top of page

ความเปลี่ยนแปลงน่ากลัว สำหรับคนไม่เตรียมตัวอะไรเลย

Updated: Jan 25, 2021

1.

(หมายเหตุ : ข้อเขียนชิ้นนี้ผมเขียนไว้ประมาณปี 2018 ไม่น่าเชื่อว่าพอมาอ่านวันนี้ในยุคโควิด สิ่งเหล่านี้ยิ่งจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเราต้องรีบเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่กำลังจะมาถึง ...แต่มาถึงตั้งนานแล้ว)


มีอยู่วันนึง ผมเพิ่งรู้สึกถึงความศิวิไลซ์ของชีวิต และคิดว่าการออกจากบ้านเริ่มจำเป็นน้อยลง ยิ่งถ้าใครทำงานอยู่ที่บ้านด้วยแล้ว ก็แทบจะสิงสถิตอยู่ที่บ้านได้เลย เพราะมีบริการทุกอย่างส่งตรงถึงบ้าน

ภาพถ่ายโดย Torsten Dettlaff จาก Pexels

ต่อไปนี้คือสิ่งที่เกิดกับผมในบ่ายวันหนึ่ง...


ชำระบิลบัตร ประกัน อินเตอร์เน็ต น้ำ ไฟ แค่สแกนผ่าน app ไม่ต้องไปธนาคาร อยากอ่านหนังสือใหม่ก็สั่งผ่านเว็บ ลดราคาเท่างานสัปดาห์หนังสือ ค้นหาก็ง่ายว่าเล่มที่ต้องการมีหรือเปล่า สั่งไป 2 วัน วันนี้มาส่งในสภาพดีมาก มีของแถมให้ด้วย


ทิ้งช่วงไม่นาน รถอีกคันมาส่งของหน้าบ้าน ตู้คีบตุ๊กตามินิของลูกสาวที่สั่งไปเมื่อวาน ย้ำว่าเมื่อวาน...วันนี้มาส่งเรียบร้อย มีของแถมให้อีกด้วย


หิว ...แต่ไม่อยากออกไปไหน ก็แค่สั่งอาหารผ่านแอพเดลิเวอรี่ เจอโปรโมชั่นดี ส่งฟรี แถมคูปองลดราคาอีก สรุปว่ามื้อนั้น ถูกกว่าขับรถออกไปกิน


...ชีวิตมันช่างศิวิไลซ์เสียจริง ๆ


2.

ถามว่าเมื่อก่อนการซื้อของผ่านเน็ต ใครจะกล้า? แต่ตอนนี้เราซื้อกันเป็นเรื่องปกติ เหตุเพราะทุกอย่างสนับสนุนกันและกัน แอพมือถือใช้ง่าย ชำระเงินก็สะดวก จัดส่งของก็ไว ทำให้เราไม่ต้องออกไปซื้อของให้เสียเวลา


เรื่องพวกนี้กำลังเปลี่ยนโลกทีละนิด เพียงแต่เราอาจไม่ทันได้สังเกต ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่เกิดในระดับโลก สินค้าส่งข้ามประเทศกันไปมาอย่างง่ายดาย อย่างผมเองเคยสั่งแท็บเล็ตจอยักษ์จากอเมริกา ใช้เวลาแค่ 3 วันก็ส่งถึงบ้าน...เร็วจนน่าตกใจ ทั้งที่กล่องใหญ่มาก ๆ หรืออีกครั้งผมเคยสั่งชาสมุนไพรจากอเมริกา ยอดซื้อแค่ 1,000 บาทก็ส่งฟรีแล้ว รวมภาษีนำเข้าแล้วยังถูกกว่าซื้อที่ห้างในไทยอีก


เรื่องนี้ทำให้ผมนึกไปได้หลายมุมครับ


ในมุมคนขาย นั่นแปลว่าเราต้องทำระบบสืบค้นหน้าร้านออนไลน์ให้ดี เพราะยุคนี้สินค้ามากล้นจนหาไม่ถูก ถ้าทำให้ใช้งานง่าย จ่ายเงินก็ง่าย สมัครสมาชิกไม่ยุ่งยาก (หรือไม่ต้องสมัครก็ได้) แบบนี้ใคร ๆ ก็อยากซื้อ และจากนี้ไปคู่แข่งของเราจะคือคนทั้งโลก แต่ก็เช่นกันครับ ลูกค้าของเราคือคนทั้งโลก ...อย่าคิดแค่ในประเทศเท่านั้น


