พูดให้ดี พูดให้คนจำ พูดให้มั่นใจ คงมีคนบอกเคล็ดลับกันไปหมดแล้ว แต่บางครั้งอาจเจอคนฟัง "ขั้นโหดหิน" ชนิดที่พูดไปเท่าไร ก็ไม่มีแรงอะไรส่งกลับมา ซึ่งเราคนพูดอาจตายคาเวทีได้ ...ถ้าไม่เตรียมรับสถานการณ์ไว้ให้ดี
และนี่คือ 5 เคล็ดลับที่ผมนำมาฝาก มาจากประสบการณ์พูดบนเวทีของผมเอง บางครั้งต้องพูดนานถึง 3 ชั่วโมง บางครั้งต้องพูดให้คนที่ไม่รู้จักผมเลย และบางครั้งต้องพูดให้คนที่ไม่ได้อยากมาฟัง ผมทำอย่างไร? ลองอ่านดูครับ ถ้าคุณอยากพูดบนเวทีให้รอด ลองนำไปปรับใช้ดูครับ และอาจไม่ใช่แค่รอด แต่เมื่อพูดจบ ผู้คนยังปรบมือให้ด้วย
1.ถ้าเจอคนฟังนั่งกอดอก
ภาษากายแบบนี้บอกว่าคุณกำลังเจองานหิน ถ้าไม่ใช่แอร์หนาวมาก ก็เพราะคนฟังปิดใจ เขาไม่ได้อยากฟัง ถูกบังคับมา (หรือถ้าโชคดี...เขาอาจแค่ชอบกอดอก)
วิธีแก้: ต้องทำให้เขาคลายมือออก เลิกกอดอก ด้วยการหากิจกรรมอะไรสักอย่างให้เขาทำ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ โน้ส อุดม อุ่นเครื่องคนฟังด้วยการบอกว่า "หากพวกเรากำลังสบาย จงปรบมือพลัน"
อย่างเช่นผมเองจะมีกิจกรรมให้ร่วมสนุก กอดอก คลายออก กุมมือ คลายออก แล้วทำนายนิสัยของเขา พร้อมกับปล่อยมุกสนุก ๆ เท่านี้บรรยากาศก็จะเริ่มผ่อนคลาย
2. ถ้าคนฟังเป็นชายมากกว่าหญิง
แบบนี้โจทย์จะยากขึ้นอีกนิด เพราะผู้ชายเป็นมิตรยากกว่าผู้หญิง พวกเขามักมีชั้นเชิง วางท่า ขี้เก๊ก แสดงความรู้สึกน้อย นิ่ง ๆ
วิธีแก้: ถ้าเจอคนฟังเป็นผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิง ก่อนจะมอบสาระ ต้องทำให้หัวเราะก่อน อาจเป็นตลกแบบทะลึ่ง (แต่ไม่ลามก) หรือตลกเรื่องเมียก็มักใช้ได้ผลกับผู้ชาย ส่วนตลกที่ดีที่สุดที่ใช้ได้กับทุกเพศคือตลกเรื่องความผิดพลาดของเรา (อย่าจำขำขันจากห้องไลน์มาเล่า เพราะพวกเขาเคยอ่านกันหมดแล้ว)
อย่างเช่น ผมเคยไปบรรยายที่ธนาคารกรุงศรี พระราม 3 ขับรถขึ้นสะพานข้ามแยก ปรากฏว่าเลยตึก เห็นตึกธนาคารอยู่ข้าง ๆ แต่ลงสะพานไปไม่ได้ นาทีนั้น ผมรู้แล้วว่าแค่เสียเวลาไปกลับรถ แต่ได้มุกความผิดพลาดของตัวเองมาเล่า ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มมาก เพราะพอขึ้นเวที ผมก็เปิดด้วยคำพูดว่า "มีใครเคยรู้สึกแบบนี้มั้ยครับ? เห็นสิ่งที่ต้องการอยู่ตรงหน้า แต่เอื้อมคว้าไม่ได้"
ผมปล่อยให้คนฟังคิดสักพัก แล้วก็พูดต่อไปว่า "ผมเพิ่งรู้สึกแบบนี้เมื่อกี้เลยครับ ผมขับรถมาเร่ื่อย ๆ เส้นพระราม 3 จนมาถึงสะพานข้ามแยกหน้าตึกกรุงศรี แล้วผมก็หันไปเห็นตึก...แต่ลงไม่ได้" คนฟังหัวเราะ เพราะเขาเคยเป็นแบบผม จากนั้นผมก็พูดต่อไปว่า "นั่นแหละครับ อยู่ตรงหน้า แต่เอื้อมคว้าไม่ได้" คนฟังหัวเราะอีกครั้ง
แล้วก็มาถึงหมัดเด็ดที่ผมเตรียมไว้ ผมถามคนฟังต่อไปว่า "รู้มั้ยครับว่านาทีที่ผมรู้ตัวว่าขับรถเลยตึก ผมนึกถึงคำว่าอะไร?" ผมปล่อยทิ้งจังหวะสักพัก แล้วพูดว่า "กรุงศรีอยู่นี่นะ" ...เท่านั้นแหละครับ หัวเราะกันลั่นห้อง เพราะพนักงานธนาคารย่อมคุ้นกับสโลแกนนี้ดี ในที่สุดผมก็ทำให้คนฟังเป็นมิตรได้ด้วยเรื่องตลกจากความผิดพลาดของเรา
นี่คือสิ่งที่ผมทำเป็นประจำ ก่อนจะไปพูด นั่นคือศึกษาบริษัทของเขาว่ามีอะไรที่เราจะพูดให้สนุกได้บ้าง
