1.
เป็นอิสระจากเงินนั้นไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินมากมาย ...แต่ต้องมีเงินมากพอ ซึ่ง "มากมาย" กับ "มากพอ" นั้นไม่เหมือนกัน เพราะคำว่า "มากมาย" นั้นตอบยาก และอาจทำได้ยาก แต่ "มากพอ" นั้นตอบง่ายขึ้น ทำง่ายขึ้น...ถ้าคุยกับตัวเองให้จบ
จากประสบการณ์ของผม คิดว่ามีอยู่ 3 ข้อคิดที่จะช่วยให้เราพ้นจากความกังวลเรื่องเงินได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
ข้อแรก : อย่าได้สร้างหนี้ เพียงเพราะอยากดูดี
คนจำนวนหนึ่งเป็นหนี้เพียงเพราะอยากได้รับการยอมรับจากผู้อื่นว่าฉันดูดี มีระดับ ผู้คนจงนับหน้าถือตาฉันเดี๋ยวนี้ แต่ผมบอกได้เลยว่าการทำแบบนี้ยิ่งทำให้ห่างไกลการเป็นอิสระจากเงิน ใครเคยมีหนี้จะรู้ดีว่าตอนนั้นสมองคิดอะไรไม่ค่อยออก หนี้สินเลยยิ่งพอกกันไปใหญ่
คำแนะนำแบบพื้นฐานที่สุดก็คือ ฝึกใช้เงินให้น้อยกว่าความสามารถในการใช้จ่าย 1 ระดับ เช่น จริง ๆ ซื้อรถราคาเท่านี้ได้สบายมาก ก็ซื้อแค่คันที่ถูกกว่าลงมาหน่อย พูดง่าย ๆ ก็คือ อย่าเพิ่งรีบยกระดับค่าใช้จ่ายให้ขึ้นมาเท่ากับระดับการหารายได้ ถ้าทำแบบนี้ได้ จะมีเงินเหลือแน่นอน และไม่มีหนี้ให้ปวดหัวโดยไม่จำเป็น
จำไว้เถิดว่าการไม่มีหนี้นั้น...ดูดีที่สุดแล้ว
ข้อสอง : มีความสุขกับการหาเงิน ไม่ใช่มีความสุขกับการใช้เงิน
คนจำนวนหนึ่งสนุกกับการใช้เงิน เมื่อเงินเข้ากระเป๋า สมองจะทำงานหนักทันทีว่าฉันจะใช้ซื้ออะไรดีหนอ? รองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้าใหม่ ...ไอเดียใช้เงินเต็มหัวเลย
ในขณะที่คนเป็นอิสระจากเงินได้ เขามักสนุกกับขั้นตอนการหาเงิน เขาแทบไม่ได้คิดถึงปลายทาง (หมายถึงผลตอบแทนเรื่องเงิน) แต่สนุกกับระหว่างทาง เหมือนเล่นเกมอะไรสักอย่างที่เขาอยากเอาชนะให้ได้ ซึ่งพอจิตเป็นแบบนี้เมื่อไร ส่วนใหญ่ก็ชนะทุกที
แปลกแต่จริง ยิ่งเป็นอิสระจากเงินเท่าไร เงินกลับยิ่งวิ่งเข้ามาหาเราเท่านั้น
ข้อสาม : คุยกับตัวเองให้ชัดว่า มีเงินเท่าไหร่คือ "จุดอุ่นใจ" ของเรา
คนจำนวนหนึ่งหาเงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าจุดหมายทางการเงินคืออะไร ได้มาก็ใช้ไป หมดก็แค่หาใหม่ ลึก ๆ จึงอยู่ด้วยความกังวล เพราะเดินแบบไร้ทิศทาง เห็นเขาบอกว่าต้องรวย รวย รวย ก็บ้าจี้ตามกันไป เพื่อที่จะพบว่าอยากรวยเร็วทีไร...จนเร็วทุกที
ทั้งที่จริงไม่ต้องรวยล้นฟ้า ก็เป็นอิสระจากเงินได้ คนที่เป็นอิสระจากเงินได้ ไม่ใช่เพราะรวยมาก แต่เพราะเขารู้ว่าต้องมีเท่าไหร่จึงอุ่นใจ โดยเงินจำนวนนั้นคือเท่าไร...เราต้องรู้ให้ชัด เงินที่พอให้เราอยู่ได้ แม้ไม่ทำงาน หรือจะทำงานก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องหาเงินเป็นเป้าหมายแรก
จุดอุ่นใจนั้นคืิอเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งตัวเลขของแต่ละคนไม่เท่ากัน
2.
แล้วทำอย่างไรจะสร้าง "จุดอุ่นใจ"? ตอบว่าไม่ง่ายไม่ยาก แต่ยากตรงต้องใช้เวลา และต้องลงมือเดี๋ยวนี้ คือ
1. มีเงินเก็บสำรองอย่างน้อย 1 ปี 2. ทำประกันไว้เผื่อคราวซวยของชีวิต 3. ดีกว่าเงินเก็บนิ่ง ๆ ก็คือมีกระแสเงินสดไหลเข้าทุกเดือน เป็นเงินรายได้ที่ไม่ต้องพึ่งตัวเรา (หรือพึ่งน้อยมาก) เช่น เงินปันผลจากหุ้น เก็บค่าเช่าห้อง ลิขสิทธิ์ทางปัญญา ส่วนแบ่งทางธุรกิจ
ของพวกนี้ไม่ง่าย และใช้เวลาเรียนรู้ ซึ่งพอต้องใช้เวลา ต้องใช้สมอง คนจำนวนหนึ่งจึงไม่ลงมือทำ...ได้แต่กังวลเรื่องเงินไปตลอดชีวิต
ย้ำอีกทีว่า เป็นอิสระจากเงิน ไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินมากมาย แต่แค่ต้องมีเงินมากพอ คนมีเงินน้อย หลายคนเป็นอิสระจากเงินมากกว่าคนมีเงินมากเสียอีก นี่คือเรื่องจริงที่น่าแปลก
ย้ำก่อนจบบรรทัดท้าย ๆ อีกทีว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าให้ทำตัวจน ไม่ได้ให้อยู่แบบจน ๆ ก็มีความสุขได้ แต่ให้มุ่งสู่เป้าหมายเป็นอิสระจากเงิน นั่นคือ
ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินตัว มีความสุขกับการหาเงิน และรู้จักจุดอุ่นใจทางการเงินของตัวเอง.
Comments