1.
เรากำลังอยู่ในยุคที่กูรูเต็มบ้านเต็มเมือง จนเกิดอาการ "กรูงง" ...บางคนเรียนมาก เรียนทุกอย่าง ฉันกำลังเรียนนู่นนั่นนี่อยู่ตลอดเวลา ภาษาอังกฤษเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Seminar Junkie แปลว่า "ผู้เสพติดสัมมนา" การเรียนไม่ใช่ไม่ดี ดีแน่นอนครับ แต่อะไรที่มากไป ย่อมไม่ดี บางคนเรียนจนลมปราณแตกซ่าน เคล็ดวิชาไหมฟ้าตีกัน ไม่รู้จะเชื่อกูรูไหนดี งงไปหมด
นอกจากอาการ "งงไปหมด" ยังตามมาด้วยอาการ "เงินไปหมด" เนื่องจากจ่ายค่าเรียนหนักมาก เพราะกลัวเพื่อนบอกว่าไม่รู้จักลงทุนในตัวเอง วิธีแก้ คือ หยุดเรียนบ้างก็ได้ เราไม่ต้องรู้ทุกเรื่องหรอก ให้นำสิ่งที่เคยไปเรียนมา เอามาลงมือทำสักอย่าง ไปให้มันสุดสักทาง เชื่อตำราสักเล่ม เชื่อคนสอนสักคน ถ้าทำแล้วไม่ถูกจริต ก็ลองอีกตำรา ก็เปลี่ยนคนสอน แต่อย่าลองพร้อมกัน 10 ตำรา 10 กูรู ...สำคัญคือ จงลงมือทำในสิ่งที่เรียนมา
ไม่ใช่อยู่ใน "พื้นที่ปลอบใจ" ว่า อย่างน้อยฉันก็ตั้งใจกับชีวิตด้วยการมาเรียนแล้วนะ จะเอาอะไรกับฉันอีก?
2.
ส่วนตัวผมคิดว่า การเรียนรู้ให้ได้ผลนั้นมีอยู่ 2 กฏ
กฎข้อแรก "กฎ 1 สิ่ง" เวลาเข้าสัมมนาเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่จำเป็นต้องจดเป็นเลคเชอร์เตรียมสอบ เพราะถึงจด ก็ไม่ได้อ่านทบทวน เพราะมันไม่มีสอบ เพราะฉะนั้นขอให้ถามตัวเองว่า "หนึ่งสิ่ง" ที่ฉันเรียนรู้และจะเก็บกลับไปจากสัมมนาครั้งนี้คืออะไร? วิธีนี้จะทำให้เราตั้งใจจับประเด็นให้ได้ ไม่ใช่ฟังและจดไปเรื่อย เพื่อหวังว่าจะได้กลับไปอ่านทบทวนอีกที ...มันอาจจะเป็นแค่ประโยคเดียวก็ยังได้ แต่จุดประกายความคิดบางอย่างให้เรา เท่านั้นก็พอแล้ว
กฎข้อสอง "กฎ 72 ชั่วโมง" กฎนี้มีอยู่ว่า ถ้าเรียนจบแล้วไม่นำไปลงมือทำภายใน 72 ชั่วโมง เวทย์มนต์นั้นจะเสื่อมสลายหายไป สิ่งที่เรียนไปจะไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ตื่นเต้นกับสิ่งที่เรียนอีกต่อไป ดังนั้น ถ้าเรียนเขียนหนังสือ อย่างน้อยขอให้กลับไปเขียนอะไรบางอย่าง ถ้าเรียนหุ้น อย่างน้อยต้องเปิดพอร์ต ลองเล่นจริง ถ้าเรียนลงทุนคอนโด อย่างน้อยต้องออกสำรวจพื้นที่หาคอนโด
รู้ แต่ไม่ลงมือทำ ...มันก็คือไม่รู้นั่นแหละ
3.
ลงมือทำ" คือสิ่งที่แยกคนสำเร็จออกจากคนทั่วไป "ลงมือทำ" ไม่ได้รับประกันว่าจะสำเร็จ แต่อย่างน้อยเราก็จะก้าวหน้าไปจากจุดเดิม คนส่วนใหญ่ทำอะไรบ้าง? มีความฝัน ก็อยากทำอยู่ ...แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้แต่แค่วนเวียนอยู่ในหัว ไม่เคยเป็นจริงสักเรื่อง ไม่กล้าทำ ทำไม่เป็น ไม่รู้จะเริ่มยังไง ยังไม่พร้อม ...มหาศาลข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองยังอยู่ที่เดิม
ผมเชื่อว่าเราอาจเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้จากใครบางคนว่า "โอ๊ย! ฉันอยากแต่งเพลงเป็นจังเลย" "เฮ้อ! ฉันมีความฝันอยากเปิดร้านกาแฟจัง" "แหม! ฉันอยากจะไปเที่ยวต่างประเทศบ้างจัง" ถ้าลองถามเขาไปว่า "ดีเลย ความฝันน่าสนใจมาก ว่าแต่...แล้วเธอลงมือทำอะไรแล้วบ้างล่ะ?"
