1.
ถ้าจะถามผมว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง? เรื่องนี้คงต้องตอบกันยาว แต่ถ้าจะให้คั้นเนื้อ ๆ เน้น ๆ ว่าถ้าจะต้องนำประสบการณ์ชีวิตสักเรื่องไปสอนน้องๆ รุ่นหลัง คำแนะนำนั้นควรเป็นเรื่องอะไรดี? ถ้าเป็นแบบนี้ ผมขอตอบเป็นประโยคสั้นๆ ว่า “จงเลือกอาชีพให้ดี”
ผมคิดว่า “อาชีพ” นั้นแทบเป็นตัวกำหนดทุก ๆ อย่างของคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น รายได้ รูปแบบการใช้ชีวิต กรอบความคิด หรือสังคมรอบข้าง วิศวกร ทนายความ หรือนักเขียน ย่อมมีรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกัน ทั้งการแต่งตัว เวลาตื่น เวลานอน สถานที่ทำงาน และเพื่อนที่คบ
เอาแค่เรื่องมุมมองของเวลาก็ไม่เหมือนกันแล้ว ทนายความคิดค่าจ้างเป็นชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงต้องละเอียดเรื่องเวลามาก ๆ ส่วนวิศวกรดูแลโครงการที่ใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี เพราะฉะนั้นจึงเป็นคนที่มองภาพรวมเรื่องของเวลาว่าถ้าจุดไหนช้า ก็จะต้องมีจุดอื่นที่เร็วขึ้นมาทดแทน เพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายงานเสร็จทันเวลา
ส่วนนักเขียนนั้นแทบเรียกว่าเป็นบุคคลที่ไม่ค่อยยอมขึ้นกับเวลา งานของเขานั้นจะเสร็จก็ต่อเมื่อมันถึงกำหนดส่งแล้ว พี่ที่ผมรู้จักคนหนึ่งเป็นนักแต่งเนื้อเพลง เขาถึงกับตอบคำถามคนทวงงานด้วยประโยคที่ว่า
“ผมใช้ความคิดเขียนเนื้อเพลง ไม่ได้พิมพ์งานมาส่ง เพราะฉะนั้นจึงกำหนดเวลาเป๊ะ ๆ ไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร”
2.
เห็นด้วยกับผมไหมครับว่าการเลือกอาชีพนั้นเป็นตัวกำหนดเราจริง ๆ (มีส่วนน้อยที่เป็นมุมกลับกัน คือตัวตนของเราเป็นตัวกำหนดอาชีพ) อย่างน้อย 1 ใน 3 ของเวลาแต่ละวัน เราใช้หมดไปกับการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ทั้งที่อาชีพสำคัญขนาดนี้ แต่เรากลับถูกกำหนดให้เลือกอาชีพตั้งแต่อายุ 17-18 ปี นั่นคือการเลือกคณะเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราเลือกโดยไม่รู้เรื่องเลยว่าคณะนี้เรียนอะไรบ้าง เรียนจบแล้วไปทำงานอะไรได้บ้าง มีรายได้เท่าไหร่ ต้องใช้ชีวิตแบบไหน ยังไม่รวมในแง่ที่ว่าโลกนี้มีอีกหลายอาชีพที่ไม่ได้บรรจุไว้ในคณะของมหาวิทยาลัย
ยังดีที่เดี๋ยวนี้เริ่มมีหลายโรงเรียนพานักเรียนไปสัมผัสกับอาชีพต่าง ๆ ให้ได้เรียนรู้ว่างานนั้นต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ผมก็ยังมั่นใจว่าน้อง ๆ หลายคนเลือกคณะเรียนโดยไม่รู้เรื่อง เลือกตามเพื่อน เลือกตามคะแนน เลือกตามที่พ่อแม่บอกให้เลือก ...พอเข้าไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เด็กบางคนจึงไม่ค่อยตั้งใจเรียน เพราะไม่รู้จะเรียนไปทำไม มันน่าสนใจตรงไหน
ผลพวงต่อมา จึงกลายเป็นว่าเราได้บุคลากรที่ไม่ได้ "อิน" ในอาชีพนั้นจริง ๆ
3.
