top of page

เพราะชีวิตมีสิบปี...แค่เจ็ดครั้ง

Updated: Mar 7, 2021

1.

หนึ่งในประโยคยอดฮิตของ สตีฟ จ็อบส์ ที่หลายคนมักอ้างถึงบ่อย ๆ ก็คือ “You can't connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards.”


แปลแบบผมก็คือ "เราไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ทำอยู่วันนี้ มันจะเกี่ยวข้องอะไรกับอนาคตข้างหน้า ต่อเมื่อผ่านมันมาแล้ว มองย้อนกลับไป เราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไว้ในอดีตนั้น มีประโยชน์บางอย่างในวันนี้"


ภาพโดย César Gaviria จาก Pexels

...ส่วนตัวผมเห็นด้วยมาก ๆ กับประโยคข้างต้น ไม่มีอะไรที่เราทำในวันนี้ที่ไร้ประโยชน์ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายมันจะตอบแทนบางอย่างให้กับเรา อย่างผมเอง การไม่มีเพื่อนเล่นแถวบ้านในวัยเด็ก แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบในเวลานั้น แต่มันก็ทำให้ผมได้อยู่กับหนังสือ ได้อ่านหนังสือทั้งวัน และในเวลาต่อมาก็กลายเป็นคนที่พอจะมีความสามารถทางตัวอักษรอยู่บ้าง


เมื่อก่อน ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าผมจะเรียนวิศวะไปทำไม ในเมื่อชอบดนตรี ตอนนั้นผมไม่มีความสุขในการเรียนเลย แต่ในเวลาต่อมา ผมก็พบว่าการเรียนวิศวะทำให้คิดเป็นระบบและมองภาพรวมได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อวิธีการทำงานของผมในปัจจุบัน


นานมาแล้ว ผมเหนื่อยล้ากับการทำธุรกิจเครือข่ายอยู่ถึง 3 ปี ในที่สุดก็หยุด เลิกทำ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเสียเวลาเปล่า แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่า มันได้มอบความสามารถในการขายและการพูดหน้าชุมชนให้กับผม ผมไม่มีทางเป็นอย่างในทุกวันนี้ ถ้าไม่เคยผ่านโรงเรียนธุรกิจเครือข่ายมาก่อน


...บางทีชีวิตก็ลากเราอ้อมไปอ้อมมา หลงไปในป่า โดนใบไม้บาดเลือดซิบเสียก่อน เพื่อที่จะให้เราได้พบกับแม่น้ำใสสะอาดชื่นใจที่รออยู่ปลายทาง


จักรวาลนี้มีแผนที่ชัดเจนไว้แล้ว ขอเพียงเชื่อว่าชีวิตจะไปสู่วันพรุ่งนี้...ที่ดีกว่าเดิม


2.

ไม่ได้เขียนแบบคนโลกสวย ไม่ได้เขียนเพื่อปลอบใจใครที่กำลังสับสนกับชีวิต กำลังรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ผิดพลาด หรือพ่ายแพ้ แต่มันคือ "เรื่องจริง" ที่หลายครั้งเราจำเป็นต้องเดินหลงทาง ก่อนจะได้เจอกับ "สิ่งที่ดีกว่า"


หลายครั้งเราจำเป็นต้องล้ม เพื่อให้ได้บทเรียนบางอย่าง หลายครั้งเราจำเป็นต้องผิดพลาด เพื่อจะได้ค้นพบวิธีที่ถูกต้อง และหลายครั้งเราจำเป็นต้องพ่ายแพ้ เพื่อจะได้รู้จักรสชาติของมัน...ว่าขมแค่ไหน


ผมพูดได้เลยว่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า "คนที่เคยหลงทาง ล้มเหลว ผิดพลาด พ่ายแพ้...มากครั้งกว่าคนอื่น" เท่านั้นเอง


ใครที่ได้ความสำเร็จมาโดยไม่เคยล้มเหลวมาก่อน ก็ยากที่จะรักษาความสำเร็จนั้นไว้ได้นาน และเมื่อสูญเสียมันไป

ก็ไม่ต่างกับสามล้อถูกหวยที่เงินหมดแล้ว ...ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้กลับมารวยได้อีกครั้ง


ทุกอย่างที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ มันกำลังสอนบางอย่างเสมอ ทุกวันนี้ผมขอบคุณความล้มเหลวเท่าๆ กับความสำเร็จ แต่ก็ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าวันที่กำลังเจอความล้มเหลว มันเจ็บ เจ็บมาก แต่พอผ่านมาได้แล้ว จะเข้าใจว่า ที่แท้เราต้องไป "เจ็บมาก่อน" จึงจะ "คู่ควร" กับความสำเร็จ


ความสำเร็จยืนรอจับมือเรา อยู่หลังกำแพงอุปสรรคนั่นเอง


3.

ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียนก็คือ เรามักจะสอนนักเรียนว่า "ห้ามทำผิดพลาด" ในความคิดผม สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมากับการไม่กล้าลองผิดลองถูก ไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ เพราะเข้าใจว่าการทำผิดพลาดคือเรื่องไม่ดี ห้ามทำเด็ดขาด


ในขณะที่ชีวิตจริง การทำผิดพลาดคือวิธีการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง และความผิดพลาดก็สอนเราได้มากพอ ๆ กับความสำเร็จ คนเรียนเก่งหลายคนจึงมักตกม้าตาย ณ จุดนี้ เพราะกรอบความคิดของเขานั้น บอกกับเขาว่า "สิ่งที่ฉันจะทำ มันต้องถูก มันต้องใช่เท่านั้น ถ้าดูแล้วเสี่ยงว่าจะล้มเหลว หน้าแตก ผิดพลาด ฉันจะไม่ทำ" เราจึงไม่ค่อยได้เห็นคนเรียนเก่งเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กลับได้เห็นเด็กเรียนไม่เก่ง เรียนจบไม่สูง หรือเรียนไม่จบ กลายเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โต


เซียนหุ้นคนไหนไม่เคยขาดทุนมาก่อน? นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่คนไหนไม่เคยเจ๊ง? ยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์ แต่หลายคนไม่เข้าใจจุดนี้ จึงกลัวเกินกว่าเหตุ


คนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย ควรลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปลองพลาด ไปลองล้ม ไปลองเจ๊ง (ในขอบเขตที่รับได้) แล้วจะได้อะไรกลับมามากมาย เพราะเส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิตจริงนั้น มันไม่ใช่ถูก ถูก และถูกเท่านั้น ...แบบนั้นผิดแล้วครับ


...มันต้อง ผิด ผิด ผิด ผิด ผิดแล้วผิดอีก จึงจะค่อยถูกต่างหาก


4.

ถ้ารีเซ็ตเงินของทุกคนบนโลกนี้ โดยนำเงินมารวมกันเป็นกองกลางจากคนทั้งโลก จากนั้นหารแบ่งให้ทุกคนได้เงินจำนวนเท่ากัน คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผ่านไปไม่นาน คนที่เคยมีเงินมาก จะกลับมามีเงินมากอีกครั้ง คนที่เคยมีเงินน้อย จะกลับมามีเงินน้อยอีกครั้ง


ทำไมหนอทำไม? เพราะเส้นสาย เพราะขี้โกง เพราะอะไร? ไม่ยุติธรรมเลย ทำไมฉันต้องกลับมามีเงินเท่าเดิมด้วย?


ไม่ใช่เหตุผลข้างบนเลยครับ แต่คำตอบก็คือ เหตุผลที่คนมีมาก จะมีมากอีกครั้ง คนมีน้อย จะมีน้อยอีกครั้ง เพราะเงินนั้น "ตอบแทนตามความสามารถ" ของคนคนนั้น เงินเหมือนสโลแกนโฆษณาเก่าชิ้นหนึ่งที่บอกว่า "คุณค่าที่คุณคู่ควร" เงินจะอยู่กับคนที่คู่ควรเท่านั้น ถ้าวันนี้เรามีรายได้หลักหมื่น ก็เพราะเราคู่ควรกับเงินจำนวนนั้น ถ้าวันนี้เราอยากมีรายได้หลักแสนหลักล้าน เราก็ต้องมีความสามารถที่คู่ควรกับเงินจำนวนนั้น


บางคนถาม "อยากมีรายได้เพิ่ม ทำอย่างไรดี?" คำถามนี้ไม่มีคำตอบอื่นเลยนอกจาก "พัฒนาตัวเองให้คู่ควรกับเงินจำนวนนั้น" ก่อนจะบ่นว่า "ทำงานมาสิบปี ทำไมรายได้ไม่ค่อยเพิ่มเลย?" บางทีเราอาจต้องถามตัวเองก่อนว่า "แล้วสิบปีที่ว่านั้น ความสามารถเราเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่? หรือเก่งเท่าเก่า? หรือล้าหลังสู้รุ่นใหม่ไม่ได้?"


