top of page

ความแก่ การงาน ชีวิต และความตาย

Updated: Jul 3, 2021

1.

ตามนิยามของสหประชาชาติ เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของคนทั้งประเทศ เมื่อนั้นประเทศนั้นจะเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ"

ภาพถ่ายโดย Nubia Navarro (nubikini) จาก Pexels

สิ่งที่เราหลายคนไม่เคยรู้ก็คือ เมืองไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมา 10 กว่าปีแล้ว และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2567 หรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้า เรื่องที่ผมสนใจและเฝ้าติดตามก็คือ ...เมื่อถึงวันนั้นสังคมจะเป็นอย่างไร? ไม่ใช่เป็นห่วงคนที่จะอายุ 60 ปีใน 10 ปีข้างหน้า เพราะพวกเขาน่าจะเอาตัวรอด แต่เป็นห่วงคนที่จะอายุ 60 ปีในอีก 20-30 ปีข้างหน้าและต่อ ๆ ไป ซึ่งก็คือคนที่วันนี้อายุน้อยกว่า 40 ปีลงมา

ถามว่าทำไม? คำตอบก็เพราะเราถูกภาพของคนแก่ในยุคนี้ลวงตา เราเห็นภาพคนแก่นั่งเล่นอยู่หน้าบ้าน เลี้ยงหลานอยู่บ้าน รวมกลุ่มกันออกกำลังกาย ไปทำบุญทำทาน หรือไม่ก็ช้อปปิ้ง ออกเดินทางท่องเที่ยว เพราะเป็นวัยที่ "ว่าง" และ "มีตังค์"

แล้วเราก็นึกว่าฉันจะเป็นแบบนี้บ้างตอนแก่ โดยลืมนึกไปว่าคนยุคนี้ต่างกับคนยุคก่อนมากมาย

2.

คนยุคก่อน มีลูกเยอะแยะ คงต้องมีพึ่งพาได้สักคนยามแก่ คนแก่ยุคก่อน มีกิจการของตัวเอง ทำสืบทอดกันมา แก่แล้วก็มีคนรับช่วงต่อ คนแก่ยุคก่อน มีที่อยู่ มีที่ทำกินของตัวเอง บางวันแทบไม่ได้ใช้เงินเลย บางคนมีบำเหน็จบำนาญ มีกินใช้ยาวตลอดชีวิต

ในขณะที่คนยุคนี้ ไม่นิยมการมีลูก เพราะบอกว่าเป็นภาระ มีลูกหนึ่งคนจนไป 7 ปี คนยุคนี้ ไม่มีกิจการของตัวเอง เดี๋ยวนี้คนส่วนมากเป็นลูกจ้าง คนยุคนี้ ไม่มีที่อยู่เป็นของตัวเอง ไม่มีที่ดิน ไม่มีที่ทำกินของตัวเอง และคนยุคนี้ ไม่มีบำเหน็จบำนาญ และกองทุนที่เราหวังว่าจะเลี้ยงเรา...ก็กำลังจะล่มจมเพราะแพ้ภัยตัวเอง


สรุปก็คือเราลืมนึกไปว่า สังคมแบบที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ตอนนี้ สังคมกินเที่ยวใช้ชีวิต อย่าคิดอะไรมาก สังคมแบบนี้เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานนี่เอง ...เรายังไม่มีคนแก่จากยุคนี้ให้ดูเป็นตัวอย่าง คนแก่แบบที่ไม่มีลูกหลาน ไม่มีญาติสนิท ไม่มีธุรกิจ ไม่มีที่อยู่ของตัวเอง ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินลงทุน ไม่ชอบทำประกัน ...ไม่อะไรทั้งสิ้น


