เมื่อเริ่มทำงานใหม่ ๆ
ผมต้องส่งผลงานให้คนอื่นพิจารณา
เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง
ผมต้องพิจารณาผลงานที่คนอื่นส่งมา
นั่นทำให้ผมเข้าใจทั้งสองมุมนี้
ทั้งคนส่งงาน และคนพิจารณางาน
และทำให้ผมรู้ "เทคนิค" ที่จะทำให้คนสนใจเรา
แม้จะไม่ใช่เป็นเทคนิคอย่างเป็นทางการ
แต่อย่างน้อย ๆ ในชีวิตการทำงานที่ผ่านมา
ผมก็ใช้เทคนิคนี้ส่งจดหมายไปที่แกรมมี่
และได้งานเป็นนักแต่งเพลงในเวลาต่อมา
หรือจะเป็นการเปลี่ยนงานที่ได้เงินเดือนเพิ่ม 2 เท่า
ผมก็ใช้เทคนิคนี้ทำให้บริษัทสนใจเรียกไปสัมภาษณ์
หรือกลับกัน เมื่อต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครงาน
ผมพบว่าหลายคนไม่รู้วิธี "ทำให้น่าสนใจ"
และพลาดโอกาสในการได้งานอย่างน่าเสียดาย
บรรทัดต่อจากนี้ ผมเรียกว่า "5 อย่างที่ควรรู้ในการเขียนใบสมัครให้คนสนใจ" มีดังนี้ครับ
1. จำไว้ว่าคนพิจารณาใบสมัคร
เขาอ่านเพื่อคัดออก ไม่ใช่คัดเข้า
เพราะฉะนั้นอย่าเยิ่นเย้อ ให้เข้าประเด็นทันที
ประวัติไม่ต้องจัดเต็ม เอาแค่พอสังเขป
ไม่ต้องเล่าว่าเคยได้เข็มบำเพ็ญประโยชน์สมัยเรียน
2. อย่าอายที่จะขายความสามารถ แต่ไม่ต้องเล่าทุกความสามารถ
อย่าส่งผลงานมาเป็นกอง ๆ เผื่อให้เลือก
ขอให้เลือกงานมาชิ้นเดียวที่เจ๋งจนหยุดสายตา
(หรือถ้าไม่มี ก็เอาที่ดีที่สุด)
ลองคิดสิว่าถ้าเป็นคนพิจารณาใบสมัครบ้าง
เจอผลงานหนา ๆ เราก็ไม่อ่านหรอก
3. ข้อมูลต้องใส่ให้ครบ
และรวมอยู่ที่เดียวกัน
ถ้าส่งเป็นไฟล์ เช็คดูอีกทีว่าเปิดไฟล์ได้หรือเปล่า
ถ้าส่งเป็นอีเมล อย่าส่งเป็นลิงค์มา
อย่าส่งเป็น word ให้ทำเป็น pdf ปลอดภัยที่สุด
เพราะเปิดอ่านแล้วตัวอักษรไม่เพี้ยน
4. ถ้าต้องแนบรูปด้วย
ให้เลือกรูปที่คิดว่าดูปกติดีที่สุด ความประทับใจครั้งแรกสำคัญมาก
บางคนไม่พิถีพิถันกับรูปที่ใช้ ดูเล่นเกินไป
เรื่องพวกนี้บอกอะไรได้หลายอย่าง
ใช้รูปเรียบร้อยไว้ก่อน เป็นนโยบายที่ปลอดภัยที่สุด
5. อย่าเขียนเรียกร้องความสงสาร
เพราะมันดูเหมือนเราไม่มีทางเลือก
ที่สำคัญอย่ารอจนวันท้าย ๆ ค่อยส่ง คนคัดใบสมัครก็คือคนเหมือนกับเรา
เขามีสิทธิ์ล้า เบื่อ และอาจจะไม่อ่านเลย
คนธรรมดา โลกไม่จำ
เพราะฉะนั้นก่อนส่งใบสมัครงาน
ลองถามตัวเองอีกครั้งครับว่า
ใบสมัครงานของเรา...น่าสนใจแล้วหรือยัง?
#บนท้องฟ้ารถไม่เคยติด
Comments