1.
สมมติว่าคุณทำงานประจำได้เงินเดือน 2 หมื่นบาท แล้ววันหนึ่งคุณไปรับงานนอกใช้เวลาตอนหลังเลิกงาน ทำงานประมาณหนึ่งเดือน ได้เงิน 2 หมื่นบาทเท่างานประจำ แต่ในเงื่อนไขที่ว่าเดือนนี้ยังมีงานนอกให้ทำ เดือนหน้าก็ยังพอมี แต่เดือนถัด ๆ ไป ไม่รู้จะมีอีกไหม
คำถามก็คือ ถ้าเงื่อนไขคือต้องเลือกระหว่าง "ทำงานประจำต่อไป" หรือ "ลาออกไปทำงานไม่ประจำ" เพราะทำสองอย่างไม่ไหว มันเหนื่อยมาก คุณจะเลือกอะไรครับ?
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่คงเลือกงานประจำ เพราะให้ "ความมั่นคง" เรารู้แน่ ๆ ว่าสิ้นเดือนจะได้เงิน...ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่ความไม่กล้า เงื่อนไขชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน
แต่สมมติว่าถ้าเปลี่ยนโจทย์ใหม่ เงินเดือนยัง 2 หมื่นบาทเท่าเดิม แต่คราวนี้งานนอกที่ทำหลังเลิกงาน ปรากฏว่าเงินดี สร้างรายได้ให้ถึง 4 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่รับประกันอีกนั่นแหละว่าเดือนต่อ ๆ ไป จะมีงานให้ทำอีกไหม ...ถ้าเป็นแบบนี้จะเลือกอะไรครับ ระหว่าง "ทำงานประจำต่อ" กับ "ออกไปเสี่ยงกัลงานไม่ประจำ"
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็คงยังไม่ลาออกอยู่ดี เพราะอยากได้ความมั่นคง (ซึ่งย้ำอีกทีว่าไม่ผิด)
ทีนี้ถ้าสมมติอีกล่ะ สมมตินะครับสมมติ เงินเดือนยัง 2 หมื่นบาทเท่าเดิม แต่งานนอกให้รายได้เดือนละ 8 หมื่นล่ะ?แล้วถ้างานนอกให้เดือนละ 1.6 แสนล่ะ? แล้วถ้างานนอกให้เดือนละ 3.2 แสนล่ะ?
แม้ไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะยังมีงานนอกให้ทำอยู่มั้ย คำถามคือคุณยังเลือกความมั่นคงอยู่หรือเปล่า?
...บางคนบอก ฉันลาออกตั้งแต่ได้เงินจากงานนอก 8 หมื่นบาทแล้วล่ะครับ (ฮา)
2.
สิ่งนี้บอกอะไรกับเรา? คำตอบก็คือ...มันบอกราคาที่เรายอมทิ้งความมั่นคง หรือพูดง่าย ๆ มันคือราคาที่เราจะซื้ออิสรภาพ แม้ยังไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ตรงหน้าก็ตาม
เช่น ถ้าใครสักคนยอมลาออกตอนได้รายได้จากงานนอกเดือนละ 8 หมื่นบาท ก็แปลว่าราคาความมั่นคงคือ 8 หมื่นบาท (หรือพูดอีกแบบราคาอิสรภาพคือ 8 หมื่นบาท) เราคิดว่าอย่างน้อย ๆ ก็อยู่ได้อีก 4 เดือน (เพราะเคยได้เงินเดือนประจำ 2 หมื่นบาท) ระหว่างนั้นคงขยับขยายทำอะไรได้บ้างแหละน่า
สิ่งที่ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมก่อนจะเขียนต่อไป ก็คือ ผมไม่ได้เชียร์ให้ทุกคนลาออก ถ้ามีความสุขกับงาน มีความสุขกับเพื่อนร่วมงาน ก็ทำงานประจำต่อไปเถอะครับ ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว
แต่สำหรับคนที่ไม่มีความสุขในการทำงานประจำ อยากออกมาหาอะไรใหม่ ๆ ให้ชีวิต (หรือแม้แต่รู้สึกว่างานประจำไม่มั่นคง) ก็เลยลองทำงานไม่ประจำควบคู่ไปด้วย บางคนรับงานนอกแบบเดียวกับงานประจำ เช่น รับออกแบบ รับทำการตลาด บางคนค้าขายออนไลน์ ขายของตลาดนัด บางคนเป็นตัวแทนประกัน ทำธุรกิจเครือข่าย
คำถามที่จะเกิดขึ้นในหัวของคนกลุ่มนี้บ่อย ๆ ก็คือ เมื่อไหร่กันที่ฉันควรเลือกว่า "จะอยู่หรือไป"
วิธีที่จะตอบคำถามนี้ได้ก็คือ "ต้องประเมินราคาอิสรภาพของเรา"
3.
