top of page

บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด บทที่ 11 : เก้าอี้ที่สร้างมาเพื่อเรา

โลกนี้เป็นเรื่องของ Demand กับ Supply


ถ้าขายของที่มีความต้องการซื้อเยอะ

แต่มีคนขายน้อย ของก็มีน้อย

ของสิ่งนั้นก็จะมีค่ามาก มีแต่คนแย่งกัน

ถ้าขายของที่มีความต้องการซื้อน้อย

แถมยังมีขายไปทั่ว ของเต็มตลาด

ของสิ่งนั้นก็ด้อยราคา มีแต่คนเฉย ๆ


อันที่จริง เราทุกคนก็ล้วน "ขายตัวเอง"

ขายความรู้ ขายความสามารถ ฯลฯ


เพราะฉะนั้นก็น่าฉุกคิดว่า

"แล้วตัวเราเองคือสินค้าแบบไหน?"


"หาได้ยาก มีแต่คนต้องการ"

หรือ "หาได้ง่าย มีขายไปทั่ว"

แบบไหนที่เราเป็น?





คำว่า "ความมั่นคง" เป็นคำตกยุคไปแล้ว

บริษัทที่ไหนก็ไม่อาจรับรองความมั่นคง

ผมเองเคยทำงานบริษัทยักษ์ใหญ่

ก็ยังถูกเลย์ออฟพร้อมพนักงานอีกหลายชีวิต


พนักงานก็ไม่ได้ผิด บริษัทก็ไม่ได้ผิด

แต่สถานการณ์บังคับให้ต้องทำแบบนั้น

หรือมองไปในระดับโลก

ใครจะคิดว่าโนเกียหรือโกดัก จะมีวันนี้?


ความมั่นคงของชีวิตจึงไม่ควรฝากไว้ที่บริษัท

แต่ต้องฝากไว้ที่ "ตัวเราเอง"


ถ้าความสามารถของเรา "แจ่ม" จริง ๆ

ใคร ๆ ก็ต้องการตัวเรา ดีไม่ดีจะแย่งกันด้วยซ้ำ

คนแบบนี้ชีวิตไม่ต้องกลัวตกงาน

เผลอ ๆ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร

แต่กลายเป็นคนสร้างงาน เป็นเจ้าของธุรกิจ


คนมีความสามารถทั่ว ๆ ไป

ต้องวิ่งสมัครงานให้คนอื่นเลือก

แต่ตัวเองไม่มีสิทธิ์เลือกงานเท่าไหร่

มีอะไรให้ทำก็ต้องทำ


ในขณะที่คนมีความสามารถ เก่ง และเป็นคนดี

งานจะวิ่งมาหาเขาเอง เพราะคนแบบนี้หาไม่ง่าย

แถมยังมีสิทธิ์เลือกด้วยว่าจะร่วมงานกับใครดี


ก็อย่างที่ผมบอกนั่นล่ะครับ

โลกนี้มันเป็นเรื่องของ Demand กับ Supply

ใครต้องการมากกว่า "คนนั้นแพ้"


ความสามารถของเรา "แจ่ม" หรือ "งั้น ๆ"

นั่นคือตัววัดความมั่นคงที่แท้จริง


ความมั่นคงของอาชีพการงาน จึงขึ้นอยู่กับ "ความยาก" ในการหาคนมาแทนที่

ความยากในที่นี้

หมายถึงการหาคนมาแทนคนอย่างเรา

อาจจะหาไม่ได้เลย มีน้อยมาก ๆ

หรือความยากนั้นอาจจะหมายถึง

หาคนมาแทนที่เราได้ แต่มันยุ่งยาก

วุ่นวาย และราคาแพง

งั้นจ้างเราต่อไปดีกว่า


ผมอ่านเจอจากที่ไหนสักแห่ง

เขาบอกไว้ประมาณนี้ครับว่า

"งานธรรมดาๆ ที่ใครก็ทำได้

จะถูกจ้างด้วยราคาต่ำที่สุด

เพียงเพื่อให้คนคนนั้นยังทำงานอยู่


"แต่งานที่หาใครแทนไม่ได้ จะถูกจ้างด้วยราคาสูงที่สุด

เพื่อรั้งคนคนนั้นไม่ให้จากไป"

...เจ็บแต่จริงครับ


ลองทบทวนอาชีพการงานของเราดูสักนิด

ว่าตำแหน่งงานที่เราทำอยู่นั้น

ถูก "แทนที่" ได้ง่ายหรือเปล่า?

ใครทำก็ได้หรือเปล่า?


