top of page

"พนักงานมืออาชีพ" หรือ "มนุษย์รอเงินเดือน"?

Updated: Feb 14, 2021

1.

เป็นเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งธุรกิจเล็ก ๆ ด้วยแล้วยิ่งยากใหญ่ หน้าฉากที่สวยงาม เบื้องหลังเต็มไปด้วยความกดดัน เจ้าของธุรกิจหลายคนจึงหน้าชื่นอกตรม แต่งตัวสวยหล่อ หน้าร้านดูดี แต่ต้องแบกรับภาระค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟทุกเดือน หลาย ๆ เดือนเอารายได้มาจ่ายพนักงานหมด ...บางครั้งการเป็นพนักงานกินเงินเดือนจึงอาจสบายใจกว่าด้วยซ้ำ

ภาพถ่ายโดย Cup of Couple จาก Pexels

20 กว่าปีก่อน ผมเคยมีประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเปิดร้านขายของ ตอนนั้นรู้สึกเท่มากกับการได้ชื่อว่ามีร้านเป็นของตัวเอง แต่พอได้เงินมา ก็เอาไปจ่ายให้ลูกจ้างที่เฝ้าร้านหมด แถมลูกจ้างดีๆ ก็หายากมาก พอหาได้ก็ต้องคอยง้อ เพราะกลัวจะอยู่กับเราไม่นาน


จึงมาค้นพบทีหลังว่าผมไม่ถนัดกับการเป็นเจ้าของธุรกิจในโมเดลที่ว่านี้สักเท่าไร เพราะชอบมีชีวิตอิสระ ไม่อยากรับผิดชอบชีวิตใคร ทุกวันนี้แม้ผมจะมีบริษัทเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง แต่ก็ใช้หลักการคือ "มีรายจ่าย เมื่อมีรายได้" ความหมายคือ จ้างฟรีแลนซ์เกือบทั้งหมดในการทำงาน และเป็นการทำงานแบบ Remote Working คือเจอหน้ากันน้อยมาก และลักษณะงานเป็นโปรเจ็คท์ที่มีระยะเวลาแน่ชัด จบงานก็แยกย้าย รอเวลาเริ่มโปรเจ็คท์ใหม่


บางทีชีวิตอาจไม่ต้องเป็น "เจ้าของธุรกิจ" แต่เราควรจะเป็น "เจ้าของชีวิต" ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม อย่าเข้าใจผิดคิดว่า ชีวิตอิสระหมายถึงชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ความจริงแล้วเราต้องทำมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะต้องเข้าควบคุมรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไม่มีอีกแล้วความแน่นอนในรายได้ทุกสิ้นเดือน


คนรุ่นใหม่หลายคนที่ฝันอยากมีชีวิตอิสระ ไม่เข้าใจในจุดนี้ บางคนบอกว่าความฝันของเขาก็คือ มีเงินเยอะๆ จะได้กิน นอน เที่ยวทั้งวัน ไม่ต้องทำงาน


ถามจริง ๆ ...ชีวิตแบบนั้นมันมีคุณค่าตรงไหน? ถ้าคิดแบบนี้ อย่าเพิ่งออกมามีชีวิตอิสระเลย ทำงานประจำให้ดีก่อนดีกว่าครับ


2.

ทุกครั้งที่ทำงาน ผมจะคิดอยู่ในหัวเสมอว่า ผมกำลัง work with (ทำงานกับ) ไม่ใช่ work for (ทำงานให้กับ) ตลอดการทำงานทุกชิ้น ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นลูกจ้าง ไม่เคยคิดว่ามีนายจ้าง (แม้ในวันที่ผมทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน) การคิดแบบนี้ทำให้ผมรู้สึกว่างานทุกงานเป็นงานของเราอย่างแท้จริง ผมจึงทำมากกว่าที่ขอ (จ้างห้าร้อย เล่นห้าพัน)


สำหรับคนที่ยังทำงานประจำ น่าจะลองนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ดู เพราะงานประจำนั้นมีข้อดีก็คือ ถ้าขยันเรียนรู้ เราจะเหมือนได้ลองทำธุรกิจของตัวเอง โดยไม่ต้องลงเงินเองสักบาท เหมือนมีคนมาลงทุนให้ทำธุรกิจ โอกาสแบบนี้หาไม่ง่าย


