top of page

พ่อ แม่ และอาชีพของเรา

Updated: Dec 20, 2020

1.

ถ้าคุณเลือกอาชีพได้ตามใจอยากโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น คุณจะเลือกทำอาชีพอะไรครับ?

ภาพถ่ายโดย Lisa Fotios จาก Pexels


หลายปีก่อน ผมได้ดูหนัง 2 เรื่องที่ดูจบแล้วก็ยังวนเวียนติดอยู่ในความคิดจนถึงวันนี้ เรื่องหนึ่งคือหนังฮอลลีวู้ด "Coco" กวาดรางวัลมามากมายทั่วโลก อีกเรื่องคือหนังบอลลีวู้ด "3 Idiots" กวาดรางวัลอินเดียมาไม่น้อย


โดยบังเอิญหรืออย่างไรไม่รู้นะครับ ตัวละครทั้งสองเรื่อง มีปัญหาชีวิตไม่ต่างกัน นั่นคือ... "ฉันอยากทำอาชีพหนึ่ง แต่พ่อแม่อยากให้ทำอีกอาชีพหนึ่ง"


ในหนังเรื่อง Coco "มิเกล" เด็กน้อยพระเอกของเรื่อง เขาอยากเป็นนักดนตรี แต่ที่บ้านซึ่งมีอาชีพทำรองเท้า ต่อต้านแบบหัวชนฝา เหตุเพราะคุณปู่ทวด ทิ้งย่าทวดเพื่อไปเป็นนักดนตรี จึงทำให้ครอบครัวนี้เกลียดเสียงดนตรี เกลียดนักดนตรี และไม่มีวันให้ใครในตระกูลข้องเกี่ยวกับเสียงเพลง ทุกคนจะต้องช่วยกันทำรองเท้าเท่านั้น



ในหนังเรื่อง 3 Idiots "ฟาห์รัน" คือชายหนุ่มอินเดีย พระเอกของเรื่องเขาชอบถ่ายรูปสารคดีสัตว์ ฝีมือดีระดับส่งประกวดได้ ความฝันของเขาจึงคือเป็นช่างภาพ แต่พ่อกลับส่งเขาไปเรียนวิศวะ คณะยอดฮิต โดยไม่ได้ถามสักคำว่าเขาชอบหรือเปล่า ฟาห์รันจึงต้องเก็บความฝันไว้เป็นความฝันต่อไป



ผมคงจะไม่เล่าว่าสุดท้ายเกิดอะไรขึ้นในหนัง แต่เป็นหนังที่ดีมากทั้งคู่ อยากให้ไปหามาดูครับ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ดูเหมือนว่าประเด็น "ลูกอยากเป็นอย่างหนึ่ง พ่อแม่อยากให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง" จะเป็นปัญหาคลาสสิกตลอดกาล ซึ่งจะว่าเป็นปัญหาของคนไทยเท่านั้นก็คงไม่ใช่ เพราะอย่างในหนังสองเรื่องนี้ เกิดขึ้นที่เม็กซิโกกับอินเดีย (โดยเฉพาะหนังอินเดีย ดูแล้วเหมือนเมืองไทยมาก)


และจะโดยบังเอิญอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ ปีที่ผมดูหนัง 2 เรื่องนี้ ลูกสาวผมกำลังสอบเข้า ม.1 ผมจึงต้องไปประชุมผู้ปกครอง ปรากฏว่าท่าน ผอ.โรงเรียน พูดประเด็นคล้ายในหนัง ท่านว่าเดี๋ยวนี้อาชีพหลากหลาย ต้องให้เด็กเรียนตามถนัด อย่าบังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่ไม่ถนัด เราต้องช่วยกัน


แต่ชีวิตจริงมันง่ายอย่างนั้นหรือเปล่า?


2.