อีก 20-30 ปีข้างหน้า (หรือเร็วกว่านั้น) คำตอบของเรื่องนี้คงเผยให้เห็น คำถามคือเราแต่ละคนจะจัดการกับตัวเองอย่างไร? เพราะไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร ถ้ายังไม่ตายเสียก่อน วันที่เราอายุ 60 ปี ต้องมาถึงแน่นอน วันที่หมดแรง ทำงานไม่ไหว ...วันนั้นต้องมาถึงแน่นอน


เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรในวันนี้? ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ นอกจากเราต้องทำบางอย่างตั้งแต่วันนี้เลย จะมากน้อยอย่างไร เราต้องทำ ต้องเตรียมตัว เก็บเงินไว้บ้าง ศึกษาการลงทุนบ้าง


ที่สำคัญ ดูแลสุขภาพทั้งกายใจให้แข็งแรง กิน หลับ ขยับตัว ต้องหมั่นดูแลให้ดี


3.

ทุกครั้งที่เห็นคนที่มี Passion ในการทำงาน ผมจะรู้สึกตื้นตันใจทุกครั้ง อาจเพราะรู้สึกเหมือนเจอคนพวกเดียวกัน คนจำพวกที่ "งาน" และ "การพักผ่อน" คือเรื่องเดียวกัน คนที่ไม่มีเส้นแบ่งเวลาระหว่างวันทำงานกับวันเสาร์อาทิตย์ คนที่ไม่รู้จักคำว่า "เลิกงานแล้ว ไปพักผ่อนกันดีกว่า"...และลึก ๆ ผมเชื่อว่าคนที่มีความสุขกับการทำงาน มีความสบายใจ สุขภาพร่างกายจะแข็งแรงตามไปด้วย พูดง่าย ๆ ว่า ต่อให้อายุมาก ก็ยังแข็งแรง กระฉับกระเฉงกว่าคนในวัยเดียวกัน

นานมาแล้ว ผมเคยดูรายการสัมภาษณ์ "อาจารย์บรูซ แกสตัน" ฝรั่งนักดนตรีหัวใจไทยเต็มร้อยที่คนในวงการนับถือ อาจารย์บรูซถูกถามว่า "สมัยเป็นวัยรุ่น อาจารย์เล่นดนตรีแนวไหนเพื่อผ่อนคลาย ได้เล่นเพลงตามสมัยนิยมของยุคนั้นบ้างหรือเปล่า?" อาจารย์บรูซตอบว่า "ผมเล่นดนตรีคลาสสิก ผมเล่นเปียโน"

พิธีกรถามย้ำอีกทีว่า "ผมหมายถึงดนตรีที่อาจารย์เล่นกับเพื่อนเล่น ๆ เล่นเพื่อพักผ่อนน่ะครับ อาจารย์เล่นดนตรีคลาสสิกเพื่อพักผ่อนเลยเหรอครับ?"

คุณปู่ฝรั่งวัย 70 กว่าปีอย่างอาจารย์บรูซ ตอบด้วยน้ำเสียงธรรมดา ๆ แต่ทำเอาผมประทับใจไปอีกนานแสนนาน เขาตอบว่าแบบนี้ครับ "ผมไม่เคยเล่นดนตรีเพื่อพักผ่อนเลย มีแต่จะต้องเอาเป็นอาชีพให้ได้ ผมตั้งใจแบบนี้มาตั้งแต่เล็ก ๆ ว่าจะต้องขึ้นแสดงบนเวที ความเพลิดเพลินหรือการพักผ่อนของผมมันอยู่ในการซ้อมดนตรีอยู่แล้ว คำว่า 'สมัครเล่น' จึงไม่ใช่คำที่ผมสนใจเลย"


โอโห ผมฟังแล้วต้องลุกขึ้นยืนทำความเคารพ โลกนี้จะดีแค่ไหน ถ้ามีคนรักในอาชีพแบบนี้เยอะ ๆ


คนที่เกิดมาแล้วรู้ว่าฉันต้องเป็นสิ่งนี้ให้ได้ ฉันต้องทำมันให้ดีให้ได้


4.

