top of page

ยุคนี้...ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่?

Updated: Nov 18, 2020

1.

ผมมีคำถามครับ สมมติว่าถ้าวันนี้คุณไม่สามารถทำงานหาเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะป่วยหนัก ตกงานกะทันหันไม่ทันตั้งตัว หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่...เอาเป็นว่าหาเงินไม่ได้ก็แล้วกัน


คำถามก็คือ คุณมีเงินเก็บพอใช้ไปอีกกี่เดือน? กี่ปี?

ภาพถ่ายโดย Suzy Hazelwood จาก Pexels

บางคนอาจรู้สึกขำในใจ กี่เดือนกี่ปีอะไรกัน ถามว่าอยู่ได้อีกกี่วันจะดีกว่า ทุกวันนี้ใช้เดือนชนเดือน มีเงินเก็บที่ไหนกันเล่า ...แต่ผมว่าไม่ขำนะครับ ชีวิตจริงเจอแบบนี้ตลกไม่ออกเลย


ถ้าตามสูตรนักวางแผนการเงิน เมื่อก่อนอาจแนะนำให้สำรองเงินไว้ใช้ 3-6 เดือน แต่ยุคนี้งานหายากขึ้นเรื่อย ๆ อาจใช้เวลานานในการหางานใหม่ เขาจึงปรับคำแนะนำใหม่ว่า "ควรมีเงินเก็บสำรองให้พอใช้อย่างน้อย 1 ปี แม้จะไม่มีงานทำ"


จากคำแนะนำเรื่องเงินเก็บ 1 ปี สมมติว่าเราหายใจเบา ๆ ใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท (สมมติแบบประหยัดสุด ๆ เพราะชีวิตจริงเราก็รู้ว่าใช้มากกว่านั้นเยอะ) แปลว่าเราจะต้องมีเงินเก็บเท่ากับ 10,000 บาท คูณ 12 เดือน หรืออย่างน้อย 120,000 บาท สำหรับสำรองให้พอใช้อย่างน้อย 1 ปี


...ถือเป็นจำนวนเงินไม่น้อยสำหรับคนส่วนใหญ่


2.

จากจุดนี้ คุณอาจเคยได้ยินคำแนะนำนี้ "เก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้ทุกเดือน" ซึ่งนั่นก็แปลว่า สมมติว่าเงินเดือน 20,000 บาท เก็บเงินได้เดือนละ 10% ก็จะเท่ากับเราเก็บได้เดือนละ 2,000 บาท เพราะฉะนั้นถ้าจะเก็บให้ 120,000 บาท (ตามเป้าหมาย เงินเก็บสำรองให้พอใช้อย่างน้อย 1 ปี) ก็จะต้องใช้เวลาเก็บเงินนานถึง 60 เดือน หรือ 5 ปี!


ย้ำอีกทีว่า นี่ขนาดสมมติว่าใช้เดือนละ 10,000 บาท แต่ถ้าเราใช้เดือนละ 15,000 บาท แล้วเก็บเงินสำรองได้เดือนละ 2,000 บาท ก็จะต้องใช้เวลาเก็บถึง 7.5 ปี


จริงอยู่ว่า 5 ปีผ่านไป รายได้เราอาจเพิ่มขึ้น ...แต่ต้องอย่าลืมว่ารายจ่ายก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว เพราะฉะนั้นหักลบความคลาดเคลื่อนตรงนี้ไป "ใช้เวลาเก็บเงิน 5 ปี" จึงสะท้อนความเป็นจริงได้พอสมควร


สรุปง่าย ๆ ก็คือ เราต้องใช้เวลาถึง 5 ปีจึงจะมีเงินเก็บสำรองเพียงพอให้ใช้ได้ไปอีก 1 ปี แม้ไม่มีงานทำ


...ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของคนส่วนใหญ่


3.

สำหรับผม เรื่องนี้ให้บทเรียน 2 ข้อ


บทเรียนข้อที่ 1 : กว่าจะมีเงินเก็บนั้นใช้เวลา จงอย่าชักช้าชะล่าใจ


ผมคิดว่ามี 2 วิธีในการช่วยให้เราเก็บเงินได้มากขึ้น


แบบที่ 1 "เก็บเงินให้มากกว่า 10%" จะได้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันอึดอัดรัดตัว เคยใช้เงินเท่านี้ จากนี้ต้องประหยัดกว่าเดิม แต่ถ้าฝึกนิสัยนี้ตั้งแต่รับเงินเดือนเดือนแรก ผมคิดว่ามันจะง่ายขึ้นมาก เพราะตอนนั้นเรายังไม่เป็นเหยื่อความโก้หรู