ภาพโดย Expressa Digital จาก Pixabay

ช่วงแรกตอนที่ผมลาออกจากงานประจำ แล้วมารับจ้างปั้นนิตยสารเล่มใหม่ ทั้งทีมงานมีกันอยู่ไม่ถึงนิ้วมือข้างนึง ต่างคนต่างทำงานกันที่บ้าน แล้วส่งงานกันผ่านอินเตอร์เน็ต ผมต้องทำงานทุกอย่างเกือบทุกขั้นตอน คิดคอนเส็ปต์ วางรูปแบบหนังสือ กำกับอาร์ตเวิร์ค ออกแบบสไตล์ปก หัวหนังสือ โลโก้ เครื่องหมายการค้า ติดต่อนักเขียน หาช่างภาพ


ไปสัมภาษณ์เอง ซื้อเครื่องบันทึกเสียงเอง ซื้อกล้องถ่ายรูปเอง หัดถ่ายภาพเอง ตรวจคำผิด ประสานงานกับฝ่ายศิลปกรรม ติดต่อหาโฆษณา ทำสัญญา ยื่นใบเสนอราคา ขอ ISSN ทำแฟนเพจ ถ่ายคลิปวิดีโอ ประเมินยอดขาย หาจุดคุ้มทุน และอื่นๆ อีกมากมายที่ถ้าคิดแบบลูกจ้าง คงไม่มีใครลงทุนทำขนาดนี้ บางคนอาจรู้สึกว่าขาดทุนด้วยซ่้ำ

แต่สำหรับผม ...ไม่เลย ผมรู้สึกดีมาก เหมือนได้ทำธุรกิจ โดยมีคนออกเงินให้ลองทำ ภาพในหัวของผม ผมคือหุ้นส่วนธุรกิจ ไม่ใช่ลูกจ้าง ถ้าสำเร็จ เราก็สำเร็จไปด้วยกัน ผมไม่ได้ทำงานให้ (work for) ลูกค้ารายนี้ แต่ผมทำงานกับ (work with) ลูกค้ารายนี้


...การทำงานครั้งนั้นให้ประสบการณ์ผมมากมาย (และในเวลาต่อมาเป็นรากฐานให้ผมตั้งบริษัทของตัวเอง ในแบบของตัวเอง)

ทำงานครั้งต่อไป ลองสวมความรู้สึกเป็นเจ้าของ "ทำงาน" ไม่ใช่ความรู้สึกแบบ "ลูกจ้าง" ดูสิครับ แล้วจะได้ประสบการณ์มูลค่ามหาศาลจากความตั้งใจของเรา


3.

มีการวิจัยในนิวยอร์คชิ้นนึงที่ผมว่าน่าสนใจ เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ ผลการสำรวจพนักงานกว่าพันคนจากต่างสาขาอาชีพ พบว่า คนระดับ Top 3% ของทุกสาขาอาชีพ ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นลูกจ้างก็ตาม แต่คนกลุ่มนี้กลับมองตัวเองว่าคือ "ผู้ว่าจ้างตัวเอง"


ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

พวกเขาปฎิบัติตัวและทุ่มเทในการทำงานราวกับเป็นบริษัทของเขาเอง ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับบริษัทสำคัญกับเขา ราวกับเขาคือผู้ถือหุ้น 100% เขาไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าเขาคือลูกจ้าง ...และนั่นก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเป็น Top 3% ของคนทั้งองค์กร


ผมว่าเป็นคำถามที่น่าคิดนะครับว่า "วันนี้เราทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน?” คิดว่ากำลังทำงานให้ใครอยู่หรือเปล่า? ก็เลยเช้าชามเย็นชาม ขอไปที


แท้ที่จริงแล้ว ถ้าจะตระหนักสักนิดว่า "เรา" ต่างหากที่จ้าง "ตัวเราเอง" ทำงาน เราคือเจ้านายที่มีลูกน้องคนเดียวก็คือ "ตัวเรา" เราเป็นเจ้าของบริษัทที่ชื่อ บริษัท "ฉันเอง" จำกัด เราจ่ายค่าจ้างเป็น "เวลา" และ "สุขภาพ" ที่แลกไปในแต่ละวัน และสโลแกนของบริษัทนี้ก็คือ "เราสัญญาจะส่งมอบงานที่ดีที่สุดในเวลาที่กำหนด ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด"


ถ้าคิดได้แบบนี้ อย่าว่าแต่ Top 3% ของคนทั้งองค์กร แต่ Number 1 ขององค์กรก็ยังได้

จำไว้ครับ เราไม่ได้เป็นลูกจ้างของใคร "เรา" ต่างหากที่จ้าง "ตัวเราเอง" ทำงาน


4.