ในมุมคนกลาง นั่นแปลว่าถ้าคนกลางมีประโยชน์น้อยลง ผู้ขายจะพบผู้บริโภคเอง เช่น สำนักพิมพ์เริ่มขายหนังสือผ่านเว็บเอง ราคาถูกกว่าหน้าร้าน และจัดส่งได้ดีมาก คำถามคือแล้วร้านหนังสือกับสายส่งจะทำอย่างไรต่อ? ถือเป็นเรื่องที่น่าคิด


ในมุมธุรกิจข้างเคียง (เช่น รับจัดส่งสินค้า ขายกล่องบรรจุ) นั่นแปลว่าธุรกิจแบบนี้จะโตมาก นั่นแปลว่าใครเห็นโอกาส ก็รับทรัพย์ไปเต็ม ๆ เหมือนธุรกิจที่เติบโตตอนผู้คนตื่นทอง ก็คือธุรกิจ "ขายจอบขุดทอง" นั่นเอง


ในมุมคนซื้อ นั่นแปลว่าต่อไปนี้นั่งอยู่บ้านก็ผลาญเงินได้ อันนี้ต้องระวัง นี่ยังไม่นับการซื้อบริการออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Netflix หรือ Spotify ต่อไปเราอาจไปโรงหนังกันน้อยลง เพราะหนังลาโรงได้ไม่นานก็มีให้ดูออนไลน์แล้ว


อ่านแล้วคุณอยู่มุมไหนครับ? รับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร?


3.

แน่นอนว่าบรรยากาศคือสิ่งที่หาไม่ได้ในบ้าน เรายังจำเป็นต้องออกไปโรงหนัง ไปงานหนังสือหรือร้านค้า แต่ผมเชื่อว่าก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้อยากได้บรรยากาศอะไรขนาดนั้น เขาอยากตรงเข้าประเด็น และไม่อยากฝ่ารถติด ออนไลน์ก็จะมาแทนตรงนี้ได้มาก (และแทนที่ได้มากเสียด้วย)


ใครจะคิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจมีอุปกรณ์จำลองบรรยากาศเหมือนจริง ชนิดที่ว่าเหมือนอยู่ในร้านค้า เดินหยิบจับเลือกซื้อสินค้าลงตระกร้าได้ จากนั้นไม่นานสินค้าก็จะถูกส่งมาวางหน้าบ้านเราในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ...ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ใครจะรู้?


ส่วนผมเป็นพวกชอบอยู่บ้านอยู่แล้ว ชีวิตแบบนี้เลยยิ่งกว่าในฝัน หลังจากที่มนุษย์ออกจากถ้ำ เร่ร่อนมานาน


ผมคิดว่าอาจได้เวลาที่เราจะลงหลักปักฐานกันอีกครั้ง


4.

แต่จะว่าไปยุคนี้ธุรกิจอะไรก็ไม่แน่นอน บางอย่างที่คิดว่าแน่ ก็อาจแปรเปลี่ยนได้ อย่างตัวผมเองคิดแล้วยังเหลือเชื่อที่ยกเลิก apple music ทั้งที่ผมสมัครตั้งแต่วันแรกที่เขาเปิดตัวและจ่ายเงินต่อเนื่องไม่มีขาดสักเดือน เรียกว่าเป็นแฟนตัวยง ลูกค้าชั้นดี


เหตุผลง่าย ๆ ที่ยกเลิกก็คือ ผมไม่ได้เป็นสาวก apple ที่ใช้ทุกอย่างเป็น iOS (ผมมี iPad และ macbook pro) มือถือก็ใช้ android ล่าสุดอย่างที่บอก ผมซื้อ tablet จอยักษ์จากเว็บ amazon และแน่นอนว่าเป็นระบบ android ประเด็นก็คือ android ไม่มีแอพ apple music หรือมีก็ง่อยมาก ใช้แล้ว crash บ่อย


เมื่อคิดในมุมนี้ ผมจึงเปลี่ยนมาใช้ spotify เพราะใช้ได้กับทุก device ไม่แบ่งค่าย (ไม่ได้ค่าโฆษณานะครับ) เหตุผลง่าย ๆ แค่นี้เองที่ทำให้ลูกค้าผู้ซื่อสัตย์อย่างผมเปลี่ยนใจ


ที่เล่าเรื่องนี้ เพราะผมยังอยู่ในอาการ "อิน" หลายเดือนก่อนผมอ่านหนังสือชีวประวัติของ Steve Jobs ตอนหนึ่งในเล่ม Jobs บอกว่าเพื่อความสมบูรณ์แบบ เขาต้องเป็นเจ้าของระบบนิเวศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น software หรือ hardware ...ซึ่งก็ถูกของเขานะครับ iOS ก็เลยทำอะไรได้ง่ายเพราะมีแต่ในอุปกรณ์ของ apple เท่านั้น ความเสถียร ความสวยงาม จึงทำได้ไม่ยาก


