาชีวิตที่ผมยึดถือมาตลอด


เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง รปภ. หน้าหมู่บ้านของผม

จริง ๆ ผมก็ไม่รู้หรอกครับ

ว่าเขาถึงขั้นหลงใหลในหน้าที่เฝ้าหมู่บ้านหรือเปล่า

แต่อาการที่แสดงออก มันก็เข้าข่ายแบบนั้น

มาทำงานตรงเวลา ออกตรวจหมู่บ้านทุกชั่วโมง

จำชื่อ จำรถลูกบ้านได้หมด ยิ้มแย้มแจ่มใส

เลิกงานยังไปเป็น อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน)

ที่ไฮเทคสุดสำหรับความเป็น รปภ. ก็คือ

ลุงยามดึงทุกคนในหมู่บ้านเข้า LINE Group ที่ตั้งเอง

คอยแจ้งข่าวทำบุญ น้ำจะไม่ไหล ไฟจะไม่ติด

ถ้ามีรางวัล รปภ. ดีเด่น ผมว่าจะโหวตให้ลุงยามได้รางวัล "คนรักงาน"

ลุงยามทำให้ผมนึกถึงคำถามระดับชาติ นั่นคือคำถามว่า "ทำไมคนส่วนใหญ่ทำงานที่ตัวเองไม่ได้รัก?”

ผมคิดว่านี่คือคำถามที่เราน่าจะถกกันสักตั้ง

เพราะประเทศไหนก็ตามที่มีแต่คนทำงานที่ไม่ได้รัก

มันก็ไม่ต่างอะไรกับการกัดกร่อนประเทศชาติทีละนิด

ถ้าให้ผมถามเอง ตอบเอง "ทำไมคนส่วนใหญ่ทำงานที่ตัวเองไม่ได้รัก?" ผมคิดว่าคำถามนี้ มีสองคำตอบ...

หนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบทำงานอะไร

สอง เพราะไม่รู้ว่างานที่ตัวเองทำ มีคุณค่าแค่ไหน

เป็นคำตอบที่เป็นคำถามและเป็นปัญหาไปในตัว นั่นคือ... แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าชอบทำงานอะไร? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่างานที่ทำ มีคุณค่าแค่ไหน?

เอาล่ะ! ในฐานะที่ผมทำสิ่งที่รักมาตลอดชีวิต

(และในฐานะที่ผมเป็นลูกบ้านของลุงยาม)

ผมอยากช่วยชาติ ด้วยการตอบปัญหานี้

ปัญหาแรก ฉันไม่รู้ว่าตัวเองชอบทำงานอะไร?

วิธีแก้ที่ผมแนะนำก็คือ "ให้คิดตรงข้าม"

ถ้าไม่รู้ว่าชอบงานอะไร งั้นก็ลองลิสต์ลักษณะงานที่ไม่ชอบออกมา

จากนั้นก็ "คิดตรงข้าม" อีกที เท่านี้ก็จะได้ลักษณะงานที่เราชอบทำ

เช่น

ฉันไม่ชอบงานที่ต้องคุยเยอะ ฉันชอบอยู่บ้าน

ฉันไม่ชอบตื่นเช้า ฉันไม่ชอบมีเจ้านายมาสั่ง

พอเราเอามา "คิดตรงข้าม" ก็แสดงว่างานที่ฉันชอบก็คือ

งานที่ไม่ต้องคุยกับคนอื่นสักเท่าไร

ทำตอนไหนก็ได้ และต้องเป็นนายตัวเอง

คุณอาจจะยังนึกไม่ออกในทันทีว่า

แล้วตกลงงานนั้นมันคืองานอะไร(วะ)?

แต่คุณสมบัติคร่าว ๆ ของงานที่คุณฝันอันนี้

จะค่อย ๆ พาคุณไปเจองานที่ใช่ในที่สุด

ผมทดลองใช้กับชีวิตตัวเองมาแล้ว

จนได้ทั้งงานที่ชอบและเงินที่ใช่

ถึงตาคุณลองดูบ้างแล้วล่ะครับ


ปัญหาที่สอง ฉันไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่มันมีคุณค่าแค่ไหน?

วิธีแก้ที่ผมแนะนำก็คือ เราต้องฝึกมองภาพให้ใหญ่ขึ้น

เราต้องฝึกเชื่อมโยงตัวเรากับผู้อื่น


อันที่จริง

เราคือจุด ๆ นึงในสังคม ที่มีประโยชน์

เราคือจิ๊กซอว์ที่แม้จะชิ้นเล็ก แต่ก็ขาดไม่ได้

และหน้าที่ของเราก็ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด


ผมอยากจะเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง...

เมื่อครั้งที่ จอห์น เอฟ เคเนดี้ (JFK) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ไปเยือน Kennedy Space Center

ซึ่งกำลังเตรียมปฏิบัติการครั้งยิ่งใหญ่ของโลก

นั่นคือ "ส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์"



วันนั้นมีแม่บ้านทำความสะอาดคนหนึ่ง

ยืนต้อนรับท่านประธานาธิบดีด้วยท่าทางอาย ๆ

ท่านประธานาธิบดี JFK ก็เลยทักทายไป

เพื่อไม่ให้ผู้หญิงคนนั้นเขินว่า

"คุณทำงานอะไรที่นี่เหรอครับ?”

รู้มั้ยครับ ผู้หญิงคนนั้นตอบว่าอย่างไร?

แทนที่จะตอบว่าเธอเป็น "แค่" คนทำความสะอาด

เธอกลับตอบด้วยท่าทีมั่นใจว่า

"ฉันช่วยอเมริกาส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์ค่ะ"

เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า

งานทุกงานมีคุณค่าเสมอ

ถ้าตระหนักในคุณค่า เราจะรักและภูมิใจในงานที่ทำ

และถ้าเรารักและภูมิใจในงานที่ทำ

เราจะเปลี่ยนโลกใบนี้ ด้วยงานของเรา


แม่ค้าข้าวแกงที่คิดว่าฉันเป็นแค่แม่ค้าขายข้าวแกง

กับแม่ค้าข้าวแกงที่คิดว่าฉันทำให้ผู้คนมีแรงทำงาน

สองคนนี้ย่อมทำข้าวแกงด้วยความรู้สึกที่ต่างกัน


ตลอดทั้งชีวิตผมไม่เคยทำงานที่ไม่รักเลย

บางคนบอกว่าผมโชคดี

แต่เปล่าเลย ทั้งหมดไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ผมก็แค่ดื้อดึงที่จะทำสิ่งที่รักให้จงได้

ผมก็แค่ต้องลงมือทำฝันให้เป็นจริงต่างหาก


หาให้เจอนะครับว่าคุณชอบทำงานอะไร

แม้อาจต้องใช้เวลานานเพื่อค้นหาคำตอบก็ตาม


แต่ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้จริง ๆ

พอดีว่าแม่บ้านคนนั้นก็อยู่ไกลเสียตั้งอเมริกา

ถ้าอย่างนั้น ลองไปนั่งคุยกับลุงยามหมู่บ้านผมดีมั้ยครับ

ลองถามดูว่า ทำไมลุงยามถึงรักงานที่ทำได้ขนาดนั้น?


#บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

5,193 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page