1.
ครั้งหนึ่ง Edward Bok นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ เคยกล่าวไว้ว่า "ความจนคือประสบการณ์ที่มีค่าที่สุด
อย่างไรก็ตาม...เราควรออกจากประสบการณ์นี้ให้เร็วที่สุด"
อ่านแล้วต้องบอกว่า "จริงมาก" มันใช่เลยครับ ความจนสอนเราได้ดีมากจนต้องขอบคุณ ความจนผลักดันให้คนไม่ยอมแพ้ ต้องก้าวไปข้างหน้า...เพื่อออกจากความจน
แค่ไหนที่เรียกว่ารวย? เรื่องนี้นิยามกันลำบาก นานาจิตตัง แต่แค่ไหนที่เรียกว่าจน? ผมคิดว่าเจ้าของความจนนั้นสัมผัสและตอบได้เองว่ามันขมที่คอ รอคอยอย่างหมดหวัง ไม่อยากสบตาใคร
หลายปีก่อน ผมเคยอยู่กับมัน สนิทกันดี อาจไม่ได้ยากจนถึงขนาดไม่มีข้าวกิน แต่ก็อยู่ในช่วงวิกฤตท้อแท้กับชีวิตไม่น้อย ทำงานหนัก รับจ้างหลายอย่าง ทั้งหมดนี้เพื่อแข่งกับรายจ่าย
สมเพชตัวเองที่เห็นเพื่อน ๆ ไปได้สวย ในขณะที่ก้มมองดูตัวเอง ...ทำไมชีวิตเรามันเฮงซวยอย่างนี้?
จน...แต่บอกใครไม่ได้ หน้าที่การงานดูดี แต่ไม่มีตังค์ จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ เอาข้าวของในบ้านมาขายแลกเงิน ทำงานมาหลายปี แต่เงินเก็บสักแสนนึงก็ไม่เคยเห็น ช่วงนั้นดวงตาผมเหม่อลอย...จะไปทางไหนดี? บ่นระบายกับคนที่รู้จักกัน ก็มีแต่คนบอกว่าชีวิตก็แบบนี้แหละ รับสภาพไปเถอะ คนอย่างเรามันก็ได้เท่านี้ ...ฟังดูคล้าย ๆ ให้ยอมแพ้
แต่เมื่อถอยจนหลังชนฝา ผมจึงเหลือทางแค่ต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ว่าเก่ง...แต่แพ้ไม่ได้เท่านั้นเอง เมื่อแพ้ไม่ได้ ก็เลยไม่แพ้ ลุยมาเรื่อย ๆ อยู่หลายปี จนมาถึงวันนี้ได้แบบงง ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนะครับ ...แต่คิดว่าไม่จนอย่างแน่นอน
เมื่อมาถึงวันนี้ ผมจึงขอยืนยันด้วยเกียรติลูกเสือรุ่นใหญ่ว่า "ความจนคือประสบการณ์ที่มีคุณค่า"
2.
คำถามก็คือ "แล้วความจนสอนอะไรผม?" ตอบว่าเยอะมากครับ แต่ขอเล่าสัก 2 ข้อก็แล้วกัน
ข้อแรก : กำลังใจนั้นสำคัญมาก มาก ๆ มากที่สุด
เพราะหากใครสักคนท้อแท้ เขาก็จะไม่คิดหาทาง ปล่อยให้จนดักดานต่อไป แต่หากเขามีกำลังใจลุกขึ้นสู้ ต้องหาหนทางให้ได้ ไม่ได้ทางนี้ ก็โผล่ทางนั้น รับรองว่าแบบนี้เดี๋ยวก็ต้องเจอทางไป พี่โป่ง หินเหล็กไฟ เข้าใจเรื่องนี้ จึงเขียนและร้องออกมาเป็นเพลงว่า "หากจะต้องสูญเสีย ความหวัง...ขอให้เป็นสิ่งสุดท้าย"
ผมเข้าใจครับว่าสำหรับคนที่ท้อแท้ เขาอาจคิดได้ว่า "ในสภาพห่อเหี่ยวแบบนี้ จะไปหากำลังใจมาจากไหน?"
คำตอบก็คือ...ถ้าเอาแต่คิดแบบนั้น ชีวิตคงยิ่งดิ่งลงเรื่อย ๆ เป็นเราเท่านั้นที่ต้องดึงตัวเองขึ้นมา จะหวังให้ใครช่วยล่ะ?