ประเด็นก็คือ เดี๋ยวนี้ android ก็ไม่ขี้เหร่ ดีขึ้นเรื่อย ๆ แม้เรื่อง app จะเจ๋งไม่เท่า iOS หรือความเสถียรอาจจะยังสู้ไม่ได้ แต่สำหรับผม นั่นเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อคิดว่าทุกวันนี้ผมทำทุกอย่างผ่าน Cloud พิมพ์งานด้วย google doc เก็บภาพและวิดีโอไว้ใน google photo แชร์งานกันกับทีมผ่านทาง google drive หรือจะเป็นการดูหนังดูซีรี่ส์ก็ใช้บริการ Netflix แถมบางครั้งยังไม่ได้นั่งดูจนจบเรื่องในคราวเดียว แต่ดูทีละนิดทีละหน่อย คนละบนอุปกรณ์ด้วย เช่น เริ่มจากดูหนังบนมือถือ android แล้วไปดูต่อในคอม macbook pro แล้วไปจบเรื่องที่ tablet ซึ่งเป็นระบบ android


ก่อนหน้านั้น ผมเคยเช่าหนังจาก iTunes จึงกลายเป็นว่าผมเลิกเช่าไปโดยปริยาย เพราะเหตุผลเดิม นั่นคือไม่มี แอพของ apple ใน android


5.

ผมอยากจะสรุปเรื่องนี้แบบคนที่ไม่ได้มีความรู้มาก เพียงแต่คิดในมุมของผู้ใช้งานเท่านั้น ผมสรุปแบบนี้ครับ จากนี้เราจะก้าวเข้าสู่ยุค "ถอดวิญญาณ" (ซึ่งจริง ๆ เราอยู่ยุคนี้มาสักพักแล้ว เพียงแต่คนกลุ่มใหญ่ ยังไม่มา)


ถอดวิญญาณแปลว่า ทุกอย่างจะอยู่บนอากาศหรือ cloud รูปภาพ วิดีโอ เอกสาร เพลง หนัง และ app ทุกตัวที่เราใช้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์อะไร จะไม่มีผลเลย เพราะมันคือ "ร่าง" ที่ยืมใช้ชั่วคราวเท่านั้น ...สำคัญคือ "ร่างนั้น" รองรับ "วิญญาณ" ของเราหรือเปล่า?


พอเป็นแบบนี้ ผมคิดว่านี่คือความท้าทายของ apple โลกที่ทุกอย่างอยู่บนอากาศ ลูกค้าย่อมอยากเข้ากันได้ทุกอุปกรณ์ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะที่รักใน apple แต่ในเมื่อยังเป็นระบบปิดต่อไปแบบนี้ ก็น่าท้าทายว่าแล้ว apple จะอย่างไรต่อ?


ครั้งนึง Steve Jobs เคยให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นตรงกันข้ามกับ Bill Gates เขาอยู่ในระบบปิด เพื่อควบคุมได้ทุกอย่าง แต่ Gates บอกว่าเขาอยากเข้าได้กับทุกคน (แต่น่าแปลกที่ Windows กลับไม่ค่อยนิยมในมือถือ)


อย่างไรก็ตาม บางทีผู้ชนะในเกมนี้อาจเป็น google ก็ได้ เพราะครอบครองทั้งระบบแบบที่ Jobs ต้องการ ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นำ android ไปใช้ได้ ยิ่งเจอกับมือถือจีนที่เจ๋งขึ้นเรื่อย ๆ งานนี้ apple เหนื่อยเหมือนกัน


ยุคนี้ธุรกิจอะไรก็ไม่แน่นอน บางอย่างที่คิดว่าแน่ ก็อาจแปรเปลี่ยนได้ คิดจะกินยาว ๆ อยู่กันเป็นร้อยปีเหมือนธุรกิจสมัยก่อน สงสัยจะยากในยุคนี้ครับ


ความสามารถในการปรับตัวเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้


6.

ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งน่ากลัว สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ความเปลี่ยนแปลงคือโอกาสใหม่ สำหรับคนที่เตรียมตัวไว้ ตั้งแต่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง


สำหรับคุณ ความเปลี่ยนแปลงคืออะไร? โอกาสใหม่ หรือความน่ากลัวครับ?



15,428 views0 comments

Comentários


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page