หรือต้องเป็นคนอย่างเราเท่านั้น?

หรือยากจะหาคนแทนที่คนมีประสบการณ์อย่างเรา?


...เป็นลูกจ้าง ก็ต้องเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง

งานเสร็จเร็วและดี มีความเป็นผู้นำ

นั่นคือ "ความยาก" อย่างนึงในการหาคนมาแทนที่เรา


หรือแม้แต่เจ้าของธุรกิจ ก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้

ถ้าสินค้าหรือบริการ ง่ายที่ลูกค้าจะใช้เจ้าอื่นแทน

ไม่นานธุรกิจของเราก็สาบสูญได้เหมือนกัน


ผมรู้จักคนที่มีรายได้ ปีละ 1 แสนบาท

ผมรู้จักคนที่มีรายได้ เดือนละ 1 แสนบาท

และผมก็รู้จักคนที่มีรายได้ วันละ 1 แสนบาท

ถามว่า 3 คนนี้ใครเก่งกว่า?

ตอบยาก...เพราะเก่งกันคนละเรื่อง


คำถามต่อมาก็คือ

แล้วทำไมคน 3 นี้จึงมีรายได้ต่างกันขนาดนี้?


ในความคิดของผม

มีอยู่ 3 คุณสมบัติที่ทำให้คนเรามีรายได้ต่างกัน

ข้อแรก "เก่งจริง" ในสายงานที่ทำอยู่

แทบทุกอาชีพ มีทั้งคนรวยและคนจน

วงการนักเขียนที่ว่าไส้แห้ง ก็ยังมีนักเขียนเงินล้าน

วงการหุ้นที่หลายคนเจ๊ง ก็ยมีคนร่ำรวยจากตลาดหุ้น

คำถามจึงอยู่ที่ว่า "เราเก่งจริงหรือเปล่า?"


ข้อสอง งานนั้น "ตอบโจทย์" คนจำนวนมาก

บางครั้งเก่งจริง แต่ตลาดไม่ต้องการ แบบนั้นก็ทำเงินยาก

เช่น เราอาจนอนหลับเก่ง หัวถึงหมอนปุ๊บก็หลับปั๊บ

เก่งแบบนี้ ไม่ได้ช่วยตอบโจทย์อะไรคนอื่นเลย


แต่ถ้ามีวิธีทำให้คนที่นอนไม่ค่อยหลับ หลับได้ง่ายขึ้น

แบบนี้ตอบโจทย์ตลาด


ผู้คนจะจ่ายเงินให้กับคนที่แก้ปัญหาให้กับเขา

ยิ่งแก้ปัญหาให้กับผู้คนจำนวนมากเท่าไหร่

เงินทองก็ยิ่งหลั่งไหลมาเท่านั้น

ข้อสาม "ไม่มีใครทำแบบเราได้" (หรือมีก็น้อยมาก)

หลายครั้งเราอาจจะเก่ง ตอบโจทย์ตลาด

แต่ปรากฏว่าใคร ๆ ก็ทำได้ คู่แข่งเกิดขึ้นง่าย ๆ

ใช้บริการของใครก็เหมือนกัน

แบบนั้นรายได้จะค่อย ๆ ลดลงเพราะถูกตัดราคา ถ้า "ง่าย" ที่จะหาคนมาแทนที่

มันก็ "ง่าย" ที่จะหล่นร่วงจากเก้าอี้โดยไม่รู้ตัว

แต่ถ้า "ยาก" ที่จะหาคนมาแทนที่

มันก็ "ยาก" ที่จะล้มเราจากเก้าอี้

เก้าอี้ตัวที่สร้างมาเพื่อเรา

ถ้าอยากมีรายได้เพิ่ม

ลองพิจารณางานที่ทำอยู่สิครับ


1.เราเก่งจริงในสายงานของเราหรือไม่?

ถ้าไม่ ก็ต้องพัฒนาความสามารถของตัวเอง

2.งานของเราตอบโจทย์คนหมู่มากหรือไม่?

ถ้าไม่ ก็ต้องเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสินค้า เปลี่ยนบริการ

เพื่อแก้ปัญหาคนจำนวนมากให้ได้

3.งานของเรามีคนแทนเราได้ง่ายหรือไม่?

ถ้าใช่ แปลว่าเรายังดาษดื่น หาได้ทั่วไป

ต้องรู้จักสร้างแบรนด์ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

ใน 3 ข้อนี้ เรามีคุณสมบัติข้อไหนบ้าง? ได้เวลาสำรวจตัวเองแล้วครับ


#บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

2,488 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page