ครั้งหนึ่ง มีรุ่นน้องมาของานจากผม เขาบอกว่า "ไม่ต้องประจำก็ได้พี่ เป็นฟรีแลนซ์ก็ได้" ผมจึงนึกขึ้นมาได้ว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า "ฟรีแลนซ์" หรือ "งานไม่ประจำ" คืองานที่เหมาะกับมือสมัครเล่น เอาไว้ทำตอนว่าง ๆ หารายได้เสริม

แต่ความจริงแล้วมันตรงกันข้าม เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ (มืออาชีพ) ได้นั้น ผลงานต้องไม่ธรรมดา บางทีอาจต้องเจ๋งกว่าพนักงานประจำที่นอนเป็นเสือสิ้นลายด้วยซ้ำ และด้วยความที่ผมเคยทำงานทั้งประจำและไม่ประจำ ผมจึงเหมือนคนที่อยู่ทั้งสองฝั่ง ทำให้เห็นชัดเจนว่า คนสองประเภทนี้คิดต่างกันโดยสิ้นเชิง


คอร์สออนไลน์จาก บอย วิสูตร เกือบ 1,000 วิดีโอ (ราคาพิเศษ)

คนกินเงินเดือน (บางคน) สนใจเรื่องเงินเดือนอันดับแรก ทั้งที่ผลงานยังไม่ปรากฏ แต่เขาจะต่อรองเงินเดือนก่อน ว่าได้เท่าไร ได้วันไหน เบิกอะไรได้บ้าง วันหยุดกี่วัน สวัสดิการเป็นอย่างไร แต่ฟรีแลนซ์ (มืออาชีพ) รู้ดีว่าจะต้องทำผลงานให้เป็นที่ปรากฏโดดเด่นเสียก่อน จึงจะมีงานต่อเนื่อง และเรื่องค่าจ้างนั้น ถ้างานดี ค่าจ้างย่อมงามตามไปด้วย


คนกินเงินเดือน (บางคน) ยิ่งอยู่ไปนาน ๆ มักจะขี้เกียจ เหมือนเสือนอนกิน เขาจะคิดว่าตำแหน่งงานนั้นเป็นของเขา ใครก็มาเอาไม่ได้ จึงไม่ค่อยพัฒนาตัวเอง แต่ฟรีแลนซ์ (มืออาชีพ) เหมือนเสือในป่า ถ้าวันนี้ทำได้ไม่ดี พรุ่งนี้อาจไม่มีกิน เขาจึงต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ทุกผลงาน

ที่เขียนมาทั้งหมด ใช่ว่าคนกินเงินเดือนหรือฟรีแลนซ์จะต้องเป็นอย่างนี้ทุกคนนะครับ คนกินเงินเดือนดีๆ ก็มี คนทำงานฟรีแลนซ์ชุ่ยๆ ก็เยอะ

อย่างไรก็ตาม ผมนึกถึงรุ่นน้องคนดังกล่าว สอนเสือในละครสัตว์ให้ล่าเหยื่อนั้นยากฉันใด สอนคนทำงานประจำให้ทำงานฟรีแลนซ์ก็ยากฉันนั้น โลกภายนอกที่ไม่มีอาหารสามมื้อมาวางตรงหน้า โลกที่ไม่มีเงินเดือนมารอทุกปลายเดือน โลกแบบนี้น้อยคนจะเข้าใจ เพราะเราส่วนใหญ่ถูกสอนจากมหาวิทยาลัยให้จบออกมารับเงินเดือน ดี ๆ ชั่ว ๆ สิ้นเดือนเขาก็ให้เงินมาใช้ หมดแล้วเดี๋ยวเดือนหน้าก็มาอีก งานประจำจึงพรากสัญชาตญาณเอาตัวรอดและพึ่งพาตัวเองจากเราไป


การกำราบเสือให้อยู่หมัดจึงไม่ใช่การจับตัดเขี้ยวตัดเล็บ แล้วขังไว้ในกรง แต่คือการให้อาหารทุกวัน ๆ จนเริ่มลืมวิธีการออกหาอาหารเอง แม้ไม่ต้องตัดเขี้ยวเล็บ ...ก็เชื่อง แม้ไม่มีกรง ...ก็ยินดีอยู่ตรงที่เดิม ...คนเราก็เช่นกัน


ย้ำอีกครั้ง ทั้งหมดผมไม่ได้บอกว่างานประจำนั้นไม่ดี เพียงแต่อย่าลืมพิสูจน์ตัวเองด้วยว่า "ฉันคือพนักงานประจำมืออาชีพ" ไม่ใช่ "มนุษย์รอเงินเดือน" ไปวัน ๆ


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ "งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า" สั่งซื้อ กด ที่นี่

9,140 views0 comments

Kommentare


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page