top of page

ชีวิตจริงเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเรียนจบ

Updated: Feb 14, 2021

บทความนี้ผมเขียนไว้ในแฟนเพจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมนำมาเรียบเรียงใหม่ แล้วลงในเว็บไซต์อีกที ยิ่งได้อ่านวันนี้ ยิ่งรู้สึกว่าสถานการณ์ที่เขียน มี "ความใช่" มากขึ้นเรื่อย ๆ บรรทัดต่อไปนี้คือบทความดังกล่าวครับ


1.

บางทีผมก็คิดว่าเราให้ความสำคัญกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย "มากเกินไป" ย้ำว่ามากเกินไปนะครับ ไม่ได้หมายถึงไม่ต้องให้ความสำคัญเลย ดูเหมือนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะถูกจัดวางให้เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในชีวิต ใครสอบเข้ามหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้ ก็เหมือนกับว่าชีวิตนี้ "รอดแล้ว"


แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า? เราก็รู้อยู่ว่าคนจำนวนหนึ่งจบมาไม่มีงานทำ หรือมีงานทำ รายได้ก็แค่พอใช้เดือนชนเดือน แบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่า "รอด" แต่น่าจะเรียกว่า "ร่อแร่" มากกว่า


ผมคิดว่าเราน่าจะต้องตั้งคำถามเรื่องนี้ คำถามนั้นก็คือ...เราสอนลูกหลานให้จริงจังกับการสอบเข้า แต่ลืมสอนให้คิดถึงชีวิตหลังเรียนจบหรือเปล่า?


เมื่อก่อนเรื่องนี้อาจจะใช่ ถูกแล้ว ถ้าสอบติดมหาวิทยาลัยดัง คณะดี ก็จะมีงานดี ๆ เงินดี ๆ รออยู่ แต่นั่นเหมือนชีวิตมีคำตอบเดียว คือ


"เมื่อเรียนจบ จงเป็นลูกจ้างที่ดี"


2.

ผมไม่ได้บอกว่าการเป็นลูกจ้างไม่ดี แต่เราน่าจะบอกลูกหลานของเราด้วยว่า ชีวิตมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องใช้วุฒิมาแย่งกันสมัครงาน โลกนี้ยังมีงานอิสระอีกมากอย่าง เป็นผู้เชี่ยวชาญสักเรื่อง ขายของออนไลน์ หรือจะสร้างธุรกิจของตัวเองก็ยังได้


ประเด็นคือ อย่าถามตัวเองว่า "เรียนจบคณะนี้ ทำงานอะไรดี?" เพราะเราทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมาก็ยังได้ อันที่จริง ไม่ควรถามว่าอยากทำงานอะไรด้วยซ้ำ เพราะเราตอบไม่ได้หรอก เราไม่รู้


สิ่งที่เราควรถามตัวเองก็คือ เมื่อเรียนจบ เข้าสู่ชีวิตทำงาน ตอนนั้นฉันอยากมีชีวิตในลักษณะไหน อยากทำงานคนเดียว หรือทำเป็นทีม ชอบทำงานในห้อง หรือออกสนาม ชอบทำงานในเมือง หรือต่างจังหวัด ชอบทำงานเป็นเวลา เข้างานเลิกงานตรงเวลา หรือชอบทำงานแบบเน้นผลงานเป็นหลัก ขอให้งานเสร็จตรงเวลา ไม่ต้องมาออฟฟิศก็ได้


เรื่องพวกนี้ต่างหากที่สำคัญ แทนที่จะหยุดแค่ "ฉันสอบเข้าได้แล้ว" เราจะเริ่มมองหางานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ ยิ่งเริ่มสิ่งนี้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเวลาพิจารณา เราจะได้รู้ว่ายังขาดเหลืออะไรบ้าง แล้วเร่งฝึกฝน สร้างโอกาสให้ตัวเอง


ผมคิดว่าสิ่งที่คนวัยเรียนมหาวิทยาลัย ต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติม ก็คือ "ตอนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากวิชาที่ต้องเรียนแล้ว ฉันจะฝึกทักษะอะไรติดตัวไว้ได้อีก?"


ฝึกเล่นดนตรี ฝึกวาดรูป ฝึกลงทุนหุ้น เงินดิจิทัล ฝึกขายของออนไลน์ ฝึกขายของตลาดนัด ฝึกเขียนโปรแกรม ฝึกเป็นลูกจ้าง ฝึกพรีเซนต์งาน ฝึกภาษา ฝึกงานอีเวนต์ ฝึกเป็นนักเล่าเรื่อง ฝึกตัดต่อ ฝึกเป็นยูทูบเบอร์ ฯลฯ


ประเด็นก็คือเด็กมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังเข้าใจว่าเขามีหน้าที่เรียนเท่านั้น (และดูเหมือนพ่อแม่ก็จะบอกแบบนั้น) วันไหนเรียนเสร็จ ไม่มีเรียน แปลว่าว่าง ว่างก็แปลว่าเที่ยวเล่น ดูหนัง ฟังเพลง


ทั้งที่ช่วงวัยนี้เป็นรอยต่อของชีวิตที่สำคัญ มันไม่ใช่แค่เอาไว้กิน เที่ยว เล่น ชีวิตใช้ซะ แต่คือช่วงเวลาของการ "ก่อร่างสร้างฝัน" เพิ่มเติมทักษะ ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ล้มเหลวได้หลายครั้ง


...จนเริ่มพบทางตัวเอง


3.

คนที่นั่งโต๊ะติดกันในวิชานี้ คนที่อยู่ห้องเรียนเดียวกันในปีนี้ อีก 10-20 ปีข้างหน้า อาจมีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตวันนี้ เป็นเพราะในวัยเรียน เขาได้ทำบางอย่างมากกว่าเรียน เขาจึงมีบางอย่างที่หลายคนไม่มี และมักได้นำมาใช้ในชีวิตจริง


ในอนาคตอันใกล้นี้ (หรือปัจจุบันนี่เอง) การเรียนมหาวิทยาลัยจะเป็นแค่เรื่องทั่ว ๆ ไป ใคร ๆ ก็เรียนกัน เหมือนเป็นค่ามาตรฐาน ไม่ได้เป็นแต้มต่อให้เหนือกว่าแต่อย่างใด ใครจะรู้ว่ามันอาจสำคัญน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ความสำคัญจะไปอยู่ที่คำถามนี้ "ฉันมีทักษะอะไรบ้างที่คนอื่นไม่มี?" เป็นทักษะที่ "พร้อมใช้งาน" เมื่อเรียนจบ


การมุ่งความสำคัญไปที่ต้องสอบเข้าให้ได้ ถ้าสอบติด แปลว่าชีวิตรอดแล้ว จึงไม่ต่างอะไรกับนิทานเด็ก ๆ ที่บอกว่า "หลังจากนั้นเจ้าชายกับเจ้าหญิง ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป"


...ทั้งที่จริง ชีวิตเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น.


2,782 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page