เชื่อมั้ยครับว่าคนจำนวนมากเลย จะตอบว่า "ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็แค่อยากน่ะ" อยากแต่งเพลง แต่ไม่เคยลองแต่งเพลง ไม่เคยไปเรียนแต่งเพลง อยากเปิดร้านกาแฟ แต่ไม่เคยออกเสาะหาข้อมูลสักนิด อยากไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ไม่เคยเก็บตังค์สักบาท
แล้วมันจะเป็นจริงได้อย่างไร?
4.
บางคนมีคำถามว่า อยากลงทุน อยากทำธุรกิจ อยากทำงานไม่ประจำ อยากมีรายได้เพิ่ม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นศึกษาจากที่ไหนดี? บางคนสงสัยว่า ฉันศึกษาหนังสือตำรามาก็หลายเล่ม เข้าสัมมนามาก็หลายตังค์ แต่ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี? จริง ๆ แล้วคำตอบของสองคำถามนี้มีจุดร่วมกันครับ
ข้อแรก อยากทำนู่นนั่นนี่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นศึกษาจากที่ไหนดี? ตอบว่า "เพียบเลยครับ" ยุคนี้คลังความรู้กรุแตก ของฟรีมหาศาลอ่านดูสิบชาติก็ไม่จบ จะนั่งอยู่บ้าน อยากรู้เรื่องอะไร ก็ถาม google แล้วมันก็จะพาเราไป อยากดูคลิปความรู้ ก็มีคนสอนเต็ม youtube ดูได้ชั่วชีวิต จะลงทุนหุ้น ลุ้นคอนโด โชว์เล่นดนตรี ทำจั๊กกะแร้ขาว ปลูกมะนาวได้ทั้งปี อยากรู้เรื่องอะไร มีทุกอย่าง
อยากอ่านหนังสือฟรี ห้องสมุดดี ๆ ก็มีเยอะ เสียค่าเข้าสิบยี่สิบบาท หรืออยากเสียเงิน ร้านหนังสือก็เต็มไปหมด จะอ่านเล่มจริง เล่ม ebook จะเข้าสัมมนา ก็มีทั้งฟรีและเสียเงิน สอนกันแทบทุกวัน ไม่ต้องไปกังวลหรอกครับว่า แล้วฉันจะเริ่มจากหนังสือเล่มไหน ถึงจะดีที่สุด แล้วฉันจะเริ่มจากคอร์สไหน ถึงจะดีที่สุด ตอบว่าหนังสือที่เราเริ่มอ่าน ...เล่มนั้นแหละดีที่สุด คอร์สที่เราเริ่มไปเรียน ...คอร์สนั้นแหละดีที่สุด
ข้อสอง ศึกษาหนังสือตำรามาหลายเล่ม เข้าสัมมนามาก็หลายตังค์ แต่ยังไม่รู้จะทำอะไรต่อ? ตอบว่า ทำอะไรก็ได้ครับ ขอให้ทำสักอย่าง อย่าเก่งในตำรา แต่ไม่กล้าลงมือทำ ทำไปเลย ไอ้ที่เรียนที่ศึกษามาน่ะ ทำสักที เรียนหุ้นมาใช่มั้ย เปิดพอร์ต เล่นหุ้นไปเลย จะได้รู้ เรียนเขียนหนังสือมาใช่มั้ย เขียนสิครับ จะรออะไร รอให้เพอร์เฟ็ค สมบูรณ์แบบก่อน ค่อยลงมือ? ไม่มีหรอกครับ ชีวิตจริง ไม่มีความสมบูรณ์แบบ ...มีแต่แก้ไป ทำไป ...มีแต่ไม่ค่อยดี แล้วดีขึ้น ...มีแต่ไม่ค่อยเก่ง แล้วเก่งขึ้น
ทำในสิ่งที่เราเรียนรู้มานั่นแหละ แล้วทุกอย่างจะต่อทางให้เอง
5.
ประเด็นก็คือเราต้อง "ทำอะไรสักอย่าง" จึงจะ "เกิดอะไรสักอย่าง" นั่งฝันไปวัน ๆ มันไม่เกิดขึ้นจริงหรอก มีใครบางคนเคยทำสิ่งที่เราฝันจะทำมาแล้ว มีใครบางคนเคยเดินบนเส้นทางที่เราอยากไป ทำไมไม่ลองถามเขาว่าทำอย่างไร ไปศึกษาจากเขา ไม่ใช่เอาแต่นั่ง "อยาก" อยู่กับที่ เพราะสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ การที่เราเอาแต่นั่งฝันอยู่กับที่ แล้วมองเห็นคนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ระดับเดียวกับเรา เขาก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกที ก็คนละชั้นกันแล้ว ทั้งหมดนี้เพียงเพราะเขา "ลงมือทำ"
"ลงมือทำ" คือสิ่งที่แยกคนสำเร็จออกจากคนทั่วไป "ลงมือทำ" ไม่ได้รับประกันว่าจะสำเร็จ แต่อย่างน้อยเราก็จะก้าวหน้าไปจากจุดเดิม นักฝันมีเยอะแล้ว โลกนี้ขาดนักลงมือทำ ...ลงมือทำได้แล้วครับ.
Comments