วันนั้น ในวันที่ลำบาก ผมจ้องตัวเองในกระจก พูดกับตัวเองว่า "หน้าตาแบบนี้ไม่ใช่หน้าตาไอ้ขี้แพ้ หน้าตาคนรวยชัด ๆ" หลอกตัวเองหรือเปล่าไม่รู้นะครับ แต่อย่างน้อยก็รู้สึกดี (ฮา) ...กำลังใจเริ่มมา หาหนทางไปต่อ
สำหรับคนที่ต้องการกำลังใจลุกขึ้นสู้ ลองอ่านหนังสือดี ๆ ที่ไม่เคยอ่านสิครับ ลองคบคนในสังคมใหม่ ๆ ที่ไม่เคยคบ ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ลองไปที่ที่ไม่เคยไป สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนคลื่นความถี่อารมณ์ เปิดให้เรามองเห็นโอกาสใหม่ ๆ
สำคัญก็คืออย่าจมอยู่กับความคิดตัวเอง เพราะมีแต่จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เหมือนที่โบราณบอกไว้ว่า "อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด"
อย่ารอให้กำลังใจมาก่อน แล้วค่อยลงมือทำบางอย่าง แต่เราต้องลงมือทำบางอย่างก่อน ทำทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีกำลังใจ แล้วกำลังใจจะเริ่มเกิดขึ้นเอง
ข้อสอง : ลองแปลงความสามารถของเราให้เป็นทุนเพื่อเริ่มทำบางอย่าง
คนไม่มีเงินจะไปเอาทุนจากไหนล่ะ? เพราะฉะนั้นก็ต้องขายแรง ขายความสามารถไปก่อน ซึ่งจุดนี้ก็อยู่ที่บุญเก่าของแต่ละคนว่าในอดีตเคยสั่งสมความรู้อะไรมาบ้าง? เคยฝึกทักษะอะไรมาบ้าง? มีความสามารถพิเศษอะไรบ้าง? เคยทำงานแล้วทำให้ใครประทับใจบ้าง?
ของพวกนี้ถ้าในอดีตไม่เคยตั้งใจทำเก็บไว้ เช้าชามเย็นชาม ทำเท่าที่สั่ง ไม่สั่งก็ไม่ทำ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็อาจต้องใช้กรรมเก่านานหน่อย ต้องเสียเวลามานั่งฝึกฝน...ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าอาจไม่ทัน
ผมพูดเรื่องนี้อยู่เป็นประจำครับว่าความรู้และความตั้งใจนั้นให้ทำเก็บไว้เถอะ วันนึงจะต้องได้ใช้งานแน่ ๆ ไม่มีสูญเปล่า มันจะตอบแทนกลับมาให้เราอย่างสาสม
แต่ถ้าคนไหนพอมีความสามารถอยู่บ้าง ก็ต้องรู้จักแปลงความสามารถให้เป็นทุน ต้องฉลาดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ต้องรู้จักเจรจาต่อรอง โน้มน้าวใจ ต้องรู้จักมองหาโอกาส และต้องรู้จักสร้างโอกาสใหม่ให้ตนเอง
ที่สำคัญคือต้องคอยมองหาช่องทางที่จะส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมากให้ได้ เพราะรายได้ของเรานั้น จะเป็นสัดส่วนแปรผันตรงกับจำนวนผู้คนที่เราส่งผลกระทบ
ผมเองก็เริ่มเปลี่ยนชีวิตด้วยแนวทางนี้...แปลงความสามารถเป็นทุน
3.
ใครอ่านมาถึงตรงนี้ แม้วันนี้ไม่ได้ยากจน ก็ขอให้สั่งสมความรู้ ทักษะ ความคิด และความตั้งใจไว้ใช้ในวันข้างหน้า...ไม่มีใครรู้ว่าฟ้าฝนจะไม่เป็นใจวันไหน
ส่วนใครอ่านมาถึงตรงนี้ วันนี้อยากพาตัวเองออกจากความจน ก็ต้องลองมองหาความสามารถว่าเรามีมั้ย? ถ้าไม่มี หรือมี แต่ธรรมดามาก ก็ต้องยอมรับ เข้าใจ แต่อย่าท้อ ขยันหาความรู้ใหม่ ๆ ของฟรีมีในออนไลน์เยอะแยะ ไปอบรมฟรี เรียนรู้อาชีพฟรีก็มี ทำเท่าที่ทำได้ไปก่อน...อย่ารอให้พร้อม เพราะคำว่าพร้อมแล้วไม่มีจริง
วันนี้ยากจน ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าอีกห้าปีข้างหน้า ยังยากจนเท่าเดิมอยู่ ...แบบนี้ต้องมีบางอย่างไม่ถูกต้องแล้วล่ะ ซึ่งไม่ต้องไปโทษใคร เป็นเพราะตัวเราเองล้วน ๆ
ความจนจึงเป็นครูสอนผมในสองเรื่องนี้ นั่นคือ "กอบกู้กำลังใจกลับมาด้วยตัวเราเอง" และ "เปลี่ยนความสามารถให้เป็นทุน" ถือเป็นประสบการณ์ล้ำค่า ...ที่ผมจะไม่กลับไปซ้ำชั้นอีกแล้ว
ก็อย่างที่ Edward Bok นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ กล่าวไว้นั่นแหละครับ
"ความจนคือประสบการณ์ที่มีค่าที่สุด อย่างไรก็ตาม...เราควรออกจากประสบการณ์นี้ให้เร็วที่สุด"
Kommentare