เห็นเงียบ ๆ ตังค์เพียบนะครับ หรือเห็นเพียบ ๆ ตังค์เงียบนะครับ อยากได้แบบไหน...เราเลือกได้เอง


แบบที่ 2 "หารายได้เพิ่มหลังเลิกงาน" จะได้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันเหนื่อย เคยหลังเลิกงานเดินกินเที่ยว จากนี้ต้องทำงานสร้างชีวิต เพราะฉะนั้นนี่จึงคือเหตุผลที่เราต้องเริ่มต้นขยันทำสองงานตั้งแต่วัยที่ยังมีแรง อย่ารักความสบายเร็วเกินไปนัก ถ้าชีวิตยังลำบาก ย่อมยังไม่มีสิทธิ์ขี้เกียจ


หนทางลำบาก มักนำไปสู่ความสบาย หนทางสบาย มักนำไปสู่ความลำบาก อยากได้แบบไหน...เราเลือกได้เอง


บทเรียนข้อที่ 2 : เก็บเงินสำรองจะยิ่งยาก...หากมีหนี้สินล้นตัว


เมื่อมีหนี้ที่ต้องจ่ายทุกเดือน นั่นแปลว่าหากรายได้หยุด รายจ่ายมันก็ไม่หยุด โจทย์ที่จะมีเงินเก็บสำรองจึงยิ่งยากขึ้น เพราะมันไม่ได้แปลว่าเดิมทีเคยใช้เดือนละ 15,000 บาท พอตกงาน ใช้เดือนละ 10,000 บาทก็พอ เนื่องจากคนมีหนี้ มีรายจ่ายเกินรายได้อยู่แล้ว (ไม่อย่างนั้นจะมีหนี้ได้อย่างไร)


ส่วนหนึ่งอาจเป็นหนี้ภาระที่จำเป็นจริง ๆ แต่อีกส่วนก็เป็นเพราะเราอยู่ในยุคที่ถูกยั่วยวนให้เป็นหนี้ กู้ให้กูดูดี ส่วนจะมีจริงหรือไม่จริง นั่นก็อีกเรื่อง ...ใครรู้ไม่เท่าทัน จึงเป็นหนี้ตั้งแต่ทำงานใหม่ ๆ ผ่อนรถมาขับไปกินอาหารร้านชิค ๆ

ซื้อมือถือเพื่อถ่ายรูปสวยตอนไปเที่ยว พักอยู่คอนโด หนึ่งห้องนอน...ผ่อนทั้งชีวิต


เรามีปัญญาจ่ายให้สิ่งเหล่านี้ได้ เพราะมันสนองความสุขตอนนี้เลย แต่การเก็บเงินกลับกลายเป็นเรื่องที่ "เอาไว้ก่อน" เพราะเป็นเรื่องระยะยาวเกินไป


ฉะนั้นจากนี้ ใครที่เข้าข่ายดังกล่าว ต้องเริ่มตัดรายจ่ายไม่จำเป็น มีหนี้ รีบเคลียร์ให้หมด งดสร้างหนี้ใหม่ อย่าเห็นแก่ความสุขในระยะสั้น


...เพื่อไปทุกข์ใจในระยะยาว


4.

เขียนเสียยืดยาว ก็เพราะเป็นห่วงคนที่ไม่มี "ส่วนเผื่อความปลอดภัย" เพราะบทวิกฤตชีวิตจะมา มันมาแบบไม่ให้ตั้งตัว ถ้าเราไม่เตรียมจุดนี้ไว้ก่อน แล้วใครจะเตรียมให้เรา?


มีเงินเก็บให้พอใช้อย่างน้อย 1 ปี แม้ไม่มีงานทำ สมองจะมีพื้นที่ให้คิดสร้างสรรค์ เพราะรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องกังวล


ผมรู้ว่าไม่ง่ายหรอกครับที่เขียนมาทั้งหมด เพราะผมผ่านมันมาหมดแล้ว แต่อยากบอกว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย แต่มันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราทุกคนต้องทำเพื่อตัวเอง"


อย่าให้ตัวเราในอนาคต นึกโทษตัวเราเองในอดีต ที่ "รู้อย่างนี้" น่าจะเก็บเงินเสียตั้งแต่ตอนนั้น


ตัวเราในวันนี้ ต้องเริ่มลงมือเก็บเงินเติม ต้องลุยหารายได้เพิ่มได้แล้วครับ.


10,587 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page