เขียนถึงเรื่องนี้แล้ว ผมรู้สึกเศร้าใจทุกครั้ง ที่เห็นคนที่ไม่รักในอาชีพ แต่เข้ามาทำให้อาชีพนั้นต้องแปดเปื้อน ทำงานนั้นอย่างไม่มีใจจะทำให้ดี บ้างเพราะไม่มีงานอื่น จึงต้องทำงานนี้ บ้างเพราะไม่มีความเป็นมืออาชีพ หรือบ้างเพราะเห็นแก่ได้มากเกินไป

ใครบ้างล่ะ? คนขายน้ำเต้าหู้ในตลาดที่ทำน้ำเต้าหูเจือจางสุด ๆ ราวกับน้ำเปล่า แม่ค้าร้านอาหารที่ไม่รู้ว่าเคยได้ชิมอาหารของตัวเองหรือเปล่า ข้าราชการเช้าชามเย็นชาม ตั้งวงกินเหล้าตั้งแต่เที่ยง พนักงานบริษัทที่ทำงานแบบขอไปที มาสาย พักเที่ยงนาน กลับบ้านไว ...และอีกมากมายสาธยายไม่หมด


ในรายการที่ผมดู ถึงอาจารย์บรูซจะดูชรามากแล้ว แต่พลังของท่านยังล้นเหลือ ยังมีโปรเจ็คท์ใหม่ ๆ ในหัวที่อยากทำอีกมาก ผมรู้สึกได้ถึงพลังบางอย่าง ...ไม่ใช่วิญญาณครับ แต่มันคือ Passion หรือความหลงใหลในงาน อยากจะอยู่กับมันไปทั้งชีวิต


ผมไม่รู้นะครับว่าในยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็ใฝ่หาอิสรภาพทางการเงิน อยากมี Passive Income เพื่อที่จะได้ "ไม่ต้องทำงาน" ไอ้การมาเขียนเรื่อง "Passion ในการทำงาน" มันจะเป็นเรื่องตกยุคสมัยไปแล้วหรือเปล่า แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ยังเชื่อว่า ต้องมีสิ คนที่รักในงานที่ทำ คนที่ไม่ได้เห็นอาชีพเป็นเพียงเครื่องมือหารายได้


แต่เห็นถึงคำว่า "ชีพ" ในคำว่า "อาชีพ" ชีพซึ่งมีความหมายว่า "ชีวิต"


5.

เอาเข้าจริงหรือกระแส slow life ที่ฮิตกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันกำลังจะบอกเราว่า ...สุดท้ายคนเราก็แค่อยากได้ชีวิตธรรมดา ๆ

ทุกวันนี้ผมก็ยังขับรถคันเก่า อยู่หมู่บ้านชานเมือง ชีวิตส่วนใหญ่ก็นั่งทำงานอยู่บ้าน แต่กลับรู้สึกลงตัว โอเคกับชีวิตมาก ไม่รู้สึกขาด ไม่รู้สึกด้อยกว่าใคร ไม่ได้ฝันใหญ่ไขว่คว้า ไม่รวยมาก แต่ก็พอกินพอใช้ มีเงินเก็บ มีเงินประกัน มีเงินลงทุน แน่นอน ...กว่าจะได้แบบนี้ ผมต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อให้ได้ชีวิตที่แสนธรรมดานี้

นึกถึงสมัยเมื่อก่อน ตอนทำงานประจำ ผมขับรถไปกลับวันละ 80 กิโลเมตร รถติดทั้งขาไปและกลับ จนผมกลายเป็นโรคกลัวรถติดไปเลย


ทำไมเราถึงไปแย่งกันใช้ชีวิตแบบนั้น? หลายคนตอบว่าเพราะไม่มีทางเลือก จึงต้องทนทำไป ...ซึ่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิด เพียงแต่เกือบทุกคนก็ไม่มีทางเลือกทั้งนั้น อยู่ที่ใครจะกล้าขยับปรับเปลี่ยนชีวิตมากกว่า