3. ถ้าผู้ฟังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ
ทำนองว่าฟังอย่างเดียว ถามก็ไม่ตอบ ให้ยกมือก็ไม่ยก แบบนี้บรรยากาศจะหนืดมากกกกก
วิธีแก้: วิดีโอคลิปช่วยเปลี่ยนบรรรยากาศได้ครับ อย่างน้อยก็แก้เบื่อเสียงของเราที่พูดมานานแล้ว และเมื่อเปิดคลิปจบ อย่าลืมบอกให้คนฟังปรบมือให้คลิปด้วย บางคนสงสัย "จะปรบมือให้คลิปทำไม?" คำตอบคือมันเป็นวิธีเชื่อมตัวเราให้กลับมาบนเวทีอีกครั้ง หลังจากที่คนดูดูคลิปจบและอาจลืมเราไปแล้ว
อย่างเช่น ในทุกการพูดที่เกิน 1 ชั่วโมง ผมจะนำคลิปมาเปิดเปลี่ยนบรรยากาศ เป็นคลิปที่ไม่ยาวมาก ภาพคมชัด เป็นภาษาไทย หรือไม่มีบทพูดเลยยิ่งดี ที่สำคัญวิดีโอคลิปนั้นต้องนำไปสู่ข้อสรุปอะไรบางอย่าง อาจจะตลกหรือซาบซึ้งก็ได้ ซึ่งผมจะต้องเป็นคนสรุปหลังคลิปจบว่าได้เรียนรู้อะไรจากคลิปดังกล่าว หรือในบางครั้ง สารภาพเลยว่า
ผมตั้งใจเปิดคลิปเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเท่านั้น เพราะอย่างไรเสีย วิดีโอที่ถ่ายทำมาอย่างดี ก็ดึงดูดความสนใจได้มากกว่าคนยืนพูด
4. ถ้ารู้สึกว่าการพูดของเราชักน่าเบื่อ
เนื่องจากคนฟังมาสักพักแล้ว เริ่มมึน เนื่องจากเราพูดมานานแล้ว พลังงานตก เนื่องจากบรรยากาศอึมครึม คนเริ่มสัปหงก หรือจะเนื่องจากอะไรก็แล้วแต่
วิธีแก้: หากิจกรรมที่ทำให้คนฟังมีส่วนร่วม เช่น มีเรื่องเล่าให้เขาต้องทำท่าทางตาม มีการพูดตามที่เราพูดนำ มีการออกมาแชร์หน้าห้อง ให้คนฟังได้เป็นฝ่ายพูดบ้าง สิ่งนี้จะเปลี่ยนบรรยากาศในห้องได้มหาศาล อย่าให้เขานั่งฟังเราอย่างเดียว
อย่างเช่น ผมจะเตรียมของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปแจก แล้วให้คนฟังจับคู่กันกับคนข้าง ๆ ให้เขาผลัดกันทบทวนสิ่งที่ได้ฟังผมพูดไปแล้ว จากนั้นขออาสาสมัครขึ้นมาพูดบนเวที (หรือข้างล่างก็ได้) ใครขึ้นมาพูดจะมีรางวัลให้
วิธีนี้นอกจากจะเปลี่ยนบรรยากาศได้แล้ว ยังทำให้คนฟังได้พักสมอง และได้ฝึกสรุปว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง
5. ถ้ามีคนไม่ตั้งใจฟัง (หรือบางคนหลับ)
เรื่องนี้มีได้ทุกที่ ทุกเวที และหลายครั้งไมใ่ช่ความผิดของเรา เมื่อคืนเขาอาจจะแค่ดูบอลดึกเท่านั้น หรือไม่สมองก็เข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน ...ซึ่งย้ำอีกว่าบางทีก็ไม่ใช่ความผิดของเราครับ
วิธีแก้: ถ้าใช้วิธีการที่ผมว่ามาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชวนทำกิจกรรม เล่าเรื่องสนุก เปิดคลิปวิดีโอ หรือให้เขาจับคู่คุยสรุปเนื้อหา แต่ก็ยังเห็นคนไม่ตั้งใจฟังหรือหลับสัปหงกอยู่ดี อันนี้คงต้องบอกว่า...ปล่อยเขาไปเถอะครับ อย่าสนใจคนทั้งห้อง เพราะเราทำให้ทุกคนตั้งใจฟังไม่ได้หรอก ขอให้มองหาคนที่ตั้งใจฟัง แล้วสบตาเขา อยู่กับเขา ขอพลังจากเขา เพื่อส่งต่อให้คนอื่น ๆ ในห้อง อย่าหมกมุ่นอยู่กับคนที่ไม่สนใจฟัง เพราะเราจะเสียสมาธิ
ทั้งหมดนี้ ลองนำปรับใช้ดูนะครับ ขอให้สนุกกับการพูดบนเวที (หรือยุคนี้อาจต้องปรับเป็นพูดหน้ากล้อง ซึ่งยากกว่าเดิม)
ฝึกไปเรื่อย ๆ หาเวทีลองฝีมือ แล้วเราจะค่อย ๆ เก่งขึ้นเองครับ.
Comentarios