“Passion” (แพชชั่น) นั้นเป็นคำประหลาด เพราะอาจหมายถึงความหลงใหลปรารถนามักมาก ลุ่มหลงจนโงหัวไม่ขึ้น กิเลสตัณหาบังตา ก็ได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนทำงานศิลปะทุกคนจะรู้กันดีว่าคำนี้เป็นสิ่งที่ "ต้อง" มี ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะเป็นเพียงคนทำงานที่ใช้แรงปั้น-ปาด-วาด-แต่ง เท่านั้น แต่หามีใจรักแบบที่ภาษาปะกิดเรียกว่า Labour of Love
เพราะฉะนั้น "แพชชั่น" ในมุมนี้จึงน่าจะแปลไทยได้ว่า "ความหลงใหลในงานที่ทำ" เรียกว่าตกหลุมรักงานตรงหน้าเข้าเต็มเปา หมกมุ่นอยู่กับมันจนลืมวันเวลา สนุกอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ไม่ได้คิดว่าจะได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่กับงานที่ทำอยู่ ...ว่ากันตามตรง ถ้าจะพูดให้ถูก คนที่มีแพชชั่นไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าตรงหน้าที่ง่วนอยู่นั้นมันคืองาน เพราะคนท่ี่มีแพชชั่นไม่ได้คิดว่าเขาทำงานเลย
ชีวิตของคนทั่วไป น่าจะมีช่วงเวลาการทำงานอยู่ที่ 40 ปี ดังนั้นใครก็ตามที่มีแพชชั่น นั่นแปลว่าในขณะที่คนอื่นต้องลุกขึ้นมาเกลียดเช้าวันจันทร์เป็นเวลา 40 ปี
แต่กับคนเหล่านี้...ไม่เลย เขาเฝ้ารอเช้าวันจันทร์และเช้าของทุกวัน
4.
แต่ก่อนผมคิดว่าแพชชั่นน่าจะมีแต่ในวงการศิลปิน อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนผมอยู่แต่ในวงการนี้ เห็นคนที่ชอบเขียนหนังสือ เขาเขียนโดยไม่ได้คิดว่าจะต้องได้รับการตีพิมพ์ จะมีคนอ่านหรือไม่ เขาก็แค่ "ชอบ" เขียนเท่านั้น ฟังแล้วเป็นเหตุผลที่ไร้ประโยชน์ในโลกทุนนิยมจริง ๆ
แต่พอหูตากว้างไกลขึ้น ได้รู้จักคนในหลายวงการ ผมพบว่าวงการอื่นเขาก็มีความหลงใหลทำนองนี้ที่เรียกว่า "แพชชั่น" เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการหุ้น ที่หลงใหลการติดตามเศรษฐกิจของโลก รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคม ...ที่เขาศึกษา ไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นหน้าที่การงาน แต่เขา "ชอบ" เรื่องนี้จริง ๆ
หรือแม้กระทั่งวงการนักขาย ผมก็เห็นคนที่ชอบขาย ชอบเข้าหาผู้คนเป็นชีวิตจิตใจ ชอบเจรจา มีสัมพันธไมตรีกับคนแปลกหน้า เขาไม่ได้ทำแบบนี้เพียงเพราะมันเป็นงาน แต่เขา "ชอบ" จริง ๆ เขามีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ออกไปเจอผู้คน (แม้บางทีจะขายของไม่ได้ก็ตาม)
ผมคิดว่าถ้าโลกนี้มีคนที่รักในสิ่งที่ทำเพิ่มมากขึ้น คงไม่มีคนที่ทำงานซังกะตายไปวัน ๆ
5.
เพื่อนคนหนึ่งบอกผมว่า "อย่าเอาสิ่งที่รักมาทำเป็นงาน เพราะเราจะเบื่อ และไม่รักมันในที่สุด" ประเด็นนี้ผมว่ามีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ถ้าเลือกได้ เป็นใครก็น่าจะอยากอยู่กับคนที่ตัวเองรักไม่ใช่หรือ? เรื่องนี้จึงน่าจะอยู่ที่การหาจุดพอดีมากกว่า ว่าแค่ไหน "มากไป" แค่ไหน "น้อยไป"
ผมเคยแนะนำคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรให้ลองนึกว่า เวลาเดินเข้าห้าง เรามักไปวนเวียนอยู่กับแผนกไหนมากที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้ห้างสรรพสินค้าก็ไม่ต่างอะไรกับโลกจำลองที่มีครบทุกอย่างอยู่ในนั้น ...อย่างผมเอง ถ้าจะหาว่าผมอยู่ตรงส่วนไหนของห้าง เดาได้ไม่ยาก...ร้านหนังสือแน่นอน (ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงเป็นร้านขายซีดีเพลงด้วย)
ใครจะรู้? บางทีการเดินห้างอาจทำให้เราพบว่าฉันหลงใหลในเรื่องอะไร บางคนอาจชอบเดินแผนกเสื้อผ้า บางคนชอบแผนกเครื่องครัว บางคนชอบเดินดูของกิน
ความหลงใหลพวกนี้เปลี่ยนเป็นอาชีพได้หมดในยุคนี้ ว่ากันตั้งแต่ประกอบอาชีพนั้นเสียเลย (เช่น เปิดร้านอาหาร) ทำอาชีพนั้นให้สำเร็จแล้วสอนคนอื่นทำอาชีพนั้น (เช่น เปิดคอร์สสอนทำอาหาร) หรือจะเผยแพร่เทคนิคเคล็ดลับให้คนอื่นดูฟรี ๆ เพื่อสร้างผู้ติดตาม (เช่น เปิดช่องยูทูบสอนทำอาหารฟรี ๆ แล้วรับรายได้จากค่าโฆษณา ค่าสปอนเซอร์สนับสนุนรายการ) ...ความยากของเรื่องนี้จึงอยู่ที่เราหลงใหลเรื่องเหล่านี้จริงหรือเปล่า?