บางคนบอก "แต่ฉันมีประสบการณ์การทำงานสิบปีเชียวนะ" ...อันนี้ผมว่าเราน่าจะดูดี ๆ อีกครั้ง เพราะบางทีอาจเป็นประสบการณ์ปีเดียวที่เราตั้งใจเรียนรู้ จากนั้นอีก 9 ปีที่เหลือ ก็แค่ใช้ความสามารถของปีแรก มาทำซ้ำ ๆ เพราะหยุดพัฒนาตัวเองไปตั้งนานแล้ว



อยากมีรายได้เพิ่ม จึงไม่ใช่การเดินไปหาเจ้านายเพื่อขอขึ้นเงินเดือน แต่คือการเดินไปบอกกับคนในกระจกว่า

"เฮ้ย! พัฒนาตัวเองได้แล้ว" ...และเอาจริง ๆ เรื่องเงินเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ ในชีวิต ล้วนใช้วิธีคิดเดียวกัน


ถ้าเหตุถูกต้อง ผลย่อมถูกตาม ...เรื่องก็มีเท่านี้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้เลย


5.

ครั้งหนึ่ง โกวเล้ง เขียนประโยคไว้ในนิยายของเขาว่า "ชีวิตคนเราจะมีสิบปีสักกี่ครั้งกัน" ผมชอบประโยคนี้มาก มันชวนให้เราคิดถึงเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป


ถ้าคนเราอายุเฉลี่ยเจ็ดสิบปี เราก็มีสิบปีแค่เจ็ดครั้ง สิบปีแรก หมดไปกับความไร้เดียงสา สิบปีต่อมา หมดไปกับการศึกษาเล่าเรียน สิบปีต่อมา หมดไปกับการทำงานและการใช้ชีวิต สิบปีต่อมา หมดไปกับการสร้างฐานะ สร้างครอบครัว สิบปีต่อมา หมดไปกับการลงหลักปักฐาน รักษาสิ่งที่สร้างมา สิบปีต่อมา หมดไปกับการดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรง ...สิบปีสุดท้าย หมดไปกับการปล่อยวาง รอการกลับบ้าน


แต่ละสิบปีผ่านไปไวเหมือนโกหก มีอะไรที่เราทำไปแล้วมากมาย และก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่ได้ทำ


เวลาคือหน่วยเงินในกำมือของเราที่เอาไปแลกสิ่งอื่น เราเอาเวลาไปแลกงาน เราเอางานไปแลกเงิน แต่เราก็ไม่เคยเอาเงินไปแลกเวลาคืนกลับมาได้สักที ถ้าธนาคารเวลามีอยู่จริง เราก็ไม่เคยมีสมุดบัญชีสักเล่ม ที่จะดูได้ว่าตอนนี้เราเหลือเวลาอยู่เท่าไหร่? เรารู้ว่าใช้ "สิบปี" ของเราไปกี่ครั้งแล้ว แต่ไม่อาจรู้ว่าเราจะใช้ "สิบปี" ที่เหลือของเราได้ครบหรือไม่?


แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับเราใช้เวลาสิบปีของเราคุ้มค่าหรือเปล่า? เมื่อหันหลังกลับมา ขอให้พูดได้เต็มปากว่าเราใช้มันไปอย่างไม่น่าเสียดาย


"ชีวิตคนเราจะมีสิบปีสักกี่ครั้งกัน" ...ใช้ "สิบปี เจ็ดครั้ง" ของเราให้คุ้มค่าครับ


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบางส่วนของหนังสือ "อิสระเรา ราคาเท่าไหร่" สั่งซื้อได้ ที่นี่

15,302 views0 comments

Комментарии


Home: Blog
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.23.png
Screen Shot 2561-12-19 at 01.56.34.png

กรอกข้อมูล รับฟรี! ebook บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด

bottom of page