top of page

3 ขั้นตอนกำจัดอาการกลัวการขาย

Updated: Jan 25, 2021

1.

คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการขายของ ไม่ชอบถูกใครมาขายของใส่ แต่ถ้าเป็นเรื่องซื้อของล่ะก็...ได้เลย ซึ่งถ้าวันนี้คุณเป็นแบบนี้อยู่ อาจต้องปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ครับ เรามาลองวิเคราะห์กันทีละข้อ

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska จาก Pexels


ข้อแรก : ไม่ชอบขายของ จริง ๆ คุณอาจไม่ได้ไม่ชอบขายของ แต่แค่รู้สึก "ไม่ภูมิใจ" กับสิ่งที่ทำอยู่ จึงไม่เต็มร้อยในการนำเสนอให้ผู้อื่น วิธีแก้คือ ลองหาความภูมิใจนั้นให้เจอ (แน่นอน ต้องหาความภูมิใจในตัวเองให้เจอก่อน)


ข้อสอง ไม่ชอบถูกใครขายของ คุณอาจมีทัศนคติที่เลวร้ายกับการขาย ลึก ๆ อาจรู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบ คนขายกำลังหลอกเอาอะไรบางอย่างจากฉัน ยิ่งคิดแบบนี้เท่าไหร่ คุณก็ยิ่งไม่มีวันเป็นนักขายได้ เพราะคุณจะคิดว่า "การขายคือการหลอกลวงเอาเปรียบ" วิธีแก้คือ อย่าเพิ่งปกป้องตัวเองเวลาที่ถูกขาย ฟังก่อน ไม่ซื้อไม่หา เขาไม่ฆ่าหรอก หลายครั้งที่ผมถูกขาย แล้วของดีจริง ผมก็ซื้อครับ ซื้อง่ายด้วย ถ้าดีจริง ซึ่งถ้าเขาจะได้กำไรจากการขายบ้าง มันก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหนเลย


พอทำได้แบบนี้ เราจะรู้สึกดีกับการขาย แล้ววันนึงหากต้องขายสินค้าเองบ้าง เราจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ก็ของมันดี ก็ฉันภูมิใจ


เมื่อรู้สึกดีกับ "การถูกขาย" เราย่อมรู้สึกดีกับ "การขาย"


2.

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง อาจไม่จริงทั้งหมด แต่มีส่วนอยู่บ้าง ข้อสังเกตนั้นก็คือ..."คนชั้นกลาง" นั้นกลัวการขาย พวกเขาหน้าบางมาก อายเก่ง ถ้าต้องบากหน้าไปขาย..ไม่เอาดีกว่า (คนชั้นกลางในความหมายของผมคือคนมีการศึกษา พอมีฐานะ ไม่จน แต่ก็ไม่รวย ใช้ชีวิตแบบคนเมือง ส่วนใหญ่ทำงานนั่งอยู่กับโต๊ะ)


ตรงกันข้าม "คนจน" กับ "คนรวย" พวกเขาไม่กลัวการขายของ เพราะอะไร? เรามาลองวิเคราะห์ทีละข้อ


คนจนไม่กลัวการขาย เพราะกลัวแล้วจะเอาอะไรกิน? อีกอย่าง ก็ขายของกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย คนจนจึงไม่รู้สึกแปลกอะไรกับการขายของ เสียอย่างเดียว เขาเพิ่มมูลค่าของที่ขายไม่เก่ง จึงยังไม่รวยเสียที กำไรน้อย แค่พออยู่ได้ ลองนึกถึงแม่ค้าในตลาดเป็นตัวอย่าง ขายกันมาชั่วนาตาปีอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น


คนรวยไม่กลัวการขาย เพราะเข้าใจว่าธุรกิจคือการซื้อ-ขาย เพียงแต่มันไม่ใช่การนั่งขายของป๊อกแป๊กเด็กเล่น แต่คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องมียอดขาย ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่ขายของ ที่สำคัญ คนรวยภูมิใจในของที่เขาขาย ธุรกิจคือลูกรักที่ปั้นมากับมือ ทุ่มทั้งชีวิต แล้วทำไมเขาจะไม่กล้าขาย? ลองนึกถึง สตีฟ จ็อบส์ เป็นตัวอย่าง ออกสินค้าอะไรใหม่ ต้องเป็นคนขายเองกับมือ


ทั้งหมดนี้ต่างกับคนชั้นกลาง เติบโตมากับการประคบประหงม เรียนดี เรียนสูง ทั้งชีวิตไม่เคยทำมาค้าขาย งานการไม่เคยทำ มีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ต่อเมื่อเรียนจบ สมัครงาน จึงได้เริ่มทำงาน ซึ่งถ้าไม่ใช่อาชีพเซลล์ ก็น้อยคนที่จะเคยขายของ


จนมาวันหนึ่ง เกิดความจำเป็นต้องขายของ ก็รับไม่ได้ ขายไม่เป็น คล้ายต้องลดตัวลงมา มีหน้ามีตา มีตำแหน่ง จะให้มาขายได้อย่างไร

คนชั้นกลางจึงดูดี...แต่มักไม่มีตังค์

3.

