หลายปีก่อน ผมได้ฟังการบรรยายของ "อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์" และผมได้เขียนลงไว้ในแฟนเพจ ยังประทับใจจนทุกวันนี้ จึงขอนำมาลงไว้ในเว็บไซต์อีกที คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับหลายคนครับ เริ่มได้..
1.
มีอยู่วันหนึ่ง ผมได้เข้างานสัมมนา และมีโอกาสได้นั่งแถวหน้า Super VIP เก้าอี้ตัวกลาง จึงรับพลังจากผู้บรรยายบนเวทีแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะผู้บรรยายท่านนี้ "อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์" เรียกว่าแทบยืนพูดตรงหน้าผมเลย พลังมาเต็ม ๆ อาจารย์สบถอะไรมา ...ผมรับไว้หมด (แต่ผมสัมผัสได้ว่าอาจารย์ใจดีนะครับ เห็นเด็ก ๆ คนเฒ่าคนแก่มานั่งฟังด้วย แกก็ขอโทษที่พูดจาไม่เพราะ ...ว่าแล้วแกก็สบถต่อไป ฮ่าๆๆ)
อาจารย์พูดไว้น่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังชีวิต เรื่องการอ่านคน แต่เรื่องที่ผมชอบที่สุด คือเรื่องจุดกำเนิดของอาจารย์
คนวาดรูปนั้นมีมากมาย แต่ทำไม "เฉลิมชัย" เท่านั้น...ที่เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ
อาจารย์เฉลิมชัยจะเล่าให้ฟัง
2.
อาจารย์เล่าให้ฟังว่าสมัยเด็ก พี่ชายวาดรูปเก่ง พ่อชมเชยตลอด ให้รางวัลเป็นเงิน 50 สตางค์ (ซึ่งถือว่าเยอะ ในสมัยสัก 50 ปีที่แล้ว) ตอนนั้นเด็กชายเฉลิมชัยยังเกเรเรื่อยเปื่อย ไม่ได้มีฝีมือการวาดรูปแต่อย่างใด แต่พอเห็นพ่อชมพี่ แถมได้เงินด้วย จึงเกิดความอยากได้รางวัลบ้าง
ด้วยความที่เป็นนักวางแผนตั้งแต่เล็ก (แกย้ำเรื่องนี้บ่อยมากบนเวที ว่าต้องวางแผน) เด็กชายเฉลิมชัยจึงแอบฝึกวาดรูป...โดยไม่บอกใคร ปรากฏว่า 3 เดือนผ่านไป ฝีมือดีขึ้นเยอะ เพราะแอบศึกษางานของพี่ชาย แต่ก็ยังเก็บฝึมือไว้อีกหลายเดือน...เพื่อรอเวลา
เมื่อสบโอกาส จึงท้าพ่อว่า "พ่อมีรางวัลที่ใหญ่กว่า 50 สตางค์ไหม?" ได้ยินดังนั้น พ่อจึงด่ากลับว่า "ไอ้ชาติหมา มึงวาดได้เหรอ? ถ้าวาดได้ อั๊วจะให้บาทนึงเลย"
พ่อตกหลุมพรางในที่สุด เด็กชายเฉลิมชัยหยิบรูปที่ซุ่มวาดไว้ขึ้นมาให้พ่อดู พ่อถึงกับตะลึงในฝีมือของลูกชาย ...เขาได้ 1 บาทในที่สุด
เล่าแบบนี้เหมือนทุกอย่างจะง่าย เส้นทางศิลปินคงถูกปูทางไว้แล้ว แต่อาจารย์เฉลิมชัยเล่าให้ฟังต่ออีกว่า ตั้งแต่เด็ก เป็นคนมุ่งมั่น ต้องดีให้ได้ แกบอกกับตัวเองว่า "กูจะต้องเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ให้ได้"
แต่นั่นเป็นเรื่องที่เขาคิดคนเดียว ...ไม่มีใครเห็นด้วย ขนาดแม่ยังบอกว่า "ไอ้ขี้โม้ มึงดูสารรูปตัวเองเสียบ้าง!" พอโตขึ้นอยากเรียนศิลปะ พ่อก็ไม่ให้เรียน เฉลิมชัยในวัยหนุ่มจึงประท้วงอดข้าว 2 วัน พ่อใจอ่อนในที่สุด เขาได้เรียนเพาะช่าง อาจารย์เล่าว่า พ่อด่าทุกที
"วาดโปสเตอร์หนังอะไรของมึงวะ?"
3.
