1.
ผมชอบ "ความไม่รู้" เพราะมันทำให้เราสดใหม่ ไม่มีภาพจำของสิ่งนั้นว่าที่ผ่านมา คนที่ทำมาก่อน เขาทำอย่างไรบ้าง เราจึงทำไปตามสัญชาตญาณ ทำไปด้วยความ "ไม่รู้" ...หลายครั้งผลลัพธ์กลายเป็นแตกต่าง เพราะไม่ได้ทำตาม ๆ กันมา
นึกถึงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ลูกสาวถามแม่ว่า...ทำไมเวลาแม่ทอดปลาทีไร ต้องตัดเอาหัวปลาทิ้งทุกที แม่บอกไม่รู้เหมือนกันลูกเอ๋ย แม่ของแม่ก็ทำแบบนี้ แม่ก็เลยทำตาม ลูกสาวยังไม่หายสงสัย เลยโทรไปถามคุณยายว่า "ยายจ๋า ทำไมยายทอดปลาต้องตัดหัวปลาทิ้งด้วย?"
ยายตอบหลานกลับมาว่า "สมัยก่อนกระทะที่บ้านยายมันเล็ก ปลาตัวใหญ่เกิน ก็เลยต้องตัดหัวทิ้ง ไม่อย่างนั้นมันจะล้นกระทะออกมา" หลานยายเลยถึงบางอ้อ "อ๋อ อย่างนี้นี่เอง" บ้านเรากระทะออกจะใหญ่ ไม่ต้องตัดหัวปลาทิ้งก็ได้ แต่เพราะแม่ไม่รู้ ก็เลยตัดหัวปลาทิ้งตลอด ...เพราะทำตามโดยไม่ได้ถาม
...ไม่ว่าเรื่องเล่านี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็ทำให้เราฉุกคิดว่า เราอาจต้องตั้งคำถามสักนิดว่า สิ่งที่ทำตาม ๆ กันมา อาจไม่ได้แปลว่าถูกต้องและดีเสมอไป
"ฉันทำให้แตกต่างกว่านี้ได้ไหม? ถ้าไม่ใช่แบบที่เขาเคยทำกันมา แล้วจะเป็นอะไรอย่างอื่นได้อีก?"
นี่คือคำถามที่เราควรหมั่นถามตัวเอง
2.
Pharrell Williams ศิลปินชื่อดัง เคยพูดประโยคเด็ดไว้ว่า "The Same is Lame" แปลไทยได้ความประมาณว่า "ความเหมือนกันไปหมดคือความไม่ได้เรื่อง"
ผมเห็นด้วยกับเขา โลกนี้มีมาตรฐานทำตามกันมากพอแล้ว ที่เราต้องการเพิ่มขึ้นคือ "ความแตกต่าง" อย่ากลัวที่จะแตกต่าง แต่จงกลัวที่จะเหมือนกันไปหมด
คำว่า "ไม่มีใครเขาทำกัน" สำหรับคนจำนวนมาก แปลว่า "ถ้าอย่างนั้นเราอย่าทำเลย ดูสิ ไม่เห็นมีใครเขาทำกันเลย" แต่คำว่า "ไม่มีใครเขาทำกัน" สำหรับคนอีกกลุ่มนึง กลับแปลว่า "ก็เพราะไม่มีใครเขาทำกันนั่นแหละ จึงเป็นเหตุผลที่เราน่าจะลองทำดู"
ถ้ายึดคติ "ใคร ๆ เขาก็ทำกัน" เราก็เลยทำบ้าง เอาบ้าง ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้เราทำเต็มที่ เราก็เป็นได้แค่ One of Them หรือหนึ่งในนั้น แต่ "ไม่มีใครเขาทำกัน" ประโยคนี้คือโอกาสของการสร้างความแตกต่าง ถ้าทำแล้วสำเร็จ เราจะกลายเป็นผู้นำเทรนด์ แต่ถ้าไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็กลับมาเท่าเดิม
หรืออย่างน้อย ก็ได้รู้ว่า ...ถึงว่าล่ะ ทำไมเขาไม่ทำกัน (ฮา)
3.
ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ผมทำหนังสือ "งานไม่ประจำ ทำเงินกว่า" ผมคิดว่าทำไมหนังสือส่วนใหญ่จึงดูน่าเบื่อ มีแต่ตัวหนังสือเป็นพรืด ไม่มีภาพประกอบ มีแต่สีขาวดำ ผมจึงลองทำสิ่งที่ "ไม่มีใครเขาทำกัน" นั่นคือออกแบบอาร์ตเวิร์คให้เป็นสี่สีสวยงาม ตัวหนังสือเขียนน้อยมาก เพราะตั้งใจหวังให้โดนทุกบรรทัดที่อ่าน
ช่วงแรกมีคนคอมเมนต์ว่า "ตัวหนังสือน้อยเกินไป อ่านแล้วไม่คุ้ม เอาเปรียบผู้บริโภค" แต่เมื่อล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ หนังสือภาพสี่สี ตัวหนังสือน้อย กลายเป็นสิ่งที่ "ใคร ๆ ก็ทำกัน"
เพราะไม่มีใครเขาทำ นั่นแหละเราจึงต้องทำ และถ้าทำได้ดีพอ เราจะเปลี่ยนสิ่งที่ "ไม่มีใครเขาทำกัน"
ให้กลายเป็นสิ่งที่ "ใคร ๆ เขาก็ทำกัน" ...ได้ในที่สุด
4.
การเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ จริง ๆ แล้วคือความได้เปรียบ เพราะคนที่รู้มากมักติดกับดักที่ฝรั่งเรียกว่า The Curse of Knowledge หรือ "คำสาปของความรู้" หมายถึงพอเรารู้และเข้าใจในเรื่องนั้นแล้ว เราจะจำไม่ได้ว่าก่อนหน้านั้น เราไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอะไรบ้าง สายตาของมือใหม่จะหายไปจากเรา ความรู้จะเข้าครอบงำ ทำอะไรตามประสบการณ์ที่เคยทำมา คิดอะไรใหม่ ๆ ได้ยากเหลือเกิน ...การบอกให้ใครสักคน Learn, Unlearn, Relearn จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ต่างกับคนที่เต็มไปด้วยความไม่รู้ เขาจะเริ่มต้นด้วยการไร้กรอบ เพราะไม่รู้ว่าอะไรที่เขาไม่ทำกัน ก็เลยทำในสิ่งที่เขาไม่ทำกัน สุดท้ายใครจะรู้...อาจได้ลุ้นผลลัพธ์ใหม่ ๆ ก็ได้
"ฉันทำให้แตกต่างกว่านี้ได้ไหม? ถ้าไม่ใช่แบบที่เขาเคยทำกันมา แล้วจะเป็นอะไรอย่างอื่นได้อีก?" ลองนำคำถามนี้ไปปรับใช้กับงานของเรา ไม่มากก็น้อย น่าจะเปิดคำตอบใหม่ ๆ ให้ได้เห็น
สำรวจว่าเขาทำอะไรกันมาบ้าง แล้วลองทำตรงข้าม ใช้วิธีคิดของวงการอื่น มาใช้กับวงการของเรา ใช้ความไม่รู้ของเราให้เป็นประโยชน์ เพื่อกลายเป็นผลลัพธ์ใหม่ ๆ ที่ใครไม่ทำกัน
และเรานั่นแหละ...ที่จะทำมันเป็นคนแรก จนกระทั่งใคร ๆ ก็ทำกัน.
Comments