นอกจากกลัวการขายแล้ว คนชั้นกลางยังกลัว "การถูกขาย" อีกด้วย ที่ตลกร้ายก็คือ เขากลัวการถูกขาย แต่กลับเก่งการซื้อ ทำนองว่า "ขายไม่เก่ง แต่ซื้อเก่ง"


ทุกประเทศต่างรู้ดีว่าเศรษฐกิจจะหมุนไป ประเทศนั้นต้องมีคนชั้นกลางเยอะ ๆ เพราะพวกเขาคือ "นักใช้เงิน" เขากลัวการขาย แต่ชอบการซื้อ และนั่นคือตัวเร่งเศรษฐกิจชั้นดี


ผมเคยวิเคราะห์เล่น ๆ ว่าทำไมคนชั้นกลางจึงกลัวการขาย? คำตอบที่พอจะนึกออกก็คือ คนชั้นกลางคิดว่า "การขายคือการขอ ช่วยซื้อหน่อย" ในขณะที่คนรวยคิดว่า "การขายคือการให้ ฉันกำลังแก้ปัญหาให้ผู้คน" ส่วนคนจนนั้นไม่ได้คิดอะไร "การขายก็คือการขาย ฉันต้องกินต้องใช้"


เมื่อคิดว่า "การขายคือการขอ" คนชั้นกลางจึงย่อมเกลียดการขาย และกลัวการถูกขายแบบเข้าไส้


สาเหตุที่เขาคิดว่า "การขายคือการขอ" มาจากอะไร? ผมไม่รู้เหมือนกัน อาจเคยถูกขอให้ช่วยซื้อ ถูกตื๊อให้อุดหนุน หรือเคยเห็นคนจนขายของ สภาพดูไม่ดี จึงคิดว่าคนภาพลักษณ์ดีอย่างฉันไม่มีทางที่จะโน้มตัวลงมาขายของ พอเห็นใครขายของ จึงเริ่มอึดอัด กลัวถูกขาย เพราะไปกระทบกับภาพลักษณ์ในใจ


ผมเองเคยกลัวการขายมาก หน้าบางระดับ 0.000001 มิลลิเมตร แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้วครับ ไม่รู้สึกผิดที่จะขายของ แถมยังรักการขาย และไม่รู้สึกว่าไปขอใครกิน

ไม่ต้องเดาก็รู้ ระหว่าง "ผมตอนที่กลัวการขาย" กับ "ผมตอนนี้" ตอนไหนฐานะดีกว่ากัน?


4.

วิธีแก้เบื้องต้นที่ผมนำเสนอสำหรับใครที่อยากปรับตัวให้ไม่กลัวการขาย มี 3 ขั้นตอนดังนี้ครับ


หนึ่ง ยกเลิกความคิดผิด ๆ ที่เชื่อว่า "การขายคือการขอ" ลองเปลี่ยนใหม่ให้เป็นประโยคนี้ "การขายมีศักดิ์ศรี ฉันกำลังแก้ปัญหาให้ผู้คน" ฉันไม่ได้ขายประกัน แต่กำลังช่วยผู้คนวางแผนชีวิต ฉันไม่ได้ขายเครื่องสำอาง แต่กำลังเพิ่มความมั่นใจให้ผู้คน "ฉันไม่ได้ขาย แต่ฉันกำลังช่วย" เข้าใจตรงกันนะครับ?


สอง "อิน" กับสิ่งที่จะขาย ถ้าแค่อยากได้เงินจากการขาย นั่นแปลว่าเรากำลังขอ แต่ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นยอดเยี่ยมมาก เราจะอยากบอกกับโลกใบนี้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่เราขายนั้นช่วยเหลือผู้คนได้ เพราะฉะนั้นคำแนะนำก็คือ หาสินค้าหรือบริการที่เรา "อิน" แล้วจะทำมาค้าขายได้ง่ายขึ้นเยอะ ไม่รู้สึกอึดอัดใจเวลาที่บอกคนอื่นว่าเราขายอะไร


สาม เปิดตาให้กว้างไกล แต่จงปิดหูไว้บ้าง อย่าฟังเสียงผู้คนให้มากนัก คนจำนวนมากบนโลกเอาแต่พูด พวกเขาแสดงความคิดเห็นกับทุกเรื่อง แต่มีไม่กี่คนที่เป็นนักลงมือทำ นักวิจารณ์กับนักลงมือนั้นมักไม่ใช่คนเดียวกัน ผู้คนส่วนใหญ่กลัวการขาย เมื่อเห็นเราขาย เขาจึงอัดอัด กลัวถูกขาย ยิ่งถ้าเกิดเราขายได้ดี เขาก็ยิ่งอึดอัด เพราะเราทำได้ แต่ทำไมเขาทำไม่ได้ ...นั่นน่ะสิ?


ทั้งหมดนี้คือ "3 ขั้นตอนกำจัดอาการกลัวการขาย" สำหรับคนที่อยากขุดค้นศักยภาพในตนเอง จงฝึกการขายเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะโลกนี้หมุนไปได้ด้วยการซื้อ-ขาย ถ้าจะมีหนึ่งทักษะที่ควรติดตั้งไว้ให้ตัวเอง ผมคิดว่าทักษะนั้นคือ "ทักษะการขาย"


หวังว่าข้อเขียนนี้จะทำให้คุณซื้อไอเดียของผมนะครับ.


9,113 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page