แม้เป็นไอดอล ก็ย่อมมีไอดอลของตัวเอง อาจารย์เฉลิมชัยก็เช่นกัน พ้นจากพี่ชาย ไอดอลคนถัดมาก็คือ "อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี"
ครั้งหนึ่ง ตอนที่ยังไม่มีชื่อเสียง อาจารย์เฉลิมชัยถามไอดอลของเขาว่า "ผมอยากวาดรูปแล้วมีบ้านมีรถ มันต้องใช้เวลากี่ปีครับ?"
ไม่ต้องคิดนาน อาจารย์ถวัลย์ตอบทันที "ขนาดกูยังตั้ง 20 ปีกว่าจะมีบ้าน มีรถ อย่างมึงน่ะเหรอ คูณไปเลยอีกล้านเท่า!" ฟังเหมือนใจร้าย แต่นี่คือกุศโลบายแบบโหด ๆ เพราะอาจารย์ถวัลย์มองออกว่า ไอ้นี่ต้องใช้ไม้นี้ ต้องยั่วให้ไฟลุก ต้องปลุกให้บ้าคลั่ง
ได้ผล...เป็นใครก็โกรธ เมื่อเจอแบบนี้ แต่อาจารย์เฉลิมชัยควบคุมอารมณ์ได้ (นี่เป็นอีกจุดที่อาจารย์ย้ำบนเวที...ควบคุมตัวเอง) ข้างนอกสงบนิ่ง แต่ข้างในโกรธมาก ได้แต่คิดว่า...
"เดี๋ยวกูจะดีให้ดู เอาให้ดีกว่าไอดอลกู!"
4.
...แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็อย่างที่เราทราบกัน ในเวลาต่อมา อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นศิลปินแห่งชาติที่ได้รับตำแหน่งก่อนอายุ 60 ปี สร้างวัดร่องขุ่นด้วยเงินตัวเองเป็นพันล้านบาท และเป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักที่สุดในประเทศไทย
อาจารย์เฉลิมชัยบอกว่า เงินมันกระจอกมากสำหรับแก เอากระดาษ A4 มาปึกนึง แล้ววาดมั่ว ๆ ก็จะมีคนต่อแถวเพื่อซื้อรูปราคาเป็นแสน แล้วอาจารย์ก็พูดปิดท้ายประเด็นนี้ไว้ว่า "พวกมึงคงคิดว่าเพราะกูเก่ง กูเลยทำได้ ถ้าเป็นคนอื่น ทำไม่ได้หรอก"
แล้วแกก็ให้พร ผมซึ่งนั่งแถวหน้าสุด รับมาเต็ม ๆ ครับ แกบอกแบบนี้
"ไอ้เหี้ยม...พวกมึงชอบคิดแบบนี้แหละ ข้ออ้างเยอะ กูเล่าให้ฟังแล้วไงว่าไม่ได้เก่งตั้งแต่เกิด กูฝึก แล้วก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับกูเลย แต่กูเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้ากูทำไอ้ที่กูอยากทำแล้วไม่สำเร็จ กูยอมตาย! พวกมึงอย่ามากระจอก
ไอดอลมีไว้ให้ศึกษา แต่มึงต้องเก่งกว่าไอดอล! อย่าเอาแต่โทษคนนั้นคนนี้ หัดโทษตัวเองบ้าง
แล้วมึงก็แก้ไขปรับปรุงตัวเองซะ ไอ้กระจอก!"
5.
เนื่องจากสัมมนาในวันนั้นเกินเวลาไปเยอะ ทีมงานจึงต้องตัดจบ นี่ถ้ามีเวลามากกว่านี้ แกคงปล่อยพลังได้อีก...รุ่นใหญ่วัยหกสิบกว่าปี แต่มีพลังมากจริง ๆ ครับ
จากรูปราคา 1 บาท มาสู่รูปที่ประเมินค่าไม่ได้ อาจารย์เฉลิมชัยผ่านอะไรมาบ้าง? นับว่าน่าคิด ที่แน่ ๆ คงไม่ได้เข้าซอยลัด ใช้สูตรสำเร็จ แต่ต้องฝ่าฟันมากกว่าคนทั่วไปอย่างแน่นอน คนที่เป็นตำนาน ชีวิตย่อมไม่เคยธรรมดา
เรื่องนี้จึงสอนผมให้รู้ว่า ที่คนหนึ่งเก่งขึ้นมาได้ อาจเป็นพรสวรรค์ส่วนหนึ่ง แต่ความพยายามอย่างไม่ลดละ ฝึกฝน ปรับแก้ ไม่ยอมแพ้ ไม่หวั่นไหวไปตามคำคน
สิ่งเหล่านี้ต่างหาก ...ที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ.
Comments