นอกจากเหตุผลว่าเพราะชีวิตไม่มีทาง ยังมีอีกเหตุผลที่เราไปแก่งแย่งกันในเมือง นั่นคืออาจเพราะบางคนฝันใหญ่ ไปลอกฝันคนอื่นมา พยายามหารถหรูมาครอบครอง มีบ้านหลังใหญ่ไว้โชว์ เพื่อที่จะพบว่าสุดท้ายฉันต้องการแค่ชีวิตธรรมดา ๆ อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตาเท่านั้นเอง ...แต่มัวไปอ้อมเสียตั้งไกล ก็เลยเหนื่อย

ชีวิตธรรมดายุคนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเราผิดเพี้ยนกันไปหมด ใช้ชีวิตเหน็ดเหนื่อยเพื่ออยากได้ชีวิตธรรมดา ๆ ใช้ชีวิตเร่งรีบเพื่ออยากมีชีวิตเชื่องช้า

ทั้งที่จริงไม่ใช่ชีวิตหรูหราหรอกที่เราอยากได้ แต่คือชีวิตธรรมดา ๆ ที่เราปรารถนาอย่างแท้จริง


6.

สมัยนี้ หากใครสักคนจากโลกนี้ไป เราจะได้เห็นคำอาลัยจากหลายคนเขียนถึงผู้ลาโลก ผ่านช่องทางออนไลน์ หลายคนเขียนถึงเหตุการณ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยร่วมงานกัน หรือไม่ก็ในมุมที่เคยกอดคอ หัวเราะ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา หรือไม่ก็มีบุญคุณต่อกัน จึงอยากกล่าวถึงเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้จากไป

เรื่องนี้ทำให้ผมถามตัวเองว่า "แล้วถ้าเป็นเราล่ะ ถ้าเป็นเราที่ต้องตายจากโลกนี้ไป ผู้คนจะพูดถึงฉันว่าอย่างไรนะ ในวันที่ฉันไม่อยู่แล้ว?" เสียดาย เสียใจ สรรเสริญ ระลึก ชื่นชม เป็นตำนาน หรือเฉย ๆ ไม่เสียใจ ไม่มีความทรงจำให้รำลึก ไม่กี่วันก็ลืม หรือจะถึงขั้นสาปส่ง ไปเสียได้ก็ดี ...แบบไหนกันที่ผู้คนจะเขียนถึง ในวันที่เราตายไปแล้ว?

ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ เพราะผู้คนจะนึกถึงเราแบบไหนในวันที่เราตายไปแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนมีชีวิตอยู่ "เราได้ทำอะไรไว้บ้าง"


เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพี่ที่น่ารัก เป็นคนที่รู้จักให้ หรือไม่โดดเด่น ไม่เป็นที่ปรากฏ ไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้จดจำ หรือเป็นคนที่ฉวยโอกาส เอาตัวรอดคนเดียว ไม่เคยแบ่งปันใคร ...คนแบบไหนกันที่เราจะเป็น? ตอนที่ยังมีลมหายใจ เพื่อให้เป็นคนที่ผู้คนจะกล่าวถึง ตอนสิ้นลมหายใจ ผมคิดว่าคำถามนี้ดี เพราะมัน "ขัดเกลา" ให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น

เราไม่มีวันรู้หรอกว่าช่วงเวลาไหนที่ใช้ร่วมกัน จะกลายเป็นความทรงจำที่ผู้คนนึกถึงตอนเราตายไปแล้ว จึงทำได้เพียงใช้ช่วงเวลาทุกขณะให้เต็มที่ ให้ดีที่สุด โลกหลังความตาย เราเก็บความทรงจำไปได้หรือเปล่า ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเราทำดีต่อกัน


...อย่างน้อย ๆ คนที่ยังอยู่ ก็จะได้มีความทรงจำดี ๆ เก็บไว้ระลึกถึงเรา.


2,334 views0 comments
Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page