เล่ากันแบบตรง ๆ ลูกสาวผมชอบวาดรูป ชอบศิลปะ เก่งภาษา แต่แฟนผมและแม่ผม ทั้งสองคนอยากให้เธอทำอย่างอื่นมากกว่า เพราะกลัวลูกจะเป็นศิลปินไส้แห้ง จึงพยายามวางเส้นทางให้ไปทางสายวิทย์ อยากให้เป็นหมอบ้าง เป็นเภสัชบ้าง ก็ว่ากันไป


ส่วนผมที่ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียงมากนัก (ฮา) ก็ออกแนวเป็นอะไรก็เป็นเถอะลูก เอาที่ชอบและเก่ง เพราะผมรู้ว่าการเรียนสิ่งที่ไม่ชอบ มันทรมานแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจเชียร์ลูกแบบสุดลิ่มทิ่มประตูให้เป็นศิลปิน ...เพราะรู้ว่าชีวิตจริง ไม่ง่ายขนาดนั้น


นึกไปถึงตัวเองตอนเด็ก ผมเป็นเด็กเรียน เรียนเก่ง ได้ที่ 1 ของโรงเรียน แต่ชอบดนตรี ชอบเสียงเพลง เล่นกีตาร์ทั้งวัน แม่ผมซึ่งเป็นคนจีน ไม่ชอบให้ลูกเต้นกินรำกิน จึงเป่าหูทุกวันว่าอย่าเป็นนักดนตรีเด็ดขาด แล้วให้ผมเลือกสอบเข้าวิศวะตามแบบลูกของพี่สาวแม่ (ทำไมชีวิตของผมช่างคล้ายกับหนังเรื่อง Coco บวก 3 Idiots เสียเหลือเกิน)


ในที่สุด ผมก็สอบติดวิศวะ จุฬาฯ ได้แบบงง ๆ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิศวะเขาทำอะไรกัน เพราะฉะนั้น 4 ปีที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัย จึงทุกข์ทรมานมาก (แถมผมยังเรียนโทต่ออีก 2 ปีเพราะยังไม่อยากทำงาน)


แต่ก็อย่างที่บางคนอาจพอรู้ เพราะผมเล่าไว้หลายครั้ง ในเวลาต่อมา ผมได้ทำงานเป็นนักแต่งเพลงที่แกรมมี่ ได้ทำงานเป็นครีเอทีฟคลื่นวิทยุ ได้อยู่กับเสียงเพลง แล้วชีวิตก็พามาเรื่อย ๆ จนมาเป็นนักเขียน นักพูด (และอาจจะเป็นนักอื่น ๆ ได้อีกเยอะ) ทุกวันนี้สบายเกินกว่าฝันไว้ ไม่เดือดร้อน มีความสุขตามอัตภาพ ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ที่บ้าน


แต่ผมก็รู้ดีว่ากว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ ...ไม่ง่ายเลย มีองค์ประกอบมากมายจริง ๆ


3.

เมื่อย้อนมองชีวิตกลับไป โดยเฉพาะในประเด็น "ลูกอยากเป็นอย่างหนึ่ง พ่อแม่อยากให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง" ผมคิดว่าผมได้เรียนรู้อะไรไม่น้อย จึงขอเล่าสัก 3 เรื่องที่ได้เรียนรู้ก็แล้วกันครับ


เรื่องที่ 1 : ที่เหมือนว่าพ่อแม่จะยุ่งกับชีวิตเรา จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรมากไปกว่า ...เพราะ "เขารักเรา" นั่นเอง


เรื่องนี้กว่าจะเข้าใจได้ อาจต้องรอเวลาผ่านไปสักพัก อาจต้องเป็นพ่อเป็นแม่คนก่อน...จึงเข้าใจ เพราะพ่อแม่เขารักเรามาก จึงพยายามสรรหาสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุดให้เรา


แต่เราเองก็ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง เขาอายุมากกว่าเราอย่างน้อย ๆ ก็ 30 ปี เขามีชุดความคิด ชุดความเชื่อในแบบของเขา วัน ๆ ทำงานงก ๆ เงิ่น ๆ หาเงินให้เราใช้ วัน ๆ ซักผ้า ถูบ้าน หุงหาอาหารให้เรากิน จะไปมีเวลาอัพเดทยุค 4.0 ยุค 5G อะไรนักหนา? พ่อแม่จึงย่อมคิดว่าสิ่งที่เขาคิดนั้น ดีแล้ว เลือกมาแล้ว (ซึ่งจริง ๆ มันอาจจะดีจริง ๆ ก็ได้ ใครจะรู้?)