จริง ๆ แล้วทางพุทธศาสนาก็มีพูดประเด็นเรื่องแพชชั่นไว้ เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำนี้เท่านั้น แพชชั่นอยู่ในหัวข้อ "อิทธิบาท 4" อันประกอบด้วย ฉันทะ (ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น) วิริยะ (ความพากเพียรในสิ่งนั้น) จิตตะ (ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น) วิมังสา (ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น) ซึ่งเป็นธรรมะข้อที่ผมคิดว่านำไปใช้ในการทำงานได้เลย ถ้าจะเขียนอิทธิบาท 4 เป็นภาษาอังกฤษสไตล์ฮาวทู ก็น่าจะเขียนแบบนี้ 4 Steps to Success in Work : Passion+Hard Work+Focus+Evaluation
ทำงานด้วยความหลงใหล ตั้งใจทำให้เต็มที่ โฟกัสให้ดีที่เป้าหมาย และสุดท้าย ประเมินว่าเรามาไกลแค่ไหนแล้ว
6.
อย่างที่เล่าอยู่บ่อย ๆ ว่าผมเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ แต่กลับทำงานด้านศิลปะขีด ๆ เขียน ๆ อย่างการเขียนเนื้อเพลง เขียนบทรายการวิทยุและโทรทัศน์ บรรณาธิการนิตยสาร จนกระทั่งได้ออกหนังสือของตัวเอง
มองย้อนกลับไปผมพบว่า แต่ละช่วงชีวิตที่มีอาชีพแตกต่างกัน ผมก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไปตามอาชีพนั้น เมื่อครั้งยังแต่งเพลงแบบเต็มตัว ชีวิตผมลั้ลลามาก เข้าบริษัท 2 วันเพื่อไปนั่งเฮฮากัน เพราะงานทำเสร็จมาจากบ้านแล้ว โดยเนื้อเพลงนั้นอาจถูกเขียนขึ้นที่ร้านฟาสต์ฟู้ดที่ไหนสักแห่งก็ได้ รายได้ก็รับเป็นค่าลิขสิทธิ์ มากบ้างน้อยบ้าง แต่มีมาเรื่อย ๆ
พอมาทำงานวิทยุโทรทัศน์ ก็เป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ต้องแข่งกับเวลา ช้าไม่ได้ เพราะมีเวลาออกอากาศที่แน่นอน รายได้ก็คิดตามชิ้นงาน หรืออย่างงานนิตยสาร ชีวิตก็จะวุ่นตอนปิดเล่ม เกลียดเดือนที่มีวันหยุดเยอะ เพราะทำให้เราต้องรีบเร่งกว่าเดิม
ในมุมมองของผม ผมอยากสรุปสั้น ๆ ว่าถ้าเราจะเลือกงานอะไรสักอย่าง คำถามสำคัญที่เราต้องถามตัวเองให้ชัดก็คือ "ฉันอยากมีรูปแบบชีวิตแบบไหน?" ทำงานเป็นเวลาหรือไม่เป็นเวลาก็ได้? งานในออฟฟิศหรือชอบออกไปตระเวนทั่ว? ทำงานกับคนเยอะ ๆ หรือทำงานอยู่กับตัวเอง? อยากมีรายได้เดือนละเท่าไรที่คิดว่าพอดีกับเรา?
คำถามแบบนี้นี่แหละครับ ที่จะทำให้เราได้ชีวิตแบบที่ต้องการ เพราะนำการงานมารับใช้ชีวิต ไม่ใช่นำชีวิตไปรับใช้การงาน.
ชอบอ่านบทความพี่บอย และโชคดีได้ทำงานตามความหลงใหล ขอบคุณสำหรับบทความดีๆเสมอค่ะ ^^