อย่างเช่น สมมติว่าถ้าเราเลือก 8 หมื่นบาทก็ขอลาออกแล้ว นั่นแปลว่าเราให้เวลาตัวเอง 4 เดือนที่จะหางานใหม่ ๆ หาโอกาสใหม่ ๆ (เพราะมันเป็น 4 เท่าของเงินเดือนประจำ 2 หมื่น) พูดง่าย ๆ ว่าถ้ามีงานนอกทำ 1 เดือน ฉันจะอยู่ไปได้อีก 4 เดือน ระหว่างนั้นก็ยังมีเวลาหางานใหม่ ๆ ทำ (แต่จะเป็น 4 เดือนหรือ 1 ปีที่จะรู้สึกปลอดภัยแม้ไม่มีรายได้ ตัวเลขนี้ต้องตอบตัวเอง เพราะแต่ละคนมีจุดอุ่นใจไม่เท่ากัน)
ถ้าถามผม ผมคิดว่าตัวเลข "อยู่ได้ 1 ปี" เป็นเป้าหมายที่กำลังดี ดูปลอดภัย ไม่ลนลาน โดย 1 ปีที่ผมหมายถึงนั้น ไม่ได้แปลว่าต้องมีรายได้จากงานนอกมากกว่างานประจำ 12 เท่า ฉันถึงลาออกได้ เพราะนั่นอาจจะยากเกินไป
แต่เราสามารถช่วยผ่อนภาระราคาอิสรภาพของเราได้ด้วย "เงินเก็บ" ถ้ามีเงินเก็บบวกกับรายได้จากงานไม่ประจำที่พออยู่ได้อีกสัก 1 ปี เราจะรู้สึกว่าชีวิตมีทางเลือกมากขึ้น คิดหาโอกาสได้มากขึ้น
เหตุผลที่หลายคนยังทนทำงานที่ไม่ชอบอยู่ ก็เพราะใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน เป็นคนมีค่า...ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต จึงเหมือนถูกหนี้สินพันธนาการ ไม่สามารถออกไปทำอะไรใหม่ ๆ ได้
สิ่งที่ผมอยากจะบอกปิดท้ายก็คือ หากใครคิดขยับขยายออกไปสร้างรายได้ของตัวเอง แต่ตอนนี้ยังทำงานประจำอยู่ ก็ขอให้ตั้งใจทำงานประจำให้ดี อย่าให้ใครมาบอกได้ว่า "ทำงานนอก จนเสียงานใน" เราต้องเป็นมนุษย์ 200% ไปก่อน เพราะอยากได้ในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ ก็ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ
ระหว่างนั้น เก็บเงิน หารายได้เพิ่ม รายจ่ายอย่าเพิ่งเพิ่ม ทนรวยให้ได้ก่อน หากยังพอมีเวลาเหลือ ให้ศึกษาเรื่องการลงทุนไว้บ้าง ที่สำคัญต้องยอมเหนื่อยตอนแรกเพื่อมีรายได้หลายทาง เพื่อที่วันหนึ่ง อย่างน้อยจะได้มีตัวเลือกว่า "อิสระเรา...ราคาเท่าไหร่?"
พอรู้ตัวเลข มีเงินพร้อมแล้ว ก็ซื้ออิสระนั้นเสีย เพื่อออกเดินไปบนเส้นทางของตัวเอง.
Comentários