เขารู้แค่อย่างเดียว คณะที่อยากให้ลูกเรียน อาชีพท่ี่อยากให้ลูกเป็น สิ่งนี้จะช่วยเลี้ยงดูลูกให้รอดได้ ในวันที่เขาตายไป ...พ่อแม่คิดแค่นั้นจริง ๆ


ผมเองในวัยนี้ ในวันที่เป็นพ่อคน คิดว่าหากไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราในฐานะลูก ควรจะเรียนในแบบที่พ่อแม่อยากให้เรียน อย่างน้อยพ่อแม่ก็จะได้สบายใจ ส่วนเราอาจลำบากใจ ทุกข์ใจหน่อย ก็ช่างมัน เพราะเดี๋ยวจะไปเกี่ยวกับเรื่องที่ 2 ที่ผมได้เรียนรู้ครับ


เรื่องที่ 2 : อย่าโทษพ่อแม่ หากเราทำอาชีพที่ชอบไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว เป็นเราที่ต้องกำหนดชีวิตเอง


ชีวิตจริงเริ่มต้นตอนทำงาน ที่เรียนมานั้นหลายอย่างแทบไม่ได้ใช้ เริ่มใหม่หมด แปลง่าย ๆ ว่าจบอะไรมาก็ไม่ค่อยเกี่ยว เว้นแต่อาชีพนั้นต้องใช้วุฒิ อันนั้นก็ไปเรียนเพิ่ม อันที่จริงตอนเรียนมหาวิทยาลัย เวลาว่างเยอะแยะ ทำอะไรได้มากมาย ผมมีเพื่อนที่เรียนจบ 2 ปริญญา หรือแม้แต่ตอนทำงานแล้ว คนทำงานก็ยังไปเรียนเพิ่มเติมได้


ส่วนตัวผมคิดว่าพอถึงวัยทำงานแล้ว พ่อแม่มีส่วนน้อยมาก ๆ ในการกำหนดชีวิตเรา เป็นช่วงแห่งความเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบชีวิตเอง เราอยากเป็นอะไร? ทีนี้แหละ หน้าที่ของเราแล้ว


ผมจบวิศวะ ไม่ง่ายหรอกที่จะไปเป็นนักแต่งเพลง ตอนโทรไปบอกแม่ แม่เป็นห่วงมาก แต่ตอนนั้นผมวางแผนมาอย่างดีแล้ว ใช้เวลาสร้างหนทางมานาน ฟังเพลง ศึกษาเพลงตั้งแต่สมัยเรียน อ่านนิยาย ดูหนังทุกวัน จนซึมซับ สุดท้ายพอโอกาสเป็นนักแต่งเพลงมาถึง ...ผมก็พร้อมตั้งนานแล้ว


สรุปในข้อนี้ก็คือ สุดท้ายแล้วเราเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านนั้นมาโดยตรง โดยเฉพาะยุคนี้ที่คนจ้างงานเขาสนใจฝีมือและประสบการณ์มากกว่าวุฒิ


ไม่ต้องเสียดาย 4 ปีที่เรียนมา ไม่ต้องโทษพ่อแม่ที่ทำไมไม่ให้เราเรียนสิ่งที่ชอบ เราเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของตัวเองได้แน่นอน และสิ่งนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในข้อที่ 3 ครับ


เรื่องที่ 3 : หากอยากประสบความสำเร็จในอาชีพ อย่าคิดว่าแค่รักในอาชีพนั้นก็พอแล้ว...เพราะมันไม่พอ


ที่แท้จริงแล้วจะต้องเป็นอาชีพที่เรา... "รัก เก่ง มีประโยชน์กับคนอื่น และทำเงิน" นี่คือสิ่งที่ "นักฝัน" หลายคนผิดพลาด นอกจากรักแล้ว เรายังต้องฝึกฝนจนเก่งในเรื่องนั้น แถมเรื่องนั้นต้องเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก และยังต้องทำเงินได้ด้วย (และควรทำเงินเยอะ) ไม่ใช่ทำฟรีได้บุญ แต่คุณไม่มีข้าวกิน


สิ่งนี้แหละที่ผมเข้าใจว่าชีวิตจริงไม่ง่าย จึงไม่สนับสนุนลูกเต็มที่ให้ไปทางใดทางหนึ่ง เพราะยังไม่รู้ว่า...แล้วเธอจะเก่งจริงมั้ย? หรือเก่งจริง แล้วจะมีประโยชน์กับคนอื่นแค่ไหน? และจะทำเงินได้มั้ย? นี่ก็อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิด


เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมทำได้ก็เพียงแค่ยืนเชียร์อยู่ขอบสนาม ลูกชอบอะไร ก็ให้ไปลองเรียนอันนั้นอันนี้ ไม่ถนัดอะไร แต่จำเป็นต้องเรียน ผมก็บอกให้ลองเรียน ๆ ไปลูก ทุกอย่างไปเริ่มต้นตอนทำงานจริง ถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครไปควบคุมลูกแล้ว รับผิดชอบตัวเองให้ได้ก็แล้วกัน


4.

กลับมาที่หนัง 2 เรื่องที่ผมเล่าไว้ Coco กับ 3 Idiots แม้ผมจะไม่ได้เล่าตอนจบให้ฟัง คุณก็คงพอเดาได้ไม่ยากว่าสุดท้ายแล้ว..."มิเกล" กับ "ฟาห์รัน" จะได้ทำสิ่งที่ชอบหรือไม่


แต่ในชีวิตจริง ก็อีกเรื่อง กี่คนจะได้ทำในสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ชอบกลายเป็นอาชีพ อาชีพที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ด้วย มันไม่ง่ายหรอกครับ แต่ก็เพราะมันไม่ง่ายนี่แหละ...จึงมีค่ามาก

ประเด็นที่ผมจะสรุปทิ้งท้ายเอาไว้ก็คือ หากวันนี้ไม่ได้ทำงานที่ชอบ ไม่ได้เรียนสิ่งที่ใช่ เพราะถูกพ่อแม่กำหนดเส้นทางเอาไว้ หรือได้ทำงานที่ชอบแล้ว แต่ไม่เวิร์คอย่างที่คิด เราต้องเลิกโทษคนอื่น ต้องเลิกโทษพ่อแม่ เพราะสุดท้ายก็ต้องเป็นเราที่สร้างชีวิตตัวเอง


และถ้าวันนี้เรายังสร้างชีวิตได้ไม่ดี ก็ให้ตรวจสอบในสิ่งที่ผมบอกไว้ ดังนี้...


เราชอบงานนี้แล้วใช่มั้ย? ถ้าไม่ใช่ ก็เปลี่ยน อย่าทนนาน ...เราเก่งงานนี้แล้วหรือยัง? ถ้ายัง ก็ต้องฝึก อย่าขี้เกียจ ...งานนี้มีประโยชน์กับผู้คนแค่ไหน? ถ้าไม่เยอะ ก็ต้องขยายผลกระทบในทางดี ...แล้วจะทำเงินจากสิ่งนี้ได้อย่างไร?

ถ้าตอบไม่ได้ อย่าทำเป็นอาชีพ ให้ทำด้วยใจรัก ทำด้วยความเสียสละก็พอ


แต่ถ้าใครผ่านด่านเหล่านี้มาได้ เขาผู้นั้นก็จะได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวเองที่สุด และเมื่อใดที่มนุษย์ได้เป็นตัวเองแบบที่อยากเป็น เมื่อนั้นเขาจะได้พบกับอิสรภาพที่แท้จริง


5.

ว่าแต่คุณยังไม่ได้ตอบผมเลยครับ...ถ้าคุณเลือกอาชีพได้ตามใจอยาก โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น


คุณจะเลือกทำอาชีพอะไรครับ?



4,788